ชูโมเดลตั้งแม่ทัพสีกากี

ทำไมแผนปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ที่มี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธานผ่าตัดใหญ่องค์กรสีกากี กลับถูกตำหนิจาก นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะประธรานคณะกรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ

หาว่า ยังมีความเกรงใจตำรวจอยู่

จำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขใหม่

ทั้งที่โมเดลของ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ พยายามเน้นไปถึงระบบการแต่งตั้งโยกย้าย โดยเฉพาะตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แม่ทัพใหญ่

คนเก่าต้องเสนอชื่อผู้ที่จะเหมาะสม 1-3 รายให้ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจเป็นผู้พิจารณา

องค์ประกอบของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม กำหนดให้ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นั่งเป็นประธาน ก่อนนำสนอรายชื่อผู้ที่เหมาะสมเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนต่อไปให้นายกรัฐมนตรีเห็นชอบ

 อีกทั้งยังลดบทบาทของนายกรัฐมนตรีในการแต่งตั้งแยกย้าย

ปรับปรุงใหม่กระจายอำนาจไปยังกองบัญชาการต่าง ๆ ทำหน้าที่พิจารณาแต่งตั้ง

พล.อ.บุญสร้างให้เหตุผลว่า คิดตามแนวพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ว่า ในสังคมคงมีคนดีทั้งหมดไม่ได้ เราทำให้คนในสังคมดีหมดไม่ได้ เพียงแต่เราต้องสนับสนุนคนดีให้เป็นผู้นำ ให้คนดีมีบทบาทสำคัญในสังคมแล้วสังคมจะดีขึ้น

วิธีลัดที่สุดในการดูแลสังคมให้สงบเรียบร้อย คือ ตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ดีที่สุดแล้วท่านจะมีบทบาทสูงที่สุดในการแต่งตั้งผู้ใต้บังคับบัญชาระดับถัดลงมา คล้ายกับรูปแบบของกองทัพ” พล.อ.บุญสร้างว่า

ความมุ่งเน้นการแต่งตั้งตำรวจที่เป็นธรรมตามแนวทางปฏิรูปด้านการบริหารงานบุคคลตำรวจของคณะกรรมการชุดเดียวกัน ระบุชัดว่า บทบาทและหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ หรือ ก.ต.ช. มีอำนาจหน้าที่เฉาพะด้านการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเท่านั้น

ตัดอำนาจหน้าที่ในการคัดเลือกแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

มีคณะกรรมการประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นรองประธาน กรรมการโดยตำแหน่งมี ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 4 คน สรรหาโดยประธาน  รองประธาน และคณะกรรมการ

ขณะที่ องค์ประกอบของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. ทำหน้าที่ คัดเลือก ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างอิสระ ไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของผู้หนึ่งผู้ใด ประกอบด้วย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานะ กรรมการโดยตำแหน่ง มี เลขาธิการสำนักงานข้าราชการพลเรือน จเรตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ส่วนคณะกรรมการข้าราชการตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิ ต้องเคยรับราชการตำรวจในตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือเทียบเท่าขึ้นไป แต่พ้นจากตำแหน่งไปแล้วเกิน 1 ปี ต้องไม่กลับเข้ารับราชการตำรวจ

ให้ข้าราชการตำรวจตั้งแต่ผู้กำกับการหรือตำแหน่งเทียบเท่าขึ้นไปเป็นผู้เลือกจำนวน 6 คน และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่เป็นและไม่เคยเป็นตำรวจ 2 คน ได้รับการสรรหาโดยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการคัดเลือก

การปรับปรุงขั้นตอนการแต่งตั้ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงให้มีการถ่วงดุลกันระหว่าง 3 ฝ่าย คือ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ และนายกรัฐมนตรี

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนเก่าต้องเสนอรายชื่อตำรวจที่ดำรงตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติ หรือรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ไม่เกิน 3 คน แต่ไม่น้อยกว่า 2 คน พร้อมจัดเรียงลำดับเสนอคณะกรรมการข้าราชการตำรวจคัดเลือกเพียงคนเดียว

ก่อนให้นายกรัฐมนตรีพิจารณานำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกะหม่อมแต่งตั้ง

หากนายกรัฐมนตรีไม่เห็นชอบรายชื่อตามที่คณะกรรมการข้าราชการตำรวจเสนอ ให้ส่งกลับพร้อมเหตุผลไปยังคณะกรรมการข้าราชการตำรวจภายใย 7 วัน เพื่อให้ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจพิจารณาใหม่จากรายชื่อที่เหลือภายใน 7 วัน

โมเดลสำคัญนี้จะเป็นหมันหรือไม่จับตาดูกันต่อไป

RELATED ARTICLES