เมื่อเอาอัตตามาผ่าองค์กรตำรวจ

ชะตากรรมขององค์กรตำรวจกำลังอยู่ในกำมือของ อำนาจการเมือง ว่าด้วยเรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

ที่ต้องการยำใหญ่ใส่อคติอีกระลอก

รื้อร่างคณะกรรมการของ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ คิด ชำแหละใหม่ ตามหลักการของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ มือกฎหมายระดับประเทศ

ประชุมนัดแรกเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2561 ไม่ได้พิจารณาแก้ไข พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พุทธศักราช 2547 เฉพาะบางประเด็นตามที่คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจเสนอมาเท่านั้น แต่อาจพิจารณา ยกร่างขึ้นใหม่ทั้งฉบับ รวมถึงแก้ไขกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

อ้างเพื่อตอบโจทย์ความทุกข์ของประชาชนที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ความคาดหวังที่ต้องการจากตำรวจ และความทุกข์ตำรวจที่ไม่อาจใช้เพียงความรู้ความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่เติบโตไปตามสายงานได้อย่างปกติ รวมถึงความไม่พร้อมหรือขาดแคลนในด้านต่างๆ

ผ่าน 6 กรอบตามแนวคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  ประกอบด้วย

1.โครงสร้างทั้งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และการถ่ายโอนภารกิจที่ไม่ใช่งานตำรวจแท้ออกไปให้หน่วยงานอื่นด้วย

2.อำนาจสอบสวนควรอยู่กับตำรวจเต็มเหมือนเดิม หรือควรมีหน่วยงานอื่นมาร่วมในกระบวนการด้วย

3.การแต่งตั้งโยกย้าย รวมถึงการแต่งตั้ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจะต้องกำหนดกฎเกณฑ์การพิจารณาไว้ให้ชัดเจนในกฎหมายหลัก ไม่ใช่อยู่แต่ในกฎหมายลำดับรอง หรืออนุบัญญัติเท่านั้น โดยจะต้องระบุให้ชัดเจนว่าจะให้มาจากหลักอาวุโสเป็นสัดส่วนเท่าไร รวมทั้งจะต้องบัญญัติกฎเกณฑ์ของการคิดคำนวณหลักอาวุโสที่มิใช่อาศัยเพียงเกณฑ์อายุไว้ให้ชัดเจนในกฎหมายหลักด้วย

4.ความพร้อมในการทำหน้าที่ของตำรวจ ยังมีความขาดแคลนงบประมาณและอุปกรณ์ที่จำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่อยู่หรือไม่เพียงใด

5.ระบบนิติวิทยาศาสตร์ ควรขึ้นตรงต่อตำรวจหรือเป็นอิสระในระดับหนึ่ง และควรมีกี่หน่วย โดยพิจารณาถึงโอกาสที่จะได้รับความเป็นธรรมสูงสุดของประชาชน

6.สวัสดิการ หมายรวมถึงระบบร้องเรียน ร้องทุกข์ภายในของตำรวจเองด้วย โดยจะพิจารณาจากข้อเสนอขององค์กรและหน่วยงานต่างๆ ที่ได้ศึกษาและเสนอไว้แล้วประกอบด้วย

ขณะที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้เหตุผลที่ต้องมาตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีกชุด เพราะคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจชุดเดิมติดเงื่อนไขตำรวจครึ่งหนึ่ง คนนอกครึ่งหนึ่ง ทำให้ความเห็นยันกันอยู่ แต่เมื่อถึงชั้นนี้แล้วจะสลายขั้วทั้งหมด รู้หมดแล้วว่า แต่ละฝ่ายคิดอย่างไร ความเห็นที่เคยยันกันไว้จะไม่เป็นปัญหา และกฎหมายฉบับนี้เมื่อคณะกรรมการไปสภาจะเป็นผู้ชี้ขาด

ตั้งต้นโดยนำปัญหาของทั้งประชาชนและตำรวจมาพิจารณา

“เช่นตำรวจทุกข์เรื่องสวัสดิการ กำลังพล การแต่งตั้งโยกย้าย การซื้อขายตำแหน่ง ส่วนชาวบ้านขึ้นโรงพักไม่ได้รับความสะดวก มีการเลือกปฏิบัติ เราจะนำตรงนี้มาแก้ไข เราไม่แบ่งว่าจะเอาเรื่องตำรวจหรือประชาชนมาก่อน แต่จะแก้ไปพร้อมกัน” นายวิษณุกล่าว

ท่ามกลางบรรดานักวิชาการและคนนอกองค์กรร่วมผสมโรงแสดงความคิดเห็นที่ส่วนใหญ่เต็มไปด้วย “อัตตา” และ “อคติ”

ตำหนิและทับถมมากกว่าจะชื่นชมความดีขององค์กรตำรวจส่วนใหญ่

ทั้งที่เวลาเดือดร้อนทีไรจะเรียกใช้บริการตำรวจก่อนเสมอ

RELATED ARTICLES