ล้อมคอกคอลเซ็นเตอร์

ต้องรอให้ผู้เสียหายสูญเสียทรัพย์สินไปมูลค่ามหาศาลแล้วหรืออย่างไร ผู้เกี่ยวข้องถึง ตาสว่าง หาทาง “ล้อมคอก” 

เครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์อาละวาดปั่นป่วนหนักมาก ลำพังตำรวจหน่วยเดียวจับไม่ได้ไล่ไม่ทันเนื่องจากไปตั้งฐานปฏิบัติการตามประเทศเพื่อนบ้าน

พฤติกรรมเดิม แต่รูปแบบการหลอกล่อเปลี่ยนแนวไปหลายสไตล์สุ่มเลือก เหยื่อหัวอ่อน วันละหลายร้อยราย โดนเป้าสักรายสองรายก็คุ้มค่า

เพราะผู้เสียหายบางรายถูก ต้มเปื่อย ยอมโอนเงินให้หลักล้านบาทก็มี

เหยื่อเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่รู้เท่าทัน ทั้งที่ตัวเองไม่ได้กระทำความผิด แต่ต้องการความบริสุทธิ์ใจ เจอลูกขู่ดำเนินคดีพัวพันฟอกเงินเป็นเอาตกใจ

สุดท้าย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องขอความร่วมมือ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงประชาชนตามนโยบายของรัฐบาลอย่างจริงจัง

กำชับผู้ให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ ทั้ง 6 ราย ประกอบด้วย บริษัท เอไอเอ็น โกลบอลคอม จำกัด บริษัท ดีแท็ค ไตรเน็ต จำกัด บริษัทแอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ท จำกัด บริษัท โอทาโร่ เวิลด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด บ ริษัททรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)

เคาะมาตรการล้อมคอก

1.ระงับสายโทรเข้ามาจากต่างประเทศที่มีรูปแบบของเบอร์ที่โทรเข้ามาเป็นเบอร์โทรศัพท์บ้าน เบอร์โทรศัพท์สั้น 3 หลัก และเบอร์โทรศัพท์สั้น 4 หลักของประเทศไทยที่โทรมายังเลขหมายปลายทางของประเทศไทย

2.ระงับสายโทรเข้ามาจากต่างประเทศที่มีรูปแบบของเบอร์ที่โทรเข้ามาเป็นรหัสโทรศัพท์ประจำประเทศ (Country Code) ที่สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ยังไม่ได้จัดสรรให้ประเทศใด

3.ดำเนินการตรวจสอบสายโทรเข้ามาจากต่างประเทศที่ผิดกฎหมายว่า มีการดัดแปลงเลขหมายหรือไม่ ด้วยระบบ Test Call Generator (TCG) อย่างต่อเนื่อง

4.ในกรณีที่สายโทรเข้ามาจากต่างประเทศไม่ได้มีการกำหนดเลขหมายต้นทาง (Non Calling Line Identification) ให้ดำเนินการเพิ่มเครื่องหมาย +66 นำหน้าเบอร์โทรศัพท์ เพื่อให้ประชาชนทราบว่าเป็นการโทรเข้ามาจากต่างประเทศ

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เชื่อว่าจะช่วยทำให้ประชาชนแยกแยะได้ว่า สายที่โทรเข้ามาเป็นสายที่โทรมาจากต่างประเทศจะได้ไม่เผลอรับสายที่อาจเป็นสายจากเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ 

โทรศัพท์มาหลอกลวงข้ามประเทศ

กระนั้นก็ตามยังคงเป็น “การบ้านข้อใหญ่ ที่ตำรวจต้องเร่งรัดจัดการให้ราบคาบแม้จะมีฐานบัญชาการอยู่ฝั่งประเทศเพื่อนบ้านเหมือนที่เริ่มประสานงาน นำร่อง กับทางการกัมพูชา

แต่อย่าลืมว่า เครือข่ายคอลเซ็นเตอร์มี กลุ่มนายทุนกระเป๋าหนัก เป็นผู้มีอิทธิพลหนุนหลังใช้เส้นสายทำเจ้าหน้าที่ในประเทศนั้นเกรงใจอยู่ไม่น้อย

ขณะเดียวกันจำเป็นต้องแยกให้ออกว่า คนไทยที่ดั้นด้นไปทำงานอยู่ในแก๊งคอลเซ็นเตอร์เป็น เหยื่อ โดนหลอกบังคับให้เป็นโจร

หรือยอมเป็นโจรเพื่อหวังเงินโบนัสก้อนใหญ่

RELATED ARTICLES