ฉายาประจำปี

 

สมาคมผู้สื่อข่าวและช่างภาพอาชญากรรมแห่งประเทศไทยตั้งฉายาตำรวจประจำปี 2567

สะท้อนการทำงานของตำรวจตามธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อกันทุกปี 

ปีนี้คัดเลือกเหลือแค่ 10 นาย

ประกอบด้วย  พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์  ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ฉายา “กัปตันเรือกู้” หลังการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำองค์กรในวันที่ประชาชนสิ้นหวังกับตำรวจ ต้องเผชิญกับมรสุมวิกฤติศรัทธาต่อประชาชน จำเป็นต้อง “กอบกู้ความศรัทธา” ความเชื่อมัน ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนกลับคืนมาภายใต้วิสัยทัศน์ “เป็นตำรวจมืออาชีพ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส ให้เกิดความผาสุกแก่ประชาชน” มอบหัวหน้าหน่วยทุกคนเป็น “อินฟลูเอนเซอร์” ด้วยตัวเอง ให้เป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริงเป็นที่มาของฉายา “กัปตันเรือกู้”

พล.ต.ท.อัคราเดช พิมลศรี ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รับฉายา “สุมาอ้อยอดกุนซือ” นายตำรวจฝีมือดีทำงานเชิงรุกเก่งทั้ง บู๊และบุ๋น ด้วยความสามารถบวกกับการทำงานเชิงรุก ยอมหักไม่ยอมงอ ทำให้ได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชาให้คุมหน้างานภารกิจสางคดีสำคัญ เปรียบเสมือน“สุมาอี้”จากเรื่องสามก๊ก วางแผนกลยุทธ์ให้ “ขุนพลเผด็จศึก” สื่อมวลชนได้มอบฉายา “สุมาอ้อยอดกุนซือ ”

พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติฉายา “มือปราบหน้านิ่ง” ด้วยบุคลิกที่สุขุมนุ่มลึก ใบหน้าที่ไม่มีการยิ้มให้เห็น น้อยคนนักที่จะเห็นรอยยิ้มของเขา อีกนายตำรวจหนุ่มที่มีไฟแรง มากฝีมือได้รับมอบหมายงานด้านปราบปราม โดยเฉพาะ ยาเสพติด-เด็กแว้น-น้ำมันเถื่อน บ่อยครั้งมีการแถลงข่าวเจ้าตัวไม่เคยยิ้มเป็นที่มาของฉายา “มือปราบหน้านิ่ง”

พล.ต.ท.สยาม บุญสม ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลฉายา “สยามเนรมิต” เป็น “ม้ามืด” ในการแต่งตั้งนายพลใหญ่ที่เรียกว่าพลิกโผ ”ล้มกระดานเซียน” ดุจดัง “เนรมิต” มาเลยว่าได้ เนื่องจากกรุงเทพมหานครมีคดีอาชญากรรมค่อนข้างสูง ผู้ใหญ่หลายท่าน  อยากให้มาคุมเมืองหลวงเพื่อที่จะให้คดีอาชญากรรมลดลง เมื่อส่องดูประวัติถือเป็นนายตำรวจที่มีความรู้ความสามารถ ผ่านการทำงานมากมาย อีกทั้งเคยเป็นผู้บังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904  คนแรก เคยดำรงตำแหน่งเป็น ผู้บังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์  สมัยที่ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลยังได้รับมอบหมายหน้างานสำคัญ ด้านกิจการพิเศษไม่ขาดตกบกพร่อง ไม่แปลกที่จะได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งแม่ทัพเมืองหลวงจนได้รับฉายา “สยาม เนรมิต”

พล.ต.ท.ไตรรงค์  ผิวพรรณ ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ฉายา “ไซเบอร์อรรถจัดเต็ม” ด้วยความที่มีชื่อเล่นว่า “อรรถ” หลังเข้ามารับตำแหน่ง “แม่ทัพไซเบอร์” ได้มอบนโยบายแก่กำลังพล ชูวิสัยทัศน์ต้องเป็นที่พึ่งของประชาชน-ลดภัยออนไลน์ ขณะเดียวกันได้งัดคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติคุมพฤติกรรมลงดาบฟันวินัย-อาญา “ตำรวจนักบิน” ที่มีพฤติกรรมนอกลู่นอกทางแอบตีกินจับนอกเขตจนเสียชื่อหน่วย   ขันนอตขุนพลไซเบอร์ต้องมีผลการปฏิบัติทุกวัน ลั่นมีเวลาแค่ 10 เดือนคุมทัพ ตั้งเป้า “3 แสน” คดีออนไลน์ที่ค้างต้องเคลียร์ให้จบ ทำเดินหน้าปราบปรามอาชญากรรมทางออนไลน์ มีงานออกแทบทุกวัน แต่ละคดีจัดหนักจัดเต็ม กระทั่งได้ฉายา “ไซเบอร์อรรถจัดเต็ม”

พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ฉายา “นพรอได้” เป็นนายตำรวจผู้มากด้วยฝีไม้ลายมือขึ้นชื่อเรื่องงานสืบสวนระดับบรมอาจารย์ บ่อยครั้งมักจะถูกดึงตัวมาอยู่ในชุดทีมคลี่คลายคดีสำคัญของสำนักงานตำรวจแห่งชาติหลายยุคหลายสมัย ผลงานที่ประจักษ์ต่อสังคมและสายตาประชาชน ทำให้ถูกจับตาจากสื่อมวลชนสายตำรวจว่า ในการแต่งตั้งวาระนายพลใหญ่ เจ้าตัวมีสิทธิ์ที่จะถูกเสนอชื่อขึ้นเป็น ผู้บัญชาการ ติดยศ  “พล.ต.ท.”  สุดท้ายแม้คุณสมบัติจะครบถ้วนกลับไม่ได้รับการเสนอชื่อเพราะถูกขีดเส้นอาวุโส 4 ปี พูดตามประสาชาวบ้านถูก “ชักบันไดหนี” จนชื่อหลุดกระดาน  เจ้าตัวยิ้มรับ “ยอมรับกติกา” ก้มหน้าทำงาน เป็นที่มาของฉายา  “นพรอได้”

พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง  ฉายา “เม่นรับจบ” นายพลหนุ่มชื่อเล่นว่า “เม่น” เป็นนายตำรวจฝีมือดีที่ทำงานเชิงรุกจนได้รับความไว้วางใจดูแลงานสืบสวนของหน่วยงาน ตัวแทนออกหน้าในการแถลงข่าวเผยแพร่การทำงานปรากฏตัวเป็นหน้าเป็นตาให้หน่วย ด้วยบุคลิกที่เข้าถึงง่าย วางตัวเป็นกันเองทำให้เป็นที่รักของสื่อมวลชน เวลาที่นักข่าวจะสอบถามความคืบหน้าในคดีต่างๆที่เกิดขึ้นจะนึกถึงแต่ “รองเม่น” ที่จะเป็นผู้ให้รายละเอียดและชี้แจงต่างๆทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเละสื่อมวลชน เรียกว่าครบถ้วนในคนเดียว  เหมาะฉายา “เม่นรับจบ”

พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ฉายา “ อินฟลูฯ เต่ากัดไม่ปล่อย” รู้จักกันดีว่า  “บิ๊กเต่า” เป็นนายตำรวจที่ไม่เคยเกรงกลัวอิทธิพลอำนาจมืดใดๆ สร้างชื่อให้เป็นที่รู้จักจากการเป็นตำรวจที่ปราบปรามกลุ่มผู้มีอิทธิพล ข้าราชการฉ้อฉล คดีใดที่อยู่ในมือ “รองเต่า” มักไม่ปล่อยผ่านไปง่ายๆทำให้สุดซอย ขยายผลทุกมิติ ด้วยภาพลักษณ์สไตล์การทำงานที่ถึงลูกถึงคน กล้าได้กล้าเสีย มุทะลุดุดัน สื่อมวลชนให้ฉายา “ อินฟลูฯ เต่ากัดไม่ปล่อย”

พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนนครบาล ฉายา “กุนซือมือฉมัง” หนึ่งในลูกหม้อนครบาล ด้วยฝีมือระดับตำนานนักสืบ ผ่านการฝึกฝนตำราสืบสวนมาอย่างมากมาย มีผลงานโดดเด่นด้านการสืบสวนเทียบชั้นครู  ถ่ายทอดประสบการณ์บนเส้นทางนักสืบให้กับนักสืบรุ่นหลัง  ผ่านโครงการ “หลักสูตรสืบสวนคดีอาญา” ปลุกปั้นนักสืบรุ่นใหม่ช่วยงานสืบสวนนครบาล ปราบอาชญากรรม ในช่วงปีที่ผ่านมาติดตามจับกุมตามหมายจับได้ 2,753 หมาย  คดีสำคัญที่เกิดขึ้นสดๆอี ก 446 คดี ในการจับกุมคนร้ายต่างๆ “ผู้การจ๋อ” จะคอยให้คำแนะนำทีมงานเป็นกุนซือที่คอยวางแผนและไม่เคยพลาด  เป็นที่มาของฉายา  “กุนซือมือฉมัง”

ท้ายสุด พ.ต.ต.ธัญพีรสิษฐ์  จุลพิภพ สารวัตรกองกำกับการสืบสวน 3 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล ฉายา “อย่าเล่นกับระบบแจ๊ะ” ชาวบ้านรู้จักเขาดีว่า  “สารวัตรแจ๊ะ”  นายตำรวจดาวรุ่งตัวตึงของกองบังคับการสืบสวนนครบาล นรต.รุ่น 69 ศิษย์ก้นกุฏิ “ผู้การจ๋อ” ผ่านประสบการณ์ร่วมทำคดีสำคัญมามากมาย บุคลิกโดดเด่นสะดุดตา สวมหมวกไหมพรม ใส่แว่นตา ปิดแมสก์ กางเกงยีนส์ทรงกระบอก ขาดๆ ทับด้วยแจ็กเกต IDMB   ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความทะมัดทะแมง อ่านหมายจับอย่างฉะฉาน แฝงไปด้วยความสุภาพ   อีกทั้งมีคำพูดติดหูประจำตัว  “อย่าเล่นกับระบบ”  และด้วยคาแร็กเตอร์ที่เด่นชัดนี่เอง ทำให้โด่งดังรันทุกวงการ ถึงขนาดที่ว่า ดาวตลกหนุ่ม “แจ๊ส ชวนชื่น” หยิบเอาวลีฮิตกระฉ่อนโลกออนไลน์ของนายตำรวจหนุ่มมาดเซอร์ไปตั้งชื่อเพลง เป็นที่มาของฉายา  “อย่าเล่นกับระบบแจ๊ะ”

RELATED ARTICLES