ลูบคมตำนานมือปราบ

 

พล.ต.ต.อังกูร อาทรไผท อดีตผู้บังคับการตำรวจทางหลวง มีเรื่องเล่า “อดสูที่สุดในชีวิต” ฝากเป็นวิทยาทานป้องกันไม่ให้ใครตกเป็นเหยื่อในบทความ “รู้ไว้ไม่ตายโหง” ลงเว็บไซต์ www.angkul007.com

เจ้าตัวว่า  รับราชการทำงานด้านสืบสวนสอบสวนปราบปรามมา 43 ปี เรียกได้ว่าเกือบทั้งชีวิต คดีใหญ่ๆลึกลับซับซ้อนผ่านมาโชกโชน คดีวิสามัญฆาตกรรมทำมาเป็นสิบๆ เคยได้รับโล่ปราบปรามดีเด่นจาก พล.ต.ท.จำรัส จันทรขจร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เมื่อปี พ.ศ.2525

เคยเป็นอาจารย์สอนวิชาการสืบสวนที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ เป็นความภาคภูมิใจในยามเกษียณ

ความภูมิใจเหล่านี้หมดไปกลายเป็นความอดสูแทบจะกระอักเลือดตาย เมื่อถูก “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” หลอกจนเปื่อย เมื่อมานั่งคิดทบทวน

“ทำไมนะ กูถึงโง่เง่าขนาดนี้ ทำไมเชื่อคนง่าย ทำไมไม่ทำโน่น ทำนี่”  

ความคิดเหล่านี้วนเวียนในหัวสมอง เล่าให้ใครฟังก็มีแต่เสียงหัวเราะเยาะ ตอกซ้ำความโง่เขลาหนักเข้าไปอีก

ขอเขียนเป็นวิทยาทาน จะได้ไม่มีคนโง่แบบเขาเป็นรายที่สอง

เขาเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 19  มี พล.ต.ท.พิชัย สุนทรสัจบูลย์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 และอีกหลาย ๆภาค สนิทคุ้นเคยกันเป็นพิเศษ เรียกได้เลยว่าเป็น “เพื่อนรัก”  โทรหาคุยกันอยู่บ่อย ๆ จนคุ้นเคยกับเสียง

เมื่อวันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม 2565 เวลาประมาณ 17.00 น.กำลังนอนหลับ เสียงโทรศัพท์ปลุก เสียงคุ้นมาก เป็นเสียงของเพื่อนพิชัยนี่เอง

“อังกูร เราพิชัยนะ เปลี่ยนเบอร์ใหม่แล้ว ใช้เบอร์ที่โทรมานี่ เมมไว้นะ” เสียงเราตอบไปอ้อๆแอ้ๆเพราะเพิ่งตื่นนอนเนื่องจากเสียงโทร “เออๆ”

ผู้โทรเข้ามา “อ้าว เป็นไร ไม่สบายหรือเปล่า”

ตอบ “เปล่าๆ กำลังนอน”

“เออๆ ไม่กวนแล้ว” มันเป็นเสียงของพิชัยเพื่อนรัก ลุกขึ้นมาเมมเบอร์ใหม่ไว้ 062 764 8915 ใส่ดอกจันทร์ให้รู้ว่าเป็นเบอร์ใหม่ของเพื่อน แต่ไม่ได้ลบเบอร์เก่าทิ้ง

สายวันรุ่งขึ้น เสียงโทรศัพท์จากเบอร์ใหม่ของพิชัยดังขึ้น รับสาย เสียงพิชัยนี่ แต่รุกรนเหมือนตกอยู่ในเหตุการณ์ “อังกูร เดือดร้อน รบกวนหน่อย” ได้ยินคำว่ารบกวนนี่สะกิดต่อมเลย คำพูดนี้ยืมตังค์ลูกเดียว เสียงจากเบอร์ใหม่ของพิชัยพูดต่อ

พิชัยตัวปลอมอ้าง  “โทรศัพท์หาย ช่วยโอนเงินให้ด้วย เดี๋ยวซื้อโทรใหม่ ลงแอปแล้วเดี๋ยวโอนคืนให้ ตังค์มีอยู่ในธนาคาร”

อังกูรตอบว่า  “ไปที่ศูนย์การค้าซี เปิดวันหยุด ถอนสดได้เลย”

พิชัยตัวปลอมบอก “ธนาคารนัดบ่าย 3 จะซื้อโทรศัพท์ก่อน โอนเงินให้หน่อย 26,000 เดี๋ยวบ่ายสามโอนใช้ให้ ตังค์มี” มันน่าจะฉลาดตั้งแต่ตอนที่บอกมาว่า ธนาคารนัดบ่ายสาม มันเป็นไปไม่ได้ การเบิกเงินสามารถทำได้เลยในช่วงเปิดทำการ ธนาคารตามศูนย์การค้าเปิดทำการทั้งวัน แต่เพราะความโง่ไง

จดเบอร์บัญชีนะ ธนาคารกรุงเทพ 980 408 6339 ชื่อ สมศักดิ์ มีบุญ นึกว่า คงเป็นบัญชีของคนขายเครื่องโทรศัพท์ รีบโอนไปโอนให้เรียบร้อย พอบอกโอนเสร็จ เสียงจากเบอร์พิชัยเบอร์ใหม่เข้ามารัวๆ “ขออีก 50,000 เดี๋ยวบ่ายสามโอนกลับให้”

อังกูรว่า  “ไม่มี เหลือติดบัญชีอีก 20,000”

พิชัยตัวปลอมยืนกราน  “20,000 ก็ได้ บอกเบอร์บัญชีอังกูรมาด้วย เดี๋ยวโอนกลับ”

อังกูรโอนเสร็จ ส่งสลิปไปทางไลน์

ความโง่ค่อยจางลง เอ๊ะเพื่อนว่าโทรศัพท์หาย แต่เราส่งสลิปโอนเงินเข้าไลน์เครื่องเก่าได้นี่ แสดงว่าโทรเก่ายังเปิดอยู่ (ฉลาดขึ้นมานิดนึง) รีบโทรผ่านไลน์เครื่องเก่าของพิชัย เสียงพิชัยรับ เรารีบพูดสวนทันที “โอนเงินไปให้เรียบร้อยแล้วนะ 2 ครั้งรวม 46,000”

พิชัยตัวจริงสวนกลับ “เฮ้ย.. เราจะยืมเงินไปทำไม โทรศัพท์ก็ไม่ได้เปลี่ยน ยังใช้เบอร์เดิม”

สติมา ปัญญาเกิด หลังจากเสียเงินไป 46,000  ใจดีสู้เสือ โทรคุยกับพิชัยตัวปลอมเพื่อจะบันทึกเสียง

ถาม “ เฮ้ย.. พิชัยนามสกุลอะไรเนี่ย เรามีเพื่อนชื่อพิชัยหลายคน” (พิชัยตัวปลอมตอบไม่ได้)

พิชัยตัวปลอมอึกอัก “จำเสียงเราไม่ได้เหรอ” แต่ไม่ยอมตอบนามสกุล

อังกูรรุกต่อ “พิชัยเมียสบายดีเหรอ” เมียพิชัยชื่อ คุณต้อย รู้จักชอบพอกันดี และพิชัยมีภรรยาเดียว

พิชัยตัวปลอมติดตลก “เมียคนไหนล่ะ มีหลายคน”

อังกูรลองภูมิ  “เมียหลวง เมียแต่งอ่ะ”

พิชัยตัวปลอมอึกอักเมื่อผมถามชื่อเมีย คาดคั้นอยู่นานบอกมาว่า “เมียชื่อ ติ๋ม”

หูตาสว่าง รู้ตัวว่า ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอก เตรียมคำด่าไว้เต็มที่ ปรากฏว่า พิชัยตัวปลอมวางสาย ปิดเครื่อง

อ่านดู ทำไมผมถูกหลอกง่ายเช่นนั้น ตอบได้เลย

  1. เสียงเหมือน เป็นเสียงที่คุ้นเคยเพราะพูดกันประจำ
  2. สมเหตุสมผล แจ้งเบอร์ใหม่ให้ทราบแล้วทิ้งระยะวันนึง แล้วเริ่มปฏิบัติการ
  3. ไปศูนย์การค้าเพื่อจะซื้อเครื่องโทรศัพท์ใหม่ (เป็นเรื่องที่เป็นไปได้)
  4. โอนเงินใส่บัญชีผู้อื่น ทำให้คิดว่า คงจะเป็นเบอร์ของคนขายโทรศัพท์
  5. พิชัยเป็นคนมีตังค์ ยืมเป็นล้านๆก็จ่ายคืนได้ แต่เพราะมีเหตุจำเป็น เงินแค่นี้จึงไม่ได้ซักมาก

ปัญญาเกิดตอนไหน

  1. ผมกับพิชัยมีไลน์กันอยู่ สามารถส่งสลิปโอนเงินเข้าไลน์ได้ แสดงว่า เครื่องเก่ายังเปิดใช้
  2. โทรผ่านไลน์ความจริงจึงปรากฏ

ข้อที่น่าคิด

  1. ทำไมคนร้ายรู้ว่า ผมกับพิชัยสนิทกัน
  2. รู้เบอร์โทรศัพท์ของเราสองคนได้อย่างไร
  3. คนร้ายเลียนเสียงพูด สำเนียง จังหวะการพูด สไตล์การพูด และเสียงหัวเราะ ได้เหมือนจริง ๆ คงหาข้อมูลและทำการบ้านเยอะพอสมควร

สรุป ท่านที่ได้อ่านบทความนี้แล้วอย่าโง่เหมือนผมนะ

กระนั้นก็ตาม สิ่งที่ตำนานมือปราบอย่าง พล.ต.ต.อังกูร อาทรไผท สัมผัสได้โดยตรง คือ ระบบการจัดการกับแก๊งหลอกลวงคอลเซ็นเตอร์ของเมืองไทยยังใช้ไม่ได้

พูดง่ายๆ “ไม่เวิร์ก”

1.โทรไปที่ศูนย์ปราบปรามไซเบอร์ เป็นเครื่องรับโทรศัพท์แบบอัตโนมัติ เป็นภาษาต่างประเทศ ให้ฝากข้อความไว้ (งานคงจะมากจนเจ้าหน้าที่ทำไม่ไหว)

2.โทรไปที่เบอร์หัวหน้าหน่วย ไม่มีการตอบรับ

3.โทรไปที่ศูนย์ AIS มีช่องให้กรอกข้อความแล้ว เจ้าหน้าที่จะประสานกลับ

4.นักถึงเพื่อนเก่า คุณบรรจงชงข่าว ผู้โด่งดังในการรับร้องทุกข์ แก้ปัญหาชาวบ้านทำได้แค่กรอกรายละเอียดลงในแอปพลิเคชัน

มีความรู้สึกว่าหน่วยงานของรัฐไม่สู้จะจริงจังในเรื่องนี้ ก็แน่ละซี เป็นเรื่องที่มึงโง่เอง

ในที่สุดก็ไปจบที่ตำรวจท้องที่ ตรงรี่ไปโรงพักประเวศ นายร้อยตำรวจเอกเข้าเวรสอบสวน ดีใจหายระบายหมด

“ท่านครับ หน่วยปราบไซเบอร์เขาไม่ทำละครับ มันเยอะ โยนมาให้ท้องที่หมด และไม่ต้องรีบร้อน เงินไปหมดแล้ว คงจะได้แต่แพะ”

คือ ผู้ที่ถูกหลอกให้ไปเปิดบัญชี

RELATED ARTICLES