พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม มีบทความเกี่ยวกับเรื่องแชร์ลูกโซ่ลวงโลกหลอกตุ๋นเหยื่อสูญเสียเงินเป็นตำรวจมากในปัจจุบัน
ย้อนต้นตำรับ “แชร์แม่ชม้อย” สู่“แชร์แม่มณี”
คนที่มีอายุ 36 ปี (เกิด พ.ศ. 2526) จะตรงกับปีที่ “แม่ชม้อย” กำลังโด่งดังในสังคมไทย สร้างปรากฏการณ์ซ้ำเติมวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นทั่วประเทศ ทำให้คนไทยรู้จัก เข้าใจ คำว่า “แชร์ลูกโซ่” และหลายคนก็ซาบซึ้งถึงรสชาติของมัน
“ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนนะครับว่า แชร์ลูกโซ่ ไม่ใช่การเล่นแชร์ แต่เป็นการฉ้อโกง หลอกลวงกันล้วน ๆ” พล.ต.ท.อำนวยกระตุกสติ
“แชร์ลูกโซ่” มักจะเกิดในช่วงที่บ้านเมืองมีปัญหาด้านเศรษฐกิจ ข้าวยากหมากแพง มีความเสี่ยงในการที่จะประกอบธุรกิจ ลงทุนทำธุรกิจ
ดังนั้นเมื่อมีผู้มาเสนอค่าตอบแทนให้ในจำนวนสูงมากกับการเข้าไปร่วมลงทุนทำธุรกิจใดสักอย่างหนึ่ง หลายๆ คนก็จะกระโดดเข้าไปร่วมวง ลงทุนด้วยทั้ง ๆ ในความเป็นจริงอาจจะไม่มีการทำธุรกิจใด ๆ เลย เพียงแต่เอาเงินลงทุนของคนที่ 1 ไปให้เป็นประโยชน์ตอบแทนกับคนที่ 2 เอาเงินลงทุนของคนที่ 2 ไปให้เป็นประโยชน์ตอบแทนกับคนที่ 3 คนที่ 4 ไป 5 คนที่ 5 ไป 6 เรื่อย ๆเป็นลูกโซ่ต่อ ๆกันไป
“แชร์แม่ชม้อย” อ้างว่าเป็นการลงทุนค้าน้ำมันร่วมกันทั้ง ๆ ที่ไม่มีน้ำมันสักหยด(อุปโลกน์ขึ้นมา) โดยเริ่มแรกอ้างว่า ร่วมลงทุนค่าน้ำมันกันเป็นลำเรือ เมื่อความนิยมเป็นที่แพร่หลายผู้เข้าร่วมลงทุนมีมาก ลดเหลือเป็นคันรถ ลดเหลือเป็นครึ่งคันรถ ลดลงเป็นล้อรถ เป็นกระดุมล้อรถ…แล้วแต่จะอ้าง ค่าตอบแทนให้กับผู้ลงทุนมีจริง ดีจริง(ในช่วงแรก) ด้วยการเอาเงินลงทุนไปวนให้เป็นลูกโซ่ดังกล่าวแล้ว
สมาชิกคนแรกๆหลงตาม เคลิ้มตามกับรายได้ที่ดีจึงเข้าร่วมหาสมาชิกมาลงทุนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุดเข้าไปเป็นผู้ร่วมขบวนการ ที่เรียกกันว่า“หัวหน้าทีม–หัวหน้าสาย”
ท้ายที่สุดนานวันเข้าเนื่องจากไม่มีรายได้จากการทำธุรกิจใด ๆ จริง จึงไม่มีรายได้อันจะนำมาแบ่งปันกันได้จริงข้อของลูกโซ่จะค่อยๆ เล็กลงๆ และขาดไปในที่สุด
เมื่อนั้นแหละหน้ากากจะถูกเปิดออก
แต่กว่าจะถึงเมื่อนั้นเงินทองที่ต่างคนต่างลงไปจะถูกนำไปซุกไปซ่อนไปเล่นแร่แปรธาตุเกือบหมดแล้ว เราคงจำกันได้นะครับสมัยแชร์แม่ชม้อย เอาเงินสดไปฝังดิน ตำรวจชุดสืบสวนขุดตรงไหนเจอตรงนั้น
คนที่ลงทุนไปเสียเงินเสียทองถึงขนาดต้องล้มละลายไปก็มี ถึงขนาดฆ่าตัวตายไปก็มี
“แชร์แม่ชม้อย” ถือเป็นบทเรียนราคาแพงสำหรับคนไทยที่จะต้องจดจำ และจะต้องไม่ให้เกิดขึ้นอีก ทว่าต่อมา แชร์แม่นกแก้ว แชร์เสมาฟ้าคราม แชร์ข้าวสาร แชร์สลากกินแบ่งรัฐบาล แชร์แหวนเพชร จิปาถะที่จะตั้งชื่อ ที่จะอ้างการทำธุรกิจลงทุนเพื่อให้มีคนหลงเชื่อจะได้เข้าร่วมลงทุน และบรรดาแชร์พวกนี้มักจะได้รับการยกย่องประดุจเป็นญาติผู้ใหญ่(ตอนแรกๆ) จึงมีคำว่า “แม่” คำว่า “พ่อ” นำหน้า เช่น แชร์แม่ชม้อย(ช่วงค่าตอบแทนยังดีอยู่) นาน ๆไปค่าตอบแทนลดลง เหลือคุณชม้อย ชม้อย และ อีชม้อย เมื่อลูกโซ่ขาดตามลำดับ แต่กว่าจะถึง “อี” ถึง “อ้าย” ความเสียหายก็กระจายไปทั่วประเทศแล้ว
พัฒนาการของแชร์ลูกโซ่ในเวลาต่อมามีการใส่ธุรกิจเข้าไปจริง(มีการดำเนินธุรกิจจริง) แต่รายได้จากการดำเนินธุรกิจไม่ได้มีมากพอที่จะให้นำมาแบ่งปันกันเป็นค่าตอบแทนกับผู้ลงทุน กล่าวคือ ยังคงนำเงินของคนที่ลงทุนไปหมุนอยู่เหมือนเดิมแต่ทำให้ดูเนียนๆ ว่า มีธุรกิจจริงเป็นการตบตาเช่น แชร์ข้าวสาร แชร์แหวนเพชร แชร์ค้าทองคำ ซึ่งจะทำให้เราดูยากขึ้นไปอีก
ส่วน “แชร์แม่มณี” อ้างว่าทำธุรกิจขายสินค้าสำหรับเด็กทางออนไลน์ โดยให้ประโยชน์ตอบแทนกับผู้ร่วมลงทุน 93% สามารถขยายฐานการลงทุนได้อย่างรวดเร็ว เพราะติดต่อกันทางออนไลน์ ต่อมาอ้างว่าทำธุรกิจสร้างภาพยนตร์ และจาก แม่มณี เป็น คุณมณี เป็น มณี และ อีมณี
ในที่สุดขณะนี้ “แม่มณี” ในอดีต หรือ “อีมณี” ในปัจจุบันอยู่ระหว่างหลบหนี ความเสียหาย ความเดือดร้อนของสุจริตชน
คนที่เข้าไปร่วมลงทุนแล้วต้องตกเป็นเหยื่อมีมากมายมหาศาล
จากเหตุแชร์แม่ชม้อยที่เกิดขึ้น เมื่อปี 2525 -2526 เลยทำให้ประเทศไทยมีกฎหมายขึ้นมาฉบับหนึ่ง คือ พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน พุทธศักราช 2527 เพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมในรูปแบบนี้(แชร์ลูกโซ่)
ปัจจุบันรัฐบาลได้ประกาศให้ปัญหานี้เป็น “วาระแห่งชาติ” ที่จะต้องเฝ้าระวัง ป้องกันปราบปรามอย่างจริงจัง มีการตั้งคณะกรรมการระดับภูมิภาค(จังหวัด) และระดับประเทศขึ้นเพื่อบริหารจัดการในการแก้ปัญหานี้
องค์ประกอบของคณะกรรมการระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน อัยการจังหวัด คลังจังหวัด พาณิชย์จังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด เพียงแค่นี้ก็น่าจะเอาอยู่แล้ว เพราะในพื้นที่หากมีธุรกิจ ธุรกรรมใดเกิดขึ้น และการเชิญชวนให้เกิดการลงทุน ร่วมลงทุนที่ดูแปลกๆผิดปกติ
คณะกรรมการชุดนี้สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ทันทีหากพบการกระทำผิดก็จะสามารถตัดข้อลูกโซ่ได้อย่างรวดเร็วไม่ต้องปล่อยให้ลากยาวเหนือจรดใต้ ตะวันออกจรดตะวันตก
แล้วทำไมยังเกิดเหตุทำนองนี้ขึ้นได้อย่างเนืองๆ (ขอช่วยหาคำตอบให้กระผมที)
“ผิดฝาผิดฝั่งไปนิด ปกติกระผมจะเขียนเรื่องปฏิรูปตำรวจ แต่ครั้งนี้มาแปลกเขียนเรื่องแชร์ลูกโซ่ เพราะเกิดคันไม้คันมือด้วยเหตุกระผมเคยบรรยายในหัวข้อลักษณะการกระทำผิด และวิธีการสืบสวนสอบสวนการกระผิดแชร์ลูกโซ่มานานหลายปี และคิดว่าการหลอกลวงกันด้วยวิธีนี้น่าจะสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่เมื่อยังมีกระผมเลยต้องลุกขึ้นมาเขียน เพราะอย่างน้อยก็เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้ทุกคนได้รู้เท่าทันจะได้ไม่เข้าร่วมลงทุน แล้วต้องตกเป็นเหยื่อของอาชญากร กับทั้งหากพบเห็นพฤติกรรมน่าสงสัยที่จะเข้าข่ายเป็นแชร์ลูกโซ่”
ท่านในฐานะพลเมืองดีจะได้รีบแจ้งไปยังคณะกรรมการระดับจังหวัดเพื่อเข้าดำเนินการตรวจสอบ “ตัดข้อลูกโซ่” ระงับยับยั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับคนในสังคมให้ทันท่วงที
หากไม่แล้วอาชญากรรมแชร์ลูกโซ่จะได้รับความนิยมแซงหน้าโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ” ชิม ช้อป ใช้” ของรัฐบาลเสียฉิบ