ท้ายที่สุดอำนาจอยู่ในมือใคร
พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติเหมือนกระดาษ “ไร้คุณค่า” ถึงเวลาไม่อาจแก้ปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายบ่อเกิดแห่งการทำลายขวัญกำลังใจผู้พิทักษ์สันติราษฎร์
แม่ทัพแต่ละหน่วยไม่อาจช่วยคนทำงาน เพราะเจอผู้กุมอำนาจที่ใหญ่กว่า “โยนตั๋ว” มาให้จัดสรรเก้าอี้ตามอำเภอใจ
บังคับ “หยิบคนเข้า เอาคนออก”
วังวนของความโซมมหมักหมมเป็น “พิษร้าย” ทำหลายคนหัวใจสลาย
ร้อยตำรวจเอกคนหนึ่งระบายความรู้สึกสะท้อนความจริง
ตั้งแต่จบโรงเรียนนายร้อยตำรวจมา งานแรกที่ทำคืองานสอบสวน ยิ่งทำยิ่งรู้สึกว่ามันสนุก ตั้งแต่นั้นมาไม่เคยคิดที่จะย้ายไปทำงานสายอื่นอีก
นอกจากสายงานสอบสวน เพราะชอบงานสอบสวน
ชอบที่จะช่วยเหลือคน ชอบให้คนที่มันกระทำความผิดได้รับโทษ
คดีมากมายที่ทำให้ชาวบ้านมีรอยยิ้ม เช่น นำทองคำ 10 บาทมาคืนชาวบ้าน นำสร้อยข้อมือเพชร ราคาหลักแสน มาคืนให้ชาวบ้าน
ระหว่างที่ทำงานยังศึกษาหาความรู้เพื่อนำมาพัฒนาองค์กร ไม่ว่าจะเรียนเนติบัณฑิตยสภา เรียนปริญญาโทนิติศาสตร์
สอบผ่านด้วยความสามารถของตัวเอง และนำความรู้มาช่วยเหลือองค์กร ช่วยเหลือชาวบ้าน ทั้งสั่งฟ้องและสั่งไม่ฟ้อง
แต่การขอขึ้นตำแหน่งสารวัตรสอบสวน
ปีแรก……เขียนคำร้องไป…….. ไม่มีชื่อ
ปีที่สอง …..เขียนคำร้องไป……..ไม่มีชื่อ
ปีที่สาม ……เขียนคำร้องไป …ผู้บังคับการเสนอ ..ภาคหยิบออก
ฃแสดงว่าองค์กรนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับบุคลากรที่พยายามผลักดันตัวเองให้ประสบความสำเร็จ
“จากนี้อย่าพูดว่าจบนักเรียนนายร้อยตำรวจได้ขึ้นทุกคน เส้นทางนี้คงไม่เหมาะกับคนอย่างผม” เจ้าตัวว่า
ขอบคุณท่านผู้บังคับการจังหวัดที่เสนอชื่อขึ้นเป็นสารวัตรสอบสวน
“แม้ปลายทางจะถูกหยิบชื่อออก บุญคุณนี้ผมไม่มีวันลืม” เขาบอกและยินดีกับทุกท่านที่ได้เลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้น
อีกราย พันตำรวจโทถึงแม้จะมีความรู้ความสามารถ ผลงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ เป็นที่ยอมรับจากองค์กรตัวเอง และหน่วยงานรอบข้าง
เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้กับคนอีกมากมาย
แต่องค์กรกลับ “ไม่ผลักดัน” ให้คนเก่งคนดี มีอำนาจหน้าที่ เพื่อที่จะใช้ทำงานรับใช้ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ
“เบื้องต้น ผมขอปฏิเสธหน้าที่การสอน การบรรยายถ่ายทอดความรู้ทุกหลักสูตรนะครับ”
เขาให้เหตุผลคงไม่มีความรู้ความสามารถมากพอ