สู่ภาวะสมองตายกับไหลไปหาที่ยืนใหม่

ปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการคล้าย “สมองตาย” เพราะเบื่อหน่ายการทำงาน คงไม่ต่างอาการ “สมองไหล”อยากก้าวหน้าในเส้นทางที่ตัวเองยืนอยู่

เมื่อไม่มีหลักประกันเป็นมาตรฐานยืนยันถึงความเป็นธรรมในการแต่งตั้งโยกย้าย

การ “วิ่งเต้น” เข้าหาขั้วอำนาจมีมาตั้งแต่ยุคโบราณ ทว่าต้องอยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรมที่ไม่ส่งผลต่อระบบการทำงาน

แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำลังประสบปัญหาอยู่

ปัญหาของการโยกย้ายผิดฝา ส่ง “ปลาผิดน้ำ” ทำลายการบริหารงานอย่างสิ้นเชิง

“พวกเราไม่ใช่ต้องการเรื่องเงิน แต่ต้องการความเจริญก้าวหน้า” หนุ่มนักเรียนนายร้อยตำรวจคนหนึ่งมอง แม้ตัวเองยังไม่ผ่านพิธีประดับ “ดาวบนบ่า” ยังสัมผัสได้ถึงความทุลักเทเลเส้นทางการทำงานอนาคตจากบทเรียนของบรรดารุ่นพี่

ใครลิ้นยาวสาวได้…ไปก่อน

อีกคนวิเคราะห์ไว้น่าคิด

นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 64 กับการเติบโตแบบปกติรุ่นสุดท้าย ก่อน “สึนามิ” จะพัดเอาจำนวนนักเรียนนายร้อยตำรวจบวกนักเรียนนายร้อยอบรมไหลทะลัก

รุ่น 64 ครบครั้งแรกวาระแต่งตั้งปี 2560 ขึ้นสารวัตรกัน 200 กว่านาย เพราะรองสารวัตรที่ครบมีไม่มากนัก

รอบหน้าวาระปี 2561 รุ่น 65 ครบบ้าง แต่จะมีรุ่นอบรม 2,500 ที่เป็นรองสารวัตรเมื่อวันที่ 21 ธันวาคาม 2554 ครบด้วย

คนครบจะมากกว่าจำนวนตำแหน่งว่าง เริ่มยาก

พอวาระปี 2562 รุ่น 66 จะครบ พร้อมรุ่นอบรม 7,000/1 และ 7,000/2 เริ่ม โคตรยาก

วาระปี 2563 รุ่น 67 ครบพร้อม 7,000/3 รวมพวกที่ตกค้าง

คราวนี้ยากโคตร

เมื่อต้องกลายเป็น “เข็ม”ในมหาสมุทรจะทำอย่างไรให้เบื้องบน ให้พี่ ๆ เห็นแล้ว “งม” ขึ้นมา อย่างน้อยควรต้องเปล่งประกายให้สังเกตบ้าง

กระนั้นมันก็คงจะยากกว่าที่ผ่าน ๆ  มาหลายเท่า ถึงเริ่มเห็นน้องรุ่นหลัง ๆ โอนไปหน่วยงานอื่น เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ สอบเป็นนักบิน อัยการ ผู้พิพากษา

“ถ้าครบกำหนดใช้ทุน 4 ปีแล้วก็ไปเถอะ” เขาให้ความเห็น

พร้อมบอกว่า คงต้องเปลี่ยนความคิดกันใหม่ว่า นี่ไม่ใช่สมองไหล แต่เป็นช่องทางเติบโตอีกแบบหนึ่ง และเชื่อว่า เมื่อตำรวจไปเติบในหน่วยงานอื่น พวกเขาจะคงมีจิตวิญญาณความเป็นตำรวจจากการปลูกฝังของ “สถาบันแม่”อยู่เสมอ

“โรงเรียนนายร้อยตำรวจของผมสอนมาดี” นายตำรวจอีกคนภาคภูมิใจระบายความอัดอั้น

“อดทนต่อความเจ็บใจ ไม่หวั่นไหวต่อความยากลำบาก”

RELATED ARTICLES