ปฏิรูปตำรวจฉบับเกรงใจตำรวจ (1)

ร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฉบับขรัวเฒ่า “มีชัย ฤชุพันธุ์” ภายใต้ รัฐบาลเผด็จการทหาร ขึ้นแท่นจากคณะทำงานปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ที่มีตำรวจอยู่ในคณะเพียงแค่ 1 นาย คือ พล.ต.อ.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

อดีตตำรวจอีกนาย คือ พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1

ไม่มีอำนาจต่อรอง คัดค้าน นอกจากเอ่อออปล่อยให้คณะทำงาน “ยำใหญ่ใส่อคติ” ทั้งที่ไม่มีความรู้เรื่องตำรวจดีพอเหมือนอย่างที่ พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติออกปากแสดงความเห็น

แม้กระทั่งตัว อาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ มือร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ภายหลังโดน “ฉีกขาดเป็นวิ่น” หลายฉบับ ในวัย 80 เศษ ยังยอมรับตอนย่องกระย่องกระแย่งแทบจะถือไม้เท้าไปสุ่มตรวจ 5 โรงพักภูธรตามต่างจังหวัด

เพิ่งเช็ดแว่นถ่างตา

 “พบบางแห่งที่ได้เห็นมีสภาพอนาถาที่สุด ทุกอย่างที่จำเป็นกับการปฏิบัติหน้าที่ไม่พอเพียง ต้องซื้อหากันเอง ตั้งแต่กระดาษ ปากกา ดินสอ รวมทั้งปืนคู่มือ สอบถามว่าหลวงไม่มีให้หรือ เขาตอบว่ามีแต่เก่าคร่ำคร่ามาก และที่น่าเวทนามากคือ ตั้งแต่ย้ายเข้ามารับตำแหน่งต้องซื้อโต๊ะเก้าอี้เอง ซื้อแอร์ติดห้องเอง เพราะคนเก่าที่ย้ายออกไป เอาติดตัวไปที่ใหม่ด้วย เพราะเป็นของที่เขาซื้อหาเองมาก่อนเมื่อครั้งย้ายเข้ามา คนที่โชคดีหน่อยก็คือ คนที่ย้ายเข้ามาแล้วคนเก่าเขาทิ้งเป็นมรดกไว้ให้ไม่เอาติดตัวไปที่ใหม่” ตามคำพูดของ นายคำนูณ สิทธิสมาน โทรโข่งของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจชุดดังกล่า

สุดท้ายแล้วร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติที่ออกมาแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้จริงหรือ

ต่างจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ที่มี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็น “หัวหอก” อย่างไร

ทำไมฉบับเก่าถึงโดนตีตราประดับเป็น “ฉบับเกรงใจตำรวจ”

เพราะเป็นร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติตามโครงสร้างที่กลั่นออกมาจน “ตกผลึก” จากคณะทำงานที่มีตำรวจส่วนใหญ่ระดมความเห็นและศึกษามาอย่างละเอียดแบบนั้นหรือเปล่า

คณะกรรมการผ่าตัดโครงสร้างองค์กรสีกากีฉบับโดนโยนทิ้งมีใครบ้าง

ขออนุญาตนำเสนอ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ นั่งเป็นประธาน กรรมการโดยตำแหน่ง ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และอัยการสูงสุด

กรรมการฝ่ายผู้ทรงคุณวุฒิ มี นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายมนุชญ์ วัฒนโกเมร อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายมานิจ สุขสมจิตร ที่ปรึกษาสามาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นางเบญจวรรณ สว่างนิทร อดีตเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน นายศุภชัย ยาวะประภาษ นายกสภาการศึกษาโรงเรียนนายร้อยตำรวจ นายประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ นายศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

นายธานิศ เกศวพิทัษ์ อดีตรองประธานศาลฎีกา นายเข็มชัย ชุติวงศ์ รองอัยการสูงสุด นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ พล.อ.อ.อิทธิพล ศุภวงศ์ อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ นายอมร วาณิชวิวัฒน์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พล.อ.ทวีป เนตรนิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และนายวรรณชัย บุญบำรุง รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

ส่วนคณะกรรมการฝ่ายตำรวจ ประกอบด้วย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ชาญชิต เพียรเลิศ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ในขณะนั้น) พล.ต.อ.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม พ.ต.ต.ยงยุทธ สาระสมบัติ อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี พล.ต.อ.ปัญญา มาเม่น จเรตำรวจแห่งชาติ (ในขณะนั้น) พล.ต.ท.เรวัช กลิ่นเกษร อดีตผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด พล.ต.อ.บุญชัย ชื่นสุชน อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร พล.ต.อ.สุพร พันธุ์เสือ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.สมศักดิ์ แขวงโสภา อดีตผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน พล.ต.อ.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ (ในขณะนั้น) และพล.ต.ท.คำรบ ปัญญาแก้ว ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ต่างระดมความคิดเห็นศึกษาแนวทางโครงสร้างตำรวจแต่ละประเทศนำมาเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียก่อนสรุปมาเป็นร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ

ก่อนโดนรอยประทับตราว่า “ไม่ผ่าน” !!!

 

RELATED ARTICLES