ออกมาแสดงความคิดเห็นได้ดุเด็ดเผ็ดร้อนตามสไตล์อีกครั้ง
พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม มองคดีการเสียชีวิตของดาราสาว แตงโม-ภัทรธิดา หรือ นิดา พัชรวีระพงษ์ ที่กำลังทำเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนสอบสวนหมุนติ้วเป็น “ลูกข่าง”
“ไปกันใหญ่แล้ว ..สนุกสนานประดุจละครโทรทัศน์ ก็ไม่ปาน” เจ้าตัวว่า
นายพลตำรวจมือสอบสวนเก่าบรรยายถึงกระแสจาก “นักสืบโซเชียล” ผู้รู้บ้าง ไม่รู้บ้าง อวดรู้บ้าง คาดเดาเต้าเรื่องบ้าง สร้างประเด็น ข้อสงสัย ข้อกังขา ข้อเรียกร้องความสนใจให้เกิดขึ้นในสังคม ต่าง ๆ นานา
บางประเด็นถึงขนาดหมิ่นประมาทผู้เสียชีวิตก็มี
อาทิ มีผู้ใหญ่รออยู่ที่โรงแรมริมน้ำ รับงานเอ็นฯ บ้างล่ะ
1 ใน 5 บนเรือรับสารภาพแล้ว( แอบได้ยินในห้องน้ำ) บ้างล่ะ
มีการเสพยาบนเรือบ้างล่ะ
พล.ต.ต. น แอบให้ข่าว แอบขายข่าวบ้างล่ะ
ผลการตรวจพิสูจน์ศพ จะทำให้ตำรวจอึ้งบ้างล่ะ
ชี้นำให้เอาคนบนเรือ ทั้ง 5 คนเข้าเครื่องจับเท็จบ้างล่ะ
พล.ต.ท.อำนวยว่าถึงประเด็นหลังก่อน “เครื่องจับเท็จนะครับไม่ใช่เครื่องซักผ้า ที่อยู่ ๆ จะไปเอาใครเข้าเครื่องจับเท็จได้ทันที มันมีวิธีการ มันมีกระบวนการ จะต้องแสวงหาพยานหลักฐาน มาเปรียบเทียบ มาพิสูจน์ “
คดีแรกที่มีการใช้เครื่องจับเท็จเข้ามาพิสูจน์ในทางคดี เขายกตัวอย่างที่สมัยนั้นร่วมได้ทำคดีด้วยตัวเอง ปรากฏในคำพิพากษาศาลฎีกาถึงเรื่องการใช้เครื่องจับเท็จ คือ คดีหม่อมลูกปลา หรือ หม่อมชลาศัย ประเด็นที่จะพิสูจน์ใครเป็นคนชงกาแฟให้ ท่านกบ -หม่อมเจ้าฐิติพันธุ์ ยุคล
กว่าจะนำไปเข้าเครื่องจับเท็จ จะต้องทำการสืบสวนสอบสวน พิสูจน์ทดลองกันหลายขั้นตอน แสวงหาพยานหลักฐานประกอบจนเห็นว่าควรนำเข้าเครื่องจับเท็จ ต่างกับการเอาผ้าไม่สะอาดเข้าไปซักแล้วออกมาขาวสะอาดนะครับ
หรือในอดีตไม่ช้าไม่นาน เอาแค่สมัยที่ พล.ต.ท.วรรณรัตน์ คชรัตน์ เป็นผู้บังคับการกองปราบปราม คดีการเสียชีวิตของสองแม่ลูกตระกูล ศรีธนะขัณฑ์ เป็นคดีที่ประชาชนทั้งประเทศให้ความสนใจ
พนักงานสืบสวนสอบสวนมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ ใช้ความรู้ความสามารถ ทั้งทางด้านกฎหมาย หลักวิชาการ ประสบการณ์ทำงานที่สร้างสมมา ต่างๆ นานา
ไม่มีผู้มาชี้นำ ไม่มีผู้มาชักจูง อวดอ้าง สร้างประเด็นอวดรู้ ชูประเด็น ไม่ต้องหลงทาง สร้างปัญหาให้กับการสืบสวนสอบสวน
ทั้ง ๆ ที่ผู้ต้องหาเป็นถึงนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่กับพวกที่เป็นข้าราชการตำรวจอีกกว่า 10 นาย เสร็จสิ้นไปได้ด้วยดี
“กระผมทำสำนวนคดีนี้ตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งไปเบิกความต่อศาล และศาลพิพากษาลงโทษประหารชีวิตและจำคุกตลอดชีวิตจำเลยทั้งหมด”
ไม่มีนักสืบโซเชียล ผู้รู้จริงบ้างไม่จริงบ้าง มาชี้นำกำหนดประเด็นทำให้ต้อง “หลงป่า”จนแทบจะหาทางออกไม่เจอ
ก่อนหน้านี้ก็เพิ่งผ่านไปหยก ๆ คดีการเสียชีวิตของ “น้องชมพู่” บนภูหินเหล็กไฟแห่งบ้านกกกอก ยุ่งเหยิงกันไปใหญ่
กองทัพนักข่าวไปปักหลักทำข่าวอยู่เป็นปี ส่วน “ลุงพล” ก็กลายเป็น superstar ลำดับต้นๆของประเทศ
ดีที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติท่านนี้รับผิดชอบคดีนั้นพาออกจากป่ามาได้แบบหวุดหวิด ชี้นำกันจนถึงขนาดบางครั้ง มีการทรงเจ้าเข้าผีถาม “กุมารทอง”
ต่อไปพนักงานสอบสวนคงต้องไปสอบปากคำ “กุมารทอง” ไว้ประกอบสำนวนแล้วละมั้ง ไม่เช่นนั้นสังคมจะกล่าวหาว่า พนักงานสอบสวนไม่จริงจังในการรวบรวมพยานหลักฐานหรืออย่างไร
แต่ก่อนแต่ไร พนักงานสืบสวนสอบสวนจะมีอิสระในการทำงาน โดยเฉพาะการสอบสวนต้องกระทำโดยลับ การให้ข่าวกับสื่อมวลชนในคดีที่ประชาชนให้ความสนใจเท่าที่จำเป็น สื่อก็นำเสนอต่อสาธารณะเท่าที่ไม่เสียความยุติธรรม ไม่ละเมิดสิทธิ์ส่วนบุคคล ไม่มีการโต้กันไปโต้กันมา กล่าวหากันไปมา
เป็นกระบวนการยุติธรรมที่เป็นไปตามทำนองคลองธรรม ชอบด้วยกฎหมายภายใต้หลักการที่ถูกต้อง
แล้วปัจจุบันล่ะ
“เมื่อวานนี้ กระผมฟังคำให้สัมภาษณ์ของผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ตอบผู้สื่อข่าวว่ายังไม่ปิดคดีครับๆ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้บอกว่าสอบสวนเสร็จแล้ว จะสรุปผลในวันศุกร์นี้ (11 มี.ค.65) เป็นเพราะกระแสจึงทำให้ท่านตอบเช่นนั้นหรือไม่ครับ”
ถ้าใช่ อย่าลืมนะครับว่า การสอบสวนต้องกระทำด้วยความ “รวดเร็ว ต่อเนื่อง เป็นธรรม” เมื่อการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว กล่าวคือสอบจนสิ้นกระแสความแล้วจะต้องทำความเห็นตามท้องสำนวน คือ ตามพยานหลักฐานแล้วมีความเห็นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 140 หรือ 141 แล้วแต่กรณี
ไม่ใช่เมื่อมีกระแสจึงไม่กล้าปิด ไม่มีกระแสจะกล้าปิด
การสอบสวนไม่ใช่โรงลิเก(ปิด-เปิดม่าน) หากมีพยานหลักฐานใหม่อันสำคัญก็สามารถรื้อคดีใหม่ได้
“ดูตัวอย่างคดีการเสียชีวิตของ ส.ส.ห้างทอง ธรรมวัฒนะ กระผมทำคดีนี้ไว้เกือบ 20 ปีมาแล้ว ( 4 ปีให้หลัง มีพยานหลักฐานใหม่จึงมีการรื้อคดีกันใหม่)”
ในฐานะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม พล.ต.ท.อำนวยบอกจะนำปัญหานี้เสนอในที่ประชุม เพื่อให้มีการกำหนดมาตรการ แนวทางการแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งคงจะต้องร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชนด้วย