แนวคิดจะยึดอำนาจการสืบสวนสอบสวนไปอยู่ใน “กำมือ” ของตัวเองเหมือนกระบวนการยุติธรรมแดนกิมจิ
ถึงเวลาจะทำได้จริงเหมือนอิง “ซีรีส์” ละครเกาหลีอย่างนั้นหรือ
ยิ่งเมื่อตัวเองถูกส่งไปในพื้นที่ความรุนแรงปลายด้ามขวานแล้วจะกล้าออกมาทำหน้าที่ท่ามกลาง “วิถีกระสุน” และ “กับระเบิด” แบบผู้พิทักษ์สันติราษฎร์เสียสละจิตวิญญาณ อุดมการณ์ที่บางครั้งแลกด้วยชีวิตอย่างคาดไม่ถึง
เฉกเช่นการสูญเสีย ร.ต.อ.พนากร อินทา รองสารวัตร(สอบสวน) สถานีตำรวจภูธรกะพ้อ จังหวัดปัตตานีจากการถูกคนร้ายลอบวางระเบิดระหว่างไปสอบสวนสถานที่เกิดเหตุพลาดเข้าในพื้นที่ “คิลลิ่งโซน”
แล้วจะมี “อัยการคนไหน” ยกมือขออาสาลงสนามไปทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนหรือไม่
ว่าถึงความเสี่ยงของพนักงานสอบสวนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ต.ท.สุริยา แป้นเกิด รองผู้กำกับการ(สอบสวน) สถานีตำรวจภูธรสุขสำราญ จังหวังระนอง ในฐานะที่เคยปฏิบัติหน้าที่พนักงานสอบสวนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มา 8 ปีกว่า
เจ้าตัวเล่าว่า หากมีเหตุสงสัยว่าเป็นการกระทำของผู้ก่อการร้ายเช่น ลอบวางระเบิด ยิงเจ้าหน้าที่ วางวัตถุต้องสงสัยจะมีการจัดกำลังเต็มเข้าไป
มีอุปกรณ์ตัดสัญญาณ ป้องกันดักวางระเบิด เพื่อพนักงานสอบสวนเข้าไปตรวจที่เกิดเหตุความเสี่ยงน้อยลง
แต่ยังมี ระเบิดลูกสอง ลูกสาม
คอยวางดักไว้ แบบลวดกระตุก เดินสะดุด
ตัวเขาเคยโดนวางระเบิดแบบนั้น แต่โชคดีรอดมาได้ วงจรระเบิดไม่ทำงาน
“หากเป็นเหตุลักทรัพย์ รถชน หรือเหตุอื่น ไม่ใช่เหตุก่อการร้าย พนักงานสอบสวนจะถามผู้ใหญ่กำนันในหมู่บ้าน มีเหตุจริงไหม ถ้ามีจริงก็เข้าไป”
บางครั้งพนักงานสอบสวนเข้าไปกับชุดสืบ แต่มีหลายครั้งที่พนักงานสอบสวนต้องเข้าไปคนเดียวพร้อมพลขับ บางพื้นที่เส้นทางบังคับจะเลี่ยงไปเส้นอื่นไม่ได้
นี่คือ จุดอ่อนที่คนร้ายก่อเหตุกับพนักงานสอบสวนได้ง่าย
“ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของน้องด้วยนะครับ” นายตำรวจมือสอบสวนรุ่นพี่อาลัย
น้องเป็นตำรวจชั้นประทวน อยู่พื้นที่สถานีตำรวจภูธรโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานีมาก่อน สอบสัญญาบัตรได้
“ผมเชื่อว่า น้องระมัดระวังเต็มที่แล้ว”
แต่หน้าที่พนักงานสอบสวนต้องออกไป
ขอให้พี่ ๆน้องๆ ตำรวจ เจ้าหน้าที่ทุกท่านที่ปฏิบัติหน้าที่ปลอดภัยในทุกสถานการณ์