เสียงจากคนจริงที่ซึ่งไร้อำนาจ

 

เมื่อนักวิชาการผู้สูงส่ง “คิด” แก้ไขกฎหมาย แทนที่จะ “เข้าใจ” หัวใจคน

พล.ต.อ.ศักดา เตชะเกรียงไกร อดีตนายกสมาคมโรงเรียนนายร้อยตำรวจถอดบทความของ พ.ต.อ.ถนอม จินาวา อาจารย์(สบ4)กลุ่มงานกฎหมาย ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 6 มาแชร์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว

บอกว่า กระบวนการยุติธรรมน่ะหรือ สำหรับคนในโลกแห่งความจริง มันคือลมหายใจสุดท้ายที่หวังจะได้รับความเป็นธรรม ยิ่งกว่านั้นคือ การเยียวยาบาดแผลในหัวใจที่ฉีกขาดจากคดีอาชญากรรม

แต่ดูเหมือนว่าเสียงสะท้อนจาก “ห้องแอร์” อันแสนเย็นฉ่ำ กำลังบรรเลงเพลงของตัวเอง โดยไม่รับรู้ถึงอุณหภูมิแห่งความร้อนรนและเจ็บปวดที่ประชาชนต้องเผชิญ

พนักงานสอบสวนผู้อยู่หน้างาน แบกรับความคาดหวังของสังคม แต่กลับถูกสวมโซ่ตรวนทางความคิดด้วย “ข้อเสนอ” ที่ไร้ซึ่งสามัญสำนึกใครกันที่กล้าอ้างว่า “โปร่งใส” หรือ “ถ่วงดุลอำนาจ” เมื่อข้อเสนอสุดประหลาดที่ให้พนักงานสอบสวนต้อง “รายงานการสืบสวนต่อฝ่ายปกครอง” และ “ขออนุมัติอัยการก่อนดำเนินการ”

มันคือ “การยัดเยียด” ความล่าช้าอันแสนปวดร้าวให้กับกระบวนการยุติธรรม

ในขณะที่ผู้ร้ายกำลังหัวเราะเยาะอยู่ข้างนอก ผู้เสียหายต้องรอคอยอย่างสิ้นหวัง เพียงเพราะคนบางกลุ่มในหอคอยงาช้าง อยากจะสวมบทบาทผู้ทรงอำนาจควบคุมทุกย่างก้าวของการสืบสวน การออกหมายจับที่ต้องแข่งกับเวลาเพื่อปกป้องสังคม

กลับกลายเป็นเรื่องยุ่งยาก ซับซ้อน เพียงเพื่อสนองอัตตาของใครบางคนที่ไม่ได้สัมผัสกับเลือดและน้ำตาของผู้สูญเสีย

คนเหล่านั้นที่ร่ำเรียนมาสูงส่ง ลืมไปแล้วหรือว่า “ความรวดเร็วและฉับไว” คือ หัวใจของการจับกุมคนร้าย คือ การรักษาพยานหลักฐานไม่ให้สูญหายในพริบตา เมื่อชีวิตคนแขวนอยู่บนเส้นด้าย พยานหลักฐานมีโอกาสถูกทำลายทุกนาที

กลับมีคนเสนอให้ “หยุด” กระบวนการสอบสวนเพื่อรอ “การอนุมัติ” ที่ไม่รู้ว่าจะมาเมื่อไหร่  

ไม่ใช่การส่งเสริมหลักยุติธรรม แต่เป็นการบั่นทอนกำลังใจของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และ ซ้ำเติมความทุกข์ระทมของผู้เสียหายอย่างเลือดเย็น

พวกเขาพูดถึง “หลักความเป็นอิสระของพนักงานสอบสวน” กลับกำลังจะทำลายมันด้วยมือตัวเอง การแทรกแซงจาก “ฝ่ายปกครอง” หรือบุคคลภายนอกที่ไม่มีความรู้ลึกซึ้งในสำนวนคดี อาจนำมาซึ่งการชี้นำทางการเมือง หรือการเอื้อประโยชน์ให้ใครบางคน ไม่ใช่เพื่อความยุติธรรมที่แท้จริง แต่เพื่ออำนาจและผลประโยชน์อันซ่อนเร้นที่กัดกินสังคมมานานแสนนาน

พุทธองค์ทรงสอนว่า “อวิชฺชา” คือ ความไม่รู้แจ้ง นี่คือ การไม่รู้แจ้งในความทุกข์ของผู้คนอย่างแท้จริง

ตราบใดที่จิตใจคนยังคงมุ่งแสวงหาแต่อำนาจและผลประโยชน์ ไม่ว่าจะแก้ไขกฎหมายกี่ฉบับ สังคมก็ไม่มีวันดีขึ้นจริง จริยธรรมและหลักธรรมต่างหาก คือ สิ่งที่ควรเป็นรากฐานของกระบวนการยุติธรรม มิใช่เพียงแค่ตัวอักษรบนแผ่นกระดาษที่ถูกตีความอย่างบิดเบี้ยวตามอำเภอใจของคนบางกลุ่มที่ห่างไกลจากความจริง

สุดท้ายแล้วการเปลี่ยนแปลงกฎหมายครั้งนี้ หากไม่ได้รับการพิจารณาอย่างรอบด้านจาก “หัวใจที่เข้าใจความทุกข์”ของประชาชนอย่างแท้จริง แต่กลับถูกผลักดันจากแนวคิดที่ขาดการสัมผัสกับชีวิตจริง

เท่ากับเป็นการตอกย้ำว่า “ยุติธรรม” นั้นเป็นเพียงคำสวยหรูในตำราของนักวิชาการในห้องแอร์เท่านั้น

อยากจะเขียนเป็นงานวิจัย เสนอโต้แย้งผู้เสนอแก้ไข กฎหมายนี้น่ะ แต่ไม่มีทุน 555

 เขียนไว้ให้คิด อย่าเครียด เดี๋ยวจะเป็นโรคซึมเศร้า

เข้าใจหัวอกนักสืบอาชีพและพนักงานสอบสวนทุกนายครับ

 

RELATED ARTICLES