วงการน้ำหมึกสูญเสียนายตำรวจนักเขียนอันทรงคุณค่าไปอีกราย
พล.ต.ต.สุรศักดิ์ สุทธารมณ์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เขียนไว้อาลัยระลึกถึง พี่มนัส สัตยารักษ์ ช่างศิลป์อาวุโส โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ด้วยความเคารพรักอย่างยิ่ง
ปี 2517 ผมเป็นผู้หมวดอยู่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ยศ ร.ต.ท.
พี่มนัส ได้เข้าไปหาที่โรงเรียน และขอให้ผมแต่งกลอนให้บทหนึ่ง เพื่อเป็นบทนำของหนังสือที่กำลังเขียน ชื่อ ” อ.ตร.อันตราย “ ( อ.ตร. = อธิบดีกรมตำรวจ )
เพราะขณะนั้น มีการนำทหารมาเป็น อ.ตร. เช่น จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พลเอก ประเสริฐ รุจิรวงศ์ จอมพล ประภาส จารุเสถียร และพลเอก ประจวบ สุนทรางกูร
เป็นหนังสือที่เขียนถึงอธิบดีในขณะนั้น
นักเขียนก็เป็นตำรวจ 3 คน และยังรับราชการอยู่ทั้งหมด คือ พ.ต.ต.อนันต์ เสนาขันธ์ ร.ต.อ.มนัส สัตยารักษ์ ร.ต.อ.วราสิทธิ์ สุมล
พี่มนัสบอกว่าจะไม่เขียนก็ได้ ไม่เป็นไร เพราะหนังสือเล่มนี้อันตราย ต่อคนเขียนด้วย
ผมบอกว่าจะลองดู ไม่แน่ใจว่าจะเขียนได้หรือไม่
พอถึงกำหนด ผมเอากลอนไปส่งที่โรงพิมพ์โพธิ์สามต้นการพิมพ์ ฝั่งธนฯ
พี่มนัสกับเพื่อนๆ ตรวจแล้วบอกใช้ได้ แต่จะเอาเพียง 3 บทท้ายเท่านั้น และจะไม่ลงชื่อผม ในหนังสือ เพราะผมยังเด็ก เป็นห่วงจะเดือดร้อนไปด้วย
ผมบอกว่า แล้วแต่พี่ ผมไม่มีปัญหา เอาอย่างไรก็ได้
พิมพ์เสร็จ มีการเปิดตัวที่ โรงแรมแถวบางลำพู สวญ.ชนะสงคราม กับตำรวจหลายนาย ไปควบคุมการแถลงข่าว อัดเสียง และเก็บเอกสารทั้งหมดไป หนังสือออก ขายดี เป็นเทน้ำเทท่า ต้องพิมพ์ซ้ำ อย่างรวดเร็ว พี่ๆ ทั้งสามคน ถูกตั้งกรรมการตามคาด ผมไม่มีชื่อ จึงไม่โดน
อีก 1 ปีต่อมา พ.ต.ต.อนันต์ ได้เขียนหนังสือใหม่ขึ้นอีกเล่ม ชื่อ ” อ.ตร.ไอ้ตัวร้าย “
กลอนผมก็ได้ทำหน้าที่เป็นบทนำอีกครั้ง
กลอนที่ผมแต่ง…
กรมตำรวจถูกด่ามามากแล้ว แต่หัวแถวถึงปลายตามลำดับ
ที่ถูกด่ามันก็น่าอยู่ละครับ เพราะความระยำมันระยับในหัวใจ
เมื่อหัวมันชอนไชในเวจขี้ หางมันจะหลบหนีไปที่ไหน
หัวกำหนดหนทางของหางให้ หางรู้สึก..แต่ใจหางไม่มี
แล้วพวกที่เดือดร้อนคือใคร คุณก็รู้อยู่แก่ใจแล้วนี่
ตกที่พวกฉันทุกที ๆ ตกประชาชนคนที่เกิดเมืองไทย
“แต่งไว้ 50 ปีแล้ว กลอนยังใช้ได้ในปัจจุบัน” พล.ต.ต.สุรศักดิ์ว่าไว้
ข่าวเศร้าการจากไปของ พ.ต.อ.มนัส สัตยารักษ์ อดีตนายตำรวจและนักเขียนอาวุโส ถึงแก่กรรมแล้ว เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 มีการสวดพระอภิธรรม ที่วัดลาดบัวขาว (ราชโยธา) ตั้งแต่วันที่ 1-5 กรกฎาคม และจะมีพิธีฌาปนกิจ ในวันที่ 6 กรกฎาคม 2567 เวลา 13.00 น..
มติชนออนไลน์กระจายข้อมูลว่า พ.ต.อ.มนัสเป็นคนหาดใหญ่ จ.สงขลา จบโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่น 12 นอกจากรับราชการตำรวจแล้ว ยังมีพรสวรรค์ เรื่องขีดเขียน ตั้งแต่เรียนอยู่โรงเรียนสวนกุหลาบ รับราชการเป็น รองสารวัตร โรงพักบางเขน แล้วย้ายไปอยู่ มีนบุรี และหัวหมาก กระทั่งเผชิญชะตากรรม ถูกย้ายออกนอกหน่วย ไปอยู่อำเภอระโนด จ.สงขลา
เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้จับปากกาเขียนหนังสืออย่างจริงจัง มีผลเรื่องสั้นที่มากกว่า 100 เรื่อง หนังสือเล่มแรกชื่อ เขียนด้วยปืน ส่วนผลงานอื่น อาทิ หนังรวมเรื่องสั้น แปดแฉก เป็นต้น
พ.ต.อ.มนัส เคยให้สัมภาษณ์นิตยสาร COP’S ยอมรับว่า เรื่องสั้นที่เขียน 60 เปอร์เซ็นต์มาจากชีวิตจริงที่โรงพักภูธรจนมีชื่อเสียงในวงการ ผิดกับอาชีพรับราชการตำรวจที่ไม่รุ่งโรจน์นัก เกษียณอายุราชการ แค่ตำแหน่งรองผู้บังคับการ กองทะเบียนประวัติอาชญากร
“ตอนเป็นรองผู้กำกับการข่าว ของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ไปช่วยราชการสำนักงาน พล.ต.อ.พจน์ บุณยะจินดา สมัยนั้นเป็น ผู้บังคับการกองสารนิเทศ กรมตำรวจ นายคงหมั่นไส้ เลยย้ายไปเป็น รองผู้กำกับการสุนัขตำรวจ โชคดีอยู่ใกล้ หนังสือพิมพ์มติชน ถือโอกาสขับรถ ไปเที่ยวหาเพื่อนเก่าหลายๆ เขาก็ยุ ให้กลับมาเขียนหนังสืออีก”
พ.ต.อ.มนัสระบุ และว่า เริ่มเขียนเรื่องสั้นจริงจัง ตอนอยู่กองปราบปราม เขียนเรื่องราวของตำรวจ ออกแนวตลก แฮปปี้เอนดิ้ง ส่งหนังสือชาวกรุง เขียนเรื่องแรกลงเลย ส่งไปก็ได้ลงทุกครั้ง กระทั่ง มีชื่อติดในทำเนียบ รุ่นเดียวกับ วสิษฐ เดชกุญชร ต่อมาลงสยามรัฐ โชคดีที่มีคนชอบ ทั้ง รงค์ วงษ์สวรรค์ และ นพพร บุณยฤทธิ์ บรรณาธิการนิตยสารชาวกรุง
พ.ต.อ.มนัสเล่าว่า ตอนรับราชการตำรวจ ทะเลาะกับผู้บังคับบัญชาบ่อย เช่น หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2416 ไม่ชอบรัฐบาลที่เอาทหารมาเป็ อธิบดีกรมตำรวจ เลยเขียนลงในสยามรัฐรายวัน ใช้ชื่อ อ.ตร.อันตราย เป็นข้อเขียนที่ใส่ชื่อใส่ยศตนเองด้วย เพราะผิดหวังมากที่ทหารออกมาคุมตำรวจก็เขียนไปเหมือนกับเป็นแถลงการณ์
ทำนองว่า ใครจะไปเห็นด้วย แบบนี้มันเป็นประชาธิปไตยอย่างไร พอเขียนเสร็จได้ลง ปรากฏว่าฮือฮามาก
หลังเกษียณอายุราชการ พ.ต.อ.มนัสเขียนคอลัมน์ “กาแฟโบราณ” ในมติชนสุดสัปดาห์ อยู่นานหลายปี มีผลงานเรื่องสั้น สุดท้าย “ผมเป็นคนไข้ชั้น 14” ตีพิมพ์ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23-29 กุมภาพันธ์ 2567 และสารคดีโบราณ “เฝือกอ่อนนำโชค” ตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24-30 พฤษภาคม 2567
อ่านเนื้อหาฉบับเต็มเกี่ยวกับประวัติเส้นทางชีวิตตำรวจยอดนักเขียนอย่าง พ.ต.อ.มนัส สัตยารักษ์ ได้ที่ www.cops-magazine.com/topic/4163/