ที่ประชุมพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจระดับรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติถึงผู้บังคับการประจำปี 2562 เรียบร้อยในกำมืออำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ในฐานะประธานข้าราชการตำรวจ เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี นับแต่มี พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ ที่กำหนดบทผู้นำประเทศมากำกับดูแล “องค์กรสีกากี” หลังพ้นชายคากระทรวงคลองหลอดเมื่อปี 2541
เจตนารมณ์เพื่อต้องการให้อำนาจการเมืองเข้ามาแทรกแซงคนในรั้วปทุมวันให้น้อยที่สุด
ปรากฏว่า ผู้นำหลายคนสะบัดความรับผิดชอบโยนภารกิจให้รองนายกรัฐมนตรีมานั่งกำกับดูแลกิจการงานตำรวจทำหน้าที่หัวโต๊ะประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจเพื่อพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายแทน
การพิจารณาใช้เวลา 2 ชั่วโมง ผ่านมติที่ประชุมรวมทั้งหมด 317 ตำแหน่ง
ผลงานประเดิมจัดทัพขยับโผนายพลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา น่าจะรู้ “น้ำยา” ของตัวเองเป็นอย่างดีว่าจะมีพลังอำนาจจัดการเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหมือนบัญชีแต่งตั้งนายพลทหารที่เจ้าตัวนั่งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้หรือ
สุดท้าย “กฎเกณฑ์” ที่เอามาใช้อ้างเป็น “กฎเหล็ก” หาใช่มาตรวัดไปกางพิจารณา
ว่ากันว่า การแต่งตั้งเป็นไปตามกฎกรรมการข้าราชการตำรวจ ยึดหลักเกณฑ์อาวุโส 33 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นกลุ่มความรู้ ความสามารถตามระบบ
แต่ความจริง หลักอาวุโสที่พูดกันนักหนาเพื่อ “ความเป็นธรรม” ให้เป็นประโยชน์ต่อการแต่งตั้ง ตามวาจาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่วาดไว้ในคราวประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจครั้งแรกในวันระเบิดป่วนกรุง
ถึงเวลาไม่อาจทำสำเร็จ
“ได้เอาทุกอย่างมาพิจารณาร่วมกันในทุกประเด็น ทุกมิติ” พล.อ.ประยุทธ์ยกเหตุผลความเหมาะสมเป็นข้อแก้ลำ
หลักการและหลักเกณฑ์เลยกลายเป็น “ขี้เลน” หาไม้หลักปักไม่ได้
แม้ภาพรวมการ “ปู้ยี่ปู้ยำบัญชี” จะ “ไร้เงาทีมไอ้โม่งชุดเก่า” เข้ามาสร้างความเสียหาย แต่ไม่วายเจอเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามธรรมดาของ “ผู้สมหวังและผิดหวัง”
มันไม่อาจหลุดพ้นความผุพังของระบบการแต่งตั้งโยกย้ายที่ทำลายขวัญกำลังใจ เมื่อยังไม่อาจสลายระบบวัฒนธรรม “เส้นสายและนายหนุน” ดุนดันเก้าอี้เกินโควตาคนทำงาน
ส่งคนที่พลาดหวัง เพราะโดนหลอก อาจถึงขั้นต้อง “ลาออก” ประชดประชัน
เหตุเนื่องจากไม่มีสายสัมพันธ์แนบชิดติดขั้วอำนาจ