วิกฤติพนักงานสอบสวน
พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ กรรมการข้าราชการตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิมองข่าวใหญ่ที่ดูเหมือนจะแยกกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว สะท้อนถึงปัญหาเดียวกันของตำรวจไทย
ข่าวแรก คือ ข้อเสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้การออกหมายเรียก หมายค้น หรือหมายจับ ต้องผ่านความเห็นชอบจากอัยการก่อนเสนอศาล ให้อัยการเข้ามาควบคุมการสอบสวน และในส่วนภูมิภาคให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีสิทธิให้ความเห็นแย้งเมื่ออัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง
ข่าวที่สอง คือ ปัญหาพนักงานสอบสวนขาดแคลนในระดับวิกฤติ งานล้นมือ จนทำให้เกิดภาวะเครียด บางรายป่วย บางรายหมดแรงจูงใจในการทำงาน จนสังคมเริ่มตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรม
พล.ต.อ.เอกบอกว่า ความจริงแล้ว สองข่าวนี้ คือ เรื่องเดียวกัน และมีจุดเริ่มต้นเดียวกันจากระบบสอบสวนที่กำลังล่มสลาย
ย้อนกลับไปในปี 2559 รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีคำสั่งยกเลิก “แท่งพนักงานสอบสวน” ทำให้พนักงานสอบสวนไม่มีเส้นทางความก้าวหน้าในสายงานของตัวเอง
ทั้งที่ต้องรับผิดชอบงานหนักที่สุดในระบบตำรวจ
หลายคนย้ายไปหน่วยอื่นที่มีโอกาสเติบโตมากกว่า เช่น สายสืบสวน ปราบปราม ตรวจคนเข้าเมือง หรือท่องเที่ยว
สถานการณ์ยิ่งเลวลงเพิ่มขึ้น เมื่อมีปัญหาอื่นๆสะสมอีกมากมาย
ค่าตอบแทนพิเศษและค่าทำสำนวนไม่เพียงพอ เมื่อเปรียบเทียบกับพนักงานสอบสวนในหน่วยงานอื่น เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ
ขาดผู้ช่วย เครื่องมือ และอุปกรณ์ที่จำเป็น
คดีออนไลน์เพิ่มขึ้นมหาศาล ปี 2566–67 เฉลี่ยวันละ 800 คดี รวมปีละเกือบ 300,000 คดี
พนักงานสอบสวนหนึ่งคนต้องรับผิดชอบคดี 200–500 คดีต่อปี ทั้งที่มาตรฐานควรไม่เกิน 70 คดี
มีตำแหน่งพนักงานสอบสวนทั่วประเทศ 18,000 ตำแหน่ง แต่มีคนทำงานจริงเพียง 12,000 คน ขาดแคลนถึง 6,000 คน
ผลที่ตามมา คือกระบวนการสอบสวนล่าช้า ประชาชนต้องวิ่งเต้นกับสื่อ หรือ Influencer เพื่อให้คดีของตนเดินหน้า
ความเชื่อมั่นในตำรวจถดถอยอย่างน่ากังวล
กรรมการข้าราชการตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิบอกว่า เข้ามาทำหน้าที่ตั้งแต่มีนาคม 2566 ได้เสนอปัญหานี้ต่อที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชาการำตรวจและได้ข้อสรุปในเบื้องต้น เช่น อบรมและแต่งตั้งพนักงานสอบสวนใหม่ปีละ 1,000 คน รวม 4 ปี 4,000 คน
เพิ่มค่าตอบแทนและค่าสำนวน
แต่งตั้งผู้ช่วยพนักงานสอบสวนเพิ่มเติม
ตั้งคณะอนุกรรมการข้าราชการตำรวจพัฒนางานสอบสวนเพื่อติดตามและผลักดันนโยบายอย่างต่อเนื่อง
แต่อุปสรรคสำคัญคือ “งบประมาณ” ที่ไม่เพียงพอ ทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติทำได้แค่ “แก้ปัญหาเฉพาะหน้า” รัฐบาลต้องเป็นฝ่ายผลักดันและสนับสนุนอย่างจริงจัง
สำหรับข้อเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่ว่าจะเป็นการจำกัดอำนาจพนักงานสอบสวน หรือเพิ่มบทบาทให้อัยการ เจ้าตัวเคารพทุกความคิดเห็น
ทว่าสิ่งสำคัญกว่าคือ ต้องกลับมาโฟกัส “การฟื้นฟูระบบสอบสวนที่กำลังล่มสลาย”
“ถ้าพนักงานสอบสวนยังต้องทำงานหนักเกินมนุษย์ ค่าตอบแทนน้อย ขาดขวัญกำลังใจ ขาดโอกาสเติบโต ต่อให้เปลี่ยนโครงสร้างกฎหมายแค่ไหน ก็ไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนได้จริง”
พล.ต.อ.เอกขอเรียกร้องให้รัฐบาลเห็นใจ สนับสนุนงบประมาณและกำลังคนอย่างจริงจัง ไม่ใช่เพียงชั่วคราว แต่ต้องสม่ำเสมอและต่อเนื่องเพื่อฟื้นฟูระบบสอบสวนไทยให้มีศักดิ์ศรี มีประสิทธิภาพ
สามารถปกป้องสิทธิของประชาชนได้อย่างแท้จริง