ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักตำรวจแห่งชาติ
นับเป็นเรื่องท้าทายของ พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติกับภารกิจกวาดล้างมิจฉาชีพบนโลกออนไลน์ให้สิ้นซากตามนโยบาย “นายหญิง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
เนื่องจากเป็นปัญหาระดับชาติ มีผู้ตกเป็นเหยื่อรายวันทั่วทุกสารทิศมูลค่าความเสียหายหลายหมื่นล้านบาท
หนักอกและเรื้อรังกวนใจมานานมากสุด คือ การอาละวาดของ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์”
พล.ต.อ.ปัญญา มาเม่น อดีตจเรตำรวจแห่งชาติแสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวด้วยเพราะมีประสบการณ์ปราบปรามขบวนการต้มตุ๋นข้ามชาติเป็นคนแรกสมัยรับราชการตำรวจ
เจ้าตัวบอกว่า เรื่องแก๊งคอลเซ็นเตอร์เป็นอาชญากรรมข้ามชาติประเภทหนึ่ง จัดตั้งองค์กรแบบแบ่งหน้าที่กันทำ มีเจ้าของคอลเซ็นเตอร์เป็นนายทุนอาจเป็นคนจีน หรือไต้หวัน หรือชาติอื่นๆ และจัดตั้งศูนย์โทรศัพท์สำหรับเอาคนที่พูดหรือสื่อสารภาษาเดียวกับเหยื่อไปตั้งไว้อีกประเทศหนึ่ง
เพื่อง่ายแก่การควบคุมและยากต่อการจับกุม
เป้าหมายขององค์กรนี้เพื่อเอาเงินออกจากแบงก์หรือสถาบันการเงิน หลอกให้เหยื่อคือ ผู้มีบัญชีเงินไว้กับธนาคารช่วยเคลื่อนย้ายเงิน หรือบอกรหัสเคลื่อนย้ายข้อมูลในแบงก์นั้น
“ การต่อสู้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์เราต้องเด็ดหัวนายทุน ทำลายที่ตั้งศูนย์โทรศัพท์ หยุดขบวนการนำพาคนไปโทรศัพท์ในศูนย์ หยุดขบวนการที่จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงบัญชีธนาคารของเหยื่อและบัญชีม้าบัญชีแมวทั้งหลาย” พล.ต.อ.ปัญญามองแบบนั้น
อดีตจเรตำรวจแห่งชาติระบุอีกว่า ผลการต่อสู้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เท่าที่รับทราบข้อมูลเป็นเพียงพยายามปิดบัญชีม้า/แมว เจ้าหน้าที่รัฐร่วมมือกับธนาคาร แต่จริงๆ แล้วธนาคารจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้โดยตรงเ พราะเป็นผู้ครอบครองเงินในบัญชีต่างๆของเหยื่อจะโดยเจตนา หรือน่าจะควรทราบว่า การเปิดบัญชีม้าแมวแบบผิดปกติจะเป็นส่วนร่วมในอาชญากรรมข้ามชาติน่าจะมีส่วนรับผิด(แพ่งหรืออาญา)หรือรับชอบ(ค่าธรรมเนียมเปิดบัญชีหรือการโอน)
พล.ต.อ.ปัญญาชี้ว่า แต่การดำเนินการในส่วนนี้ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมายหรือกฎระเบียบให้แบงก์หรือธนาคารเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์เคลื่อนย้ายเงินของ เหยื่อไป
รวมทั้งการดำเนินการในการสืบสวนสอบสวนตามพฤติการณ์ที่เป็นจริง ตั้งเรื่องว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์เป็นอาชญากรข้ามชาติที่มุ่งหมายจะเอาเงินออกจากธนาคารโดยหลอกลวงให้เหยื่อ คือ “ผู้เปิดบัญชี” ดังนั้นธนาคารต้องเป็นคนช่วยดำเนินการ
“การสืบสวนสอบสวนในแนวทางนี้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบน่าจะเป็นท่านอัยการสูงสุดเพราะความผิดบางส่วนทำนอกราชอาณาจักรไทย หรือถ้าเป็นการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติก็น่าจะเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ”
อีกข้อสังเกต พล.ต.อ.ปัญญาว่า ผลการปราบปรามที่ผ่านมายังไม่สามารถนำตัวนายทุน หรือเจ้าของแก๊งคอลเซ็นเตอร์มาดำเนินคดีได้ ที่เห็นๆอยู่ปัจจุบันคือ ความพยายามที่จะไปตัดน้ำตัดไฟไปตัดสายโทรศัพท์ไปตัดสายอินเตอร์เน็ต
ขณะเดียวกันหน่วยที่ใช้ในการดำเนินการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ก็ใช้หน่วยตั้งใหม่ “ขนาดจิ๋ว” อาจขาดประสบการณ์ในการปราบปราม เหมือนเอา “มดแดง มดดำ” ไปกัดกับ “ควาย” ที่หนังหนาล้มยาก
“จากสภาพที่เห็น ข้าพเจ้าเคยร่วมในการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ทั้งในไทย และนำทีมไปร่วมกับตำรวจจีนและประเทศอื่นๆ เห็นว่า ผลการต่อสู้น่าจะยังทำให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์มีฤทธิ์เดชเพิ่มขึ้นมา ก่อกรรมทำเข็นกับคนไทยให้หวั่นไหวอยู่ร่ำไป”
เขาบอกว่าสิ่งที่น่าทำ เพิ่มเติมคือ
(1)ป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐไปรับผลประโยชน์ หรือส่วยจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์
(2) ช่วยประเทศจีนปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ตั้งอยู่ในไทยแล้วไปหลอกคนจีนในประเทศจีน ให้ ตำรวจจีนนำผู้ต้องหาเหล่านี้ไปขยายผลให้ถึงนายทุน หรือเจ้าของแก๊งคอลเซ็นเตอร์น่าจะเป็นเจ้าของเดียวกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ตั้งในประเทศอื่นมาหลอกคนไทย
(3) นำธนาคารที่ครอบครองเงินของเหยื่อในบัญชีที่เปิดไว้มาเป็นผู้เสียหายในคดีอาชญากรรมข้ามชาติแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ธนาคารจะพัฒนาระบบ AI หยุดยั้งการเคลื่อนเงินหรือข้อมูลที่ผิดปกติได้ หรือนำระบบหน่วงเวลาต่างๆมายุติการนำเงินออกจากธนาคารได้ เหมือนเช่นการที่ธนาคารเป็นผู้เสียหายในคดีแก๊งลักบัตรเครดิตหรือปลอมบัตรเครดิต ธนาคารตั้งศูนย์ตรวจสอบการใช้บัตร เมื่อเห็นว่า ผิดปกติก็จะโทรไปถามผู้ถือบัตร พอรู้เหตุธนาคารก็ไม่จ่ายเงิน โจรไม่ได้เงิน สิ่งที่โจรลงทุนไปก็เสียเปล่าสุดท้ายยอมแพ้
(4) สำหรับตำรวจน่าจะให้กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางเป็นเจ้าภาพในการปราบปราม เพราะมีหน่วยที่มีประสบการณ์ มีหน่วยกำลัง ส่วนหน่วยอื่นๆ เป็นหน่วยช่วยสนับสนุน เหมือนเอาช้างไปชนกับควาย เอามดมาช่วยช้าง
นี่คือ มุมมองของตำนานมือปราบอาจเกิดประโยชน์และช่วยทำให้เรายุติปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงรบกวนคนไทยได้
ขออภัยที่สื่อสารแบบบ้าน ๆครับ