ชีวิตจริงยิ่งกว่าละคร

ขออนุญาตนำบทความของ เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข เจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงา มาสะท้อนโลกของความเป็นจริงที่น่าสนใจในยุคปัจจุบัน

เจ้าตัวโพสต์เฟซบุ๊กย้อนคดีเด็กพม่า 2 ขวบหายในไร่อ้อยที่จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2561 กว่าจะพบศพ ใช้เวลาถึง 9 วัน

จุดพบศพอยู่ห่างจากจุดที่เด็กหายเพียง 900 เมตร แต่ไร่อ้อยทึบมาก เส้นทางระหว่างแปลงคดเคี้ยว

เขาบอกว่า ตอนแรก จำเลยสังคมและโลกโซเชียล คือ พี่ที่ขับรถไถใกล้จุดที่เด็กหายไป เพราะหาเด็กไม่เจอสักที

มีคนพูดว่า เด็กถูกรถไถทับ

“ข่าวลือเรื่องรถไถ พูดเยอะจนแยกไม่ออกว่า อะไรคือ ข่าวลือ อะไรคือความจริง แต่เพื่อความสบายใจ ตำรวจจัดกำลังเดินเรียงแถวค้นหาหลักฐานในผืนดินแปลงที่รถไถไปไถในวันนั้น”

.           ผู้ว่าราชการจังหวัดประชุมทุกหน่วยอีกครั้ง หลังเข้าวันที่ 8 ที่เด็กหายไป กำลังจะประกาศยุติการค้นหาในพื้นที่ อยู่ ๆ ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนขึ้นเฮลิคอปเตอร์มาร่วมประชุม แล้วบอกต้องจัดกำลังค้นหาอีก

วลีเด็ดของผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนในตอนนั้น คือ “เมื่อแบ่งพื้นที่ให้หน่วยใดรับผิดชอบแล้ว ถ้าต่อมาปรากฏว่าพบศพเด็กในพื้นที่นั้น หน่วยงานที่ค้นหาตรงนั้น ต้องรับผิดชอบ”

ระหว่างนั้น สื่อบางสำนักก็ไปบุกบ้านร้างแถว ๆ นั้น บอกว่าเจ้าของบ้านร้างนั้น บังตัวเด็กไว้ (เจ้าของบ้านตายไปแล้ว)  

วันพบศพ คือ วันที่ค้นหาอย่างละเอียดที่สุด แบ่งกำลังและพื้นที่ชัดเจนที่สุด

ก่อนแถลงว่าพบศพเด็ก ช่วงบ่ายมีการกั้นพื้นที่บางจุดห้ามเข้า โดยนำรถบัสตำรวจมาจอดขวางปิดเส้นทาง สื่อบางเจ้าเริ่มสงสัยว่า เกิดอะไรขึ้น มีการบินโดรนดู เจ้าหน้าที่ประกาศออกไมค์ว่า เป็นเขตห้ามบินโดรน

ต่อมาตำรวจนำผู้ว่าราชการจังหวัดและตำรวจชั้นผู้ใหญ่ในจังหวัดเข้าไปในจุดที่มีการกั้นพื้นที่ขนาดใหญ่ไว้  คือ จุดที่พบศพเด็ก หลังจากนั้นออกมาจากจุดเกิดเหตุ รีบมาแถลงข้อมูล แต่คลาดเคลื่อนสาระสำคัญไป

  เพราะทางมันคดเคี้ยว คือ จุดพบศพ ที่แถลงว่า ห่าง 5 กิโลเมตรจากจุดที่หาย แต่จริง ๆแล้วแค่ 900 เมตร

แพทย์นิติเวชที่ลงไปชันสูตรพลิกศพในที่เกิดเหตุ ระบุว่า จากสภาพศพ เด็กน่าจะเสียชีวิตมาแล้ว 5-7 วัน

กระแสข่าวลือดันกลับมาอีกรอบหลังพบศพ บอกคนขับรถไถนั่นแหละ ทับเด็กแล้วเอาไปทิ้งจุดนั้น

ผลการชันสูตรของสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ ระบุว่า ไม่พบร่องรอยบาดแผลที่เกิดจากของมีคม ไม่พบร่องรอยการถูกทำร้าย มีเพียงการถูกกัดแทะจากสัตว์เท่านั้น ตรวจสอบกระดูกไม่มีร่องรอยแตกหัก

“ เริ่มมีความไม่ไว้วางใจกระบวนการของตำรวจ มีการขอให้นำศพไปส่งตรวจอีกครั้งที่กระทรวงยุติธรรม แต่ผลการตรวจออกมา สอดคล้องกันกับสถาบันนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ”

ผลการชันสูตรศพ ทำให้คนขับรถไถพ้นมลทิน

ต่อมาตำรวจตั้งข้อกล่าวหา ชายในพื้นที่ซึ่งเป็นผู้พิการทางสมองว่า เป็นผู้พาเด็กไปเล่น ในส่วนนี้จึงตั้งหาข้อหาพรากเด็ก

ส่วนเรื่องเด็กเสียชีวิต ไม่ได้ตั้งข้อกล่าวหาใคร

ตำรวจอธิบายว่า การสืบสวน มีการคัดกรองบุคคลต้องสงสัย บุคคลใกล้เคียงในพื้นที่ที่เด็กวิ่งเล่น และพยานซึ่งเป็นเด็กที่วิ่งเล่นด้วยกัน บอกว่า มีน้าผู้ชายมาจูงเด็กไป

ผู้ที่ตำรวจตั้งข้อหา ตำรวจสอบถามหลายครั้ง เนื่องจากเป็นผู้พิการทางสมอง พูดประโยคยาวๆไม่ได้ แต่บอกว่าพาน้องไปเล่น และยังพาตำรวจเดินไปยังบริเวณใกล้จุดพบศพ

การสอบถามดังกล่าว และการพา ผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหาเดินนำไปยังบริเวณใกล้จุดพบศพ ตำรวจอ้างว่า เป็นการสืบสวนที่เกิดขึ้นก่อนที่จะพบศพ

ในด้านคดี งดการสอบสวน หรือไต่สวน เพราะผู้ต้องหาเป็น บุคคลวิกลจริต ไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา14

มีการร้องเรียนไปยังตำรวจภูธรภาค 7 และคณะกรรมการป้องกันปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเกี่ยวกับการสอบสวนและตั้งข้อกล่าวหาว่าไม่เป็นธรรม

“ผมถูกเรียกไปสอบปากคำด้วย รวมพยานปากอื่นอีก 20 ปาก” เอกลักษณ์เล่า “มีคำถามว่า เชื่อว่าผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหา ทำจริงหรือไม่ ก็ตอบตรง ๆ ว่าให้ความเห็นไม่ได้ ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานของตำรวจนั่นแหละ”

เมื่อถามว่า มีบุคคลที่พิการทางสติปัญญา หรือวิกลจริต เคยลักพาตัวเด็กหรือไม่

จากประสบการณ์ของเขาตอบว่า มี จริง ๆ แล้ว แค่อยากพาไปเล่นด้วยเสมือนเพื่อน เพราะไม่มีเพื่อนวัยเดียวกัน

เอกลักษณ์ทิ้งท้ายเรื่องราวทั้งหมดว่า ชีวิตจริงยิ่งกว่าละคร แต่จะเขียนบทอย่างไร เขียนตามข้อเท็จจริง เขียนให้สมจริง

หรือเขียนโดยใช้จินตนาการอย่างเดียว

RELATED ARTICLES