ว่าด้วยการแย่งงานสอบสวน

อำนาจการสอบสวนส่งกลิ่นตลบอบอวลที่เหล่าคนนอกหน่วยหมายปองจะแย่งชิงมันไปจากองค์กรพิทักษ์สันติราษฎร์

ด้วยการ “ยื่นบาป” ความไม่ยุติธรรมในการทำสำนวนบางคดีเป็นประเด็นร้อนที่ต้องเข้าสู่ขั้นตอนการผ่าร่างโครงสร้างตำรวจอย่างเร่งด่วน

เวทีราชดำเนินเสวนาหัวข้อ “ปฏิรูปงานสอบสวนให้กระบวนการยุติธรรมกับประชาชน” ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยจัดขึ้นเมื่อวันก่อน มีตัวแทนจากคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจเข้าร่วมรับฟัง

ความเห็นของ พล.ต.ต.มนตรี ยิ้มแย้ม รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลบอกว่า งานด้านอำนวยความยุติธรรม หรือการสอบสวนนั้นพนักงานสอบสวนต้องหาพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาประกอบในการทำคดี เป็นงานที่หนักมาก และไม่มีผู้ช่วย

พล.ต.ต.มนตรียอมรับว่า จากข้อมูลที่รวบรวมได้พบว่า พนักงานสอบสวนมีความกดดันสูงในการทำคดี เพราะตามกฎหมาย ป.วิอาญาระบุว่า พนักงานสอบสวนจะต้องดำเนินการส่งฟ้องภายใน 6 เดือน หากดำเนินการไม่ทันจะต้องโดนตั้งกรรมการสอบสวน

จากสถิติพบว่า ปี 2559 มีคดีที่ตำรวจดำเนินคดีประกอบด้วย คดีอาวุธปืนสูงสุด 200,000 กว่าคดี รองลงมาเป็นคดียาเสพติด และคดีจราจร ทำให้พนักงานสอบสวนไม่มีจำนวนเพียงพอในการทำคดี

ดังนั้นการแยกงานสอบสวนไป รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลยืนยันว่า ไม่ได้ทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดีขึ้นหรือเลวลง แล้วใครจะช่วยพนักงานสอบสวน หากจะแยกก็ควรจะตั้งหน่วยงานขึ้นมาช่วย หรือหากคนไม่ไว้ใจตำรวจ รัฐบาลอาจอาจจะจัดผู้มีความรู้มาช่วยพนักงานสอบสวนที่โรงพัก รวมทั้งมีทนายสาธารณะประจำที่โรงพักเพื่อช่วยหรือประชาชน

“ถ้าการปรับปรุงตำรวจทำได้ก็ถือว่าดี” พล.ต.ต.มนตรีว่า “แต่หากทำไม่ได้ต้องมีหน่วยงานเพิ่มเติม ที่ปัจจุบันมีกรมสอบสวนพิเศษแล้ว ตามความเห็นของผมมองว่า อยากให้มีหน่วยของกรมสอบสวนคดีพิเศษทุกจังหวัด หากตำรวจทำไม่ได้ก็ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษทำ”

การจะให้ตำรวจทำอย่างเดียวผลกระทบก็จะตกอยู่กับประชาชน เพราะตำรวจจะมีงานที่หนักมาก

วงเสวนาครั้งนี้ พล.ต.ต.มนตรียังเสนอว่า ฝ่ายปกครองสามารถทำงานสอบสวนได้เช่นกันจะทำให้ประชาชนมีทางเลือก 3 ทาง ทั้งตำรวจ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และฝ่ายปกครอง ให้ประชาชนเลือกใช้อย่างใดอย่างหนึ่งจะเป็นประโยชน์มากกว่า

อยู่ที่ว่าฝันจะเป็นหมันหรือเปล่า !!!

RELATED ARTICLES