คำสั่งเสีย

ได้อ่านบทความของ พล.ต.ต.ไอยศูรย์ สิงหนาท อดีตผู้บังคับการประจำกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ว่าถึงสถานการณ์ปัจจุบันไว้น่าคิด

เจ้าตัวว่า มีคำสั่งจากผู้มีอำนาจให้ตำรวจเป็นหน่วยงานหลัก ในการตรวจคนเดินทางไปมา เพื่อป้องกันโรคโควิด 19 หมอแต่งชุดป้องกัน มีความรู้ความสามารถโดยตรงเกี่ยวกับโรคโควิด- 19 เว้นระยะห่างจากผู้ป่วยผู้ติดเชื้อตามหลักการ ยังติดเชื้อไปหลายคน

ตำรวจต้องทำหน้าที่ตามคำสั่ง อุปกรณ์มีจำกัด ใกล้ชิดกับผู้เดินทางไปมา ไม่มีความรู้ความสามารถแท้จริงในการตรวจหรือคัดกรองผู้ป่วยผู้ติดเชื้อ มีแค่การทดลองปฏิบัติในขั้นตอนต่าง ๆ แล้วจะรอดจากการติดเชื้อได้ยังไง

จากคำสั่งนี้ เหตุการณ์นี้ ทำให้หวนคิดถึงเหตุการณ์ต้นเดือนพฤษภาคม 2553 เวลาประมาณ 09.30 น.เศษ ที่ห้องประชุม บช.น.

ผมเป็น รอง ผบก.ภ.จว..อุบลราชธานี เข้าร่วมประชุมพร้อมกับ ผบ.หมวด ผบ.ร้อย รอง ผบ.พัน ผบ.พัน รอง ผบก.ภ.จว.หลายสิบจังหวัด รอง ผบก.น. ผบก.น. รองผบช.น.ประธานในที่ประชุมสั่งว่า

“ศอฉ.มีคำสั่งให้ไปสั่งลูกน้องแต่งชุดสนาม พร้อมโล่กระบอง เอาผ้าขนหนูชุบน้ำให้มากๆ เพื่อป้องกันแก๊สน้ำตา ตำรวจได้รับคำสั่งให้เข้าสลายการชุมนุม ทั้งที่ราชประสงค์และลุมพินี ถ้าทำไม่สำเร็จจะมีสัญญาณให้ถอย แล้วจะมีหน่วยอื่นเข้าปฏิบัติการแทน”

เงียบงันทั้งห้องประชุม

ผมเหลียวซ้ายแลขวา พอสบตากับใครก็มีแวววิตกกังวล ผมตัดสินใจยกมือขึ้น

“มีอะไรไอยศูรย์ สงสัยอะไร?”เสียงรองผบช.น.ที่เป็นประธานถามขึ้น

“ผมมีเรื่องนำเรียนสองเรื่องครับ เรื่องที่หนึ่ง ให้ตำรวจเอาโล่กระบองกับผ้าขนหนูชุบน้ำเข้าสลายการชุมนุม เราก็รู้ว่าที่นั่นมีทั้งหนักเบายาวสั้น โล่กระบองจะไปทำอะไรได้ ตำรวจเราก็มีปืนครับ คือ เอ็ม 16 และลูกซอง แต่เราเอาไว้ในรถ เราจะไม่ใช้อาวุธทำร้ายประชาชนเด็ดขาด ผ้าขนหนูชุบน้ำก็เพียงเช็ดหน้าปิดหน้าป้องกันแก๊สน้ำตา แต่ไม่สามารถป้องกันปืนระเบิดได้ ตำรวจจะต้องบาดเจ็บและตายเป็นจำนวนมากทั้งสองจุด ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจะประกาศ พรก.ฉุกเฉินแล้วจะมีเจ้าหน้าที่อีกหน่วยออกมาปฏิบัติการโดยมีกฎหมายคุ้มครอง สรุป คือ ตำรวจต้องบาดเจ็บและลัมตายเพื่อเป็นเหยื่อของเหตุผลในการออก พรก.ฉุกเฉินครับ”

“อีกข้อล่ะครับพี่ อยากฟังต่อครับ” รองผบช.น.ท่านหนึ่งซึ่งเป็นรุ่นน้องพูด ขณะที่ผมกำลังไตร่ตรอง

 “ผมจำเป็นต้องพูดครับ ผมพาลูกน้องมาทั้งหมดรวมผมด้วย 157 คน เมื่อวันที่ 22 เมษายน เวลาประมาณ 20.00 น.เศษ เอ็ม 79 ตกลงหน้าแถวขณะที่พวกผมกำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่แยกศาลาแดง ถนนสีลม ด.ต.ชาญชัย สายโน ลูกน้องที่ยืนหน้าผมโดนสะเก็ดระเบิดล้มทั้งยืน ขณะนี้รักษาตัวอยู่ที่รพ.ตำรวจ ผมจะพาลูกน้องทั้งหมดกลับบ้านอย่างปลอดภัย ดังนั้นผมจึงขอปฏิเสธคำสั่ง จะขังก็ยอม โดยการพาลูกน้องไปอยู่ด้านหลังครับ” ผมร่ายยาวจากความรู้สึกในใจ

“ด้านหลังที่ไหน ไอยศูรย์” รอง ผบช.น.ที่เป็นประธานการประชุมถามขึ้น พอดีขณะนั้น ผบช.น.เข้ามาในห้องประชุม

“หลังคนมีสีถือปืนครับ ปลอดภัยที่สุด” ผมตอบแบบโสตายแล้ว

รอง ผบช.น.ท่านนั้นสั่งเลิกประชุมและเรียกผมพบ ขณะที่ผมกำลังเดินจะไปพบ ก็มีเสียงรอง ผบก.หลายคนพูดด้านหลังผมดังๆว่า

“เอาด้วย ไปด้วย”แล้วพากันเดินตามผมมาหลายคน

รอง ผบช.น.ที่สั่งให้ผมไปพบ ยืนอยู่กับ ผบช.น.  รอง ผบช.น.อีกหลายท่านรวมทั้งนายพลคนมีสีอีกหนึ่งท่าน พอเห็นพลัง รอง ผบก.เริ่มก่อตัว ก็ตัดบททันที

“ไม่ต้องมาแล้ว” ท่านพูด ผมจึงทำความเคารพ หันตัวกลับ ก็มีเสียงลอยตามลมมา ได้ยินทั่วกันว่า

“มึงเจอแบล็คลิสต์”

ไม่รู้ว่าใครพูดครับ แต่ที่รู้แน่ๆก็คือ วันนั้นไม่มีการสลายการชุมนุม ไม่มีการปฏิบัติการใดๆ มีแต่การตั้งจุดตรวจตามปกติ

ดีใจ ปลื้มใจมากครับ ที่มีส่วนช่วยให้เพื่อนตำรวจอยู่รอดปลอดภัย ไม่บาดเจ็บ ไม่ล้มตาย จากคำสั่งของ ศอฉ. คำสั่งของผู้บังคับบัญชา ที่สั่งให้ตำรวจไปเจ็บและไปตาย

“ไม่คิดถึงอนาคตหรือ อีกตั้งหลายปีถึงจะเกษียณ” ถ้ามีคนถาม

“แค่ไหนก็แค่นั้น แล้วแต่บุญวาสนาที่ทำมา” ผมจะตอบเช่นนั้น

เป็นเรื่องจริงที่ฝังใจเรื่องหนึ่งของชีวิตการทำงาน ผมไปบรรยายถึงเหตุการณ์ต่าง ๆในหลักสูตร บตส.หลายรุ่น เรื่องการบริหารเหตุวิกฤติ หลายคนอยู่ในเหตุการณ์แต่ละช่วงและมีบางคนพูดว่า “มันจะเป็นตำนานตลอดไป

ป.ล.ผมไม่เอ่ยชื่อบุคคลใดๆ เพราะรู้ว่าต่างคนต่างมีหน้าที่ ถ้าท่านใดรู้สึกถูกกระทบ ผมต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ครับ

เพื่อนตำรวจที่ตรวจโควิด 19 ผมเอาใจช่วยนะครับ อยากให้มีคนพูดดังๆว่า

“คำสั่งนั้นเป็นคำสั่ง หรือเป็นคำสั่ง…เสีย”

 

 

RELATED ARTICLES