บ่อยครั้งประวัติความผิดติดตัวเป็นชนักติดหลังจนมักลบล้างไม่ออก
ทั้งที่หลายคนถูก “ศาลยกฟ้อง” พิสูจน์ความบริสุทธิ์เรียบร้อยแล้ว กลับทำให้เกิดปัญหาการดำเนินชีวิต เป็นอุปสรรคต่อการหางานทำ
ยิ่งปัจจุบันสังคมให้ความสำคัญต่อการตรวจสอบประวัติของบุคคลมากขึ้น หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน มีความต้องการบุคลากรที่ปราศจากประวัติอาชญากรรมเข้าทำงานในองค์กร หรือบริษัทของตัว
มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบคุณสมบัติต่าง ๆ ที่ประชาชนต้องแสดงผลการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมประกอบในการสมัครงานด้วย
ปรากฏว่า ประชาชนที่เคยมีประวัติถูกฟ้องคดีอาญาแต่ “ศาลยกฟ้อง” จะยังมีประวัติอาชญากรรมอยู่ในฐานข้อมูลของกองทะเบียนประวัติอาชญากร
ทำให้อาจถูกตัดสิทธิ ไม่ได้รับการพิจารณาเข้าทำงาน ขาดโอกาสในการกลับไปใช้ชีวิตใหม่ เฉกเช่นประชาชนคนอื่น
พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เล็งเห็นความสำคัญของเรื่องที่เกิดขึ้นมอบหมายให้ พล.ต.อ.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เร่งศึกษาและแก้ไขด่วน
หวัง “คืนความเป็นธรรม” แก่ “ประชาชนผู้บริสุทธิ์” ให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติสุขได้ในสังคม
เริ่มต้นด้วยการคัดแยก หรือเปลี่ยนแปลงรายการข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรของบุคคลที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติ และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้านการทะเบียนประวัติอาชญากรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้อยู่ในระดับมาตรฐานสากล สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน
มี พล.ต.ท.วีระ จิรวีระ ผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ พล.ต.ต.ฐากูร นิ่มสมบูรณ์ ผู้บังคับการกองทะเบียนประวัติอาชญากร และผศ.ปริญญา เทวนฤมิตรกุล ที่ปรึกษาการทำงานกองทะเบียนประวัติอาชญากร ร่วมกันดำเนินการตรวจสอบข้อมูลตามข้อสั่งการ
พบข้อมูลสถิติ ณ วันที่ 28 เมษายน 2565 มีจำนวนประวัติที่ยังไม่ได้คัดแยกผลคดีกว่า 12.4 ล้านราย
ในจำนวนนี้ พนักงานสอบสวนได้ส่ง “รายงานผลคดีถึงที่สุด” ให้กองทะเบียนประวัติอาชญากรทราบแล้วจำนวน 7.8 ล้านราย
คงเหลือที่พนักงานสอบสวนจะต้อง “รายงานผลคดีถึงที่สุด” เพิ่มเติมอีกจำนวน 4.6 ล้านราย
เป็น “การบ้านข้อใหญ่” ให้ทุกสถานีตำรวจเร่งสำรวจข้อมูลคดีอาญาถึงที่สุดในความรับผิดชอบ มุ่งเน้นการคัดแยกประวัติอาชญากรรมที่เข้าเกณฑ์ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) คดีที่พนักงานอัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง หรือสั่งยุติการดำเนินคดีอาญา ตามระเบียบว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ
(2) ศาลสั่งยกฟ้อง หรือไม่ประทับรับฟ้อง
(3) ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง
ทั้งนี้ตามระเบียบการปฏิบัติของตำรวจได้กำหนดให้นำข้อมูลและลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหามาจัดเก็บลงในฐานข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรไว้ก่อน แม้ต่อมาพนักงานอัยการจะมี “คำสั่งไม่ฟ้อง” หรือ “ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง” จะไม่ได้นำรายชื่อของผู้ต้องหา หรือจำเลยนั้นออกจากทะเบียนประวัติอาชญากรโดยอัตโนมัติ
ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องมายื่นคำร้องต่อกองทะเบียนประวัติอาชญากรเพื่อ “คัดชื่อออกเอง”
เป็นการสร้างภาระให้กับประชาชน
นำไปสู่การเปิดตัวโครงการ “ลบประวัติ ล้างความผิด คืนชีวิตให้ประชาชน” ที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติวางนโยบายไว้
“เพื่อคืนความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติสุขได้ในสังคม โดยการคัดแยกหรือทำลายรายการข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรของบุคคลที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติอาชญากรที่เข้าหลักเกณฑ์ตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้แก่ประชาชน”
ไม่ต้องเดินทางมาร้องขอด้วยตัวเอง
เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จแล้วจะมอบหมายสายตรวจในพื้นที่แจ้งให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของประวัติทราบต่อไป
ถือเป็น “มิติใหม่” ของกองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ