มีแฟนคลับส่งมาระบายอารมณ์ตามเสียงเพลง
“…อยากจะฟังฉันบ้างไหม เรื่องเหลวเรื่องไหล ใครได้ฟังก็คงหัวเราะร่า…” บทเพลง “เรื่องตลก” ในตำนานของ วงเฉลียง ที่ขับร้องโดย คุณวัชระ ปานเอี่ยม นักร้องอารมณ์ดี แต่เสียดสีแบบร้ายลึก
ฟังแล้วเจ็บแสบแสนสาหัสลองมาฟังเรื่องตลกกันครับ
“เรื่องตลก” แรกอายุไม่เกินร้อยปีก่อน มียอดตำรวจคนหนึ่งชื่อ “ขุนพันธรักษ์” เป็นมือปราบชื่อดัง ปราบปรามเสือฝ้าย เสือหวัด เสือใบ เสือดำ สารพัดเสือ ในยุคร้อยปีก่อนอย่างดุดัน ดุดันแค่ไหนไม่ทราบ แต่ถ้าดูตามภาพยนตร์ไทยซึ่งอาจเสริมแต่งจะเห็นว่าเป็นยุคปราบปราม “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” แต่เอาบรรดา “สารพัดเสือ” อยู่
เป็นที่ถูกใจและเป็น “ต้นตำรับ” ให้เหล่าตำรวจ “ยุคอัศวินแหวนเพชร”พอสมควร
“เรื่องตลก” ต่อมาไม่เกินห้าสิบปีก่อนมีมือปราบอีกท่านชื่อ “ชลอ เกิดเทศ” จับสารพัดโจรร้ายชุกชุม แต่สุดท้ายของชีวิตถูกศาลตัดสินประหาร แม้ปัจจุบันจะพ้นโทษเนื่องจากชรามากแล้ว แต่ก็ยังเป็น “ตำนาน”ในแวดวงกระจอกข่าว รวมถึง “บทเรียน” ด้านมือปราบ และด้านผิดโทษในการทำงานของตำรวจรุ่นหลัง
ท้ายสุดไม่ต้องไปยกอดีตที่ผ่านมาเปรียบ มาลองดู พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พุทธศักราช 2565 ที่เพิ่งคลอดออกมา
รายละเอียดตามกฎหมายคงแก้ไขอะไรไม่ได้ เพราะมูลเหตุเริ่มจากการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลที่อ้างว่า เป็นเจ้าหน้าที่ใช้พฤติกรรม “อุ้มคนขึ้นรถ” แล้วประกาศศักดาว่า “ข้าคือเจ้าหน้าที่” แล้ว “หิ้วคนหายสาบสูญไป” จนเป็นที่มาของกฎหมายฉบับนี้
กฎหมายออกแล้วเหตุผลความจำเป็นก็อยู่ในหน้าแรกๆ ของตัวพระราชบัญญัติที่กำลังจะเป็น “เรื่องตลก ”คือ แนวทางการปฏิบัติตามกฎหมายโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหายตามนิยาม มาตรา 3 และระเบียบที่จะออกโดยผู้เกี่ยวข้องทั้งอัยการและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
การตีความตาม มาตรา 5 มาตรา 6 และมาตรา 7 ที่มีบทกำหนดโทษกับเจ้าหน้าที่ อันนี้ไม่น่าห่วง เพราะแท้จริงแล้วก็มีบทกำหนดโทษตามประมวลกฎหมายอาญาอยู่
น่าห่วง คือ วิธีปฏิบัติตามมาตรา 22 และมาตรา 23 ที่ว่าด้วยขั้นตอนการปฏิบัติในขณะจับกุมและการควบคุมตามลำดับ
หากดูที่มาของกฎหมายการบังคับให้บันทึกภาพ ควรสิ้นสุดที่การนำตัวผู้ถูกจับและควบคุมไปลงประจำวันที่สถานีตำรวจพื้นที่จับกุม น่าจะถือได้ว่า เป็นการแสดงความบริสุทธิใจของเจ้าหน้าที่ เป็นการป้องกันสิทธิและการสูญหายของผู้จับกุมและควบคุมตามมาตรา 22 ได้ส่วนหนึ่งแล้ว
แต่การตีความแบบขยายความตามมาตรา 23 ไปจนถึงการควบคุมหลังจากลงประจำวันแจ้งการจับแล้ว จะเป็นภาระในด้านเอกสารให้แก่ทุกขั้นตอน สิบเวรที่เป็นระดับปฏิบัติในสถานีจะโดนวินัยอีกหลายคน
ถ้าจะตีความบังคับกันขนาดนี้คงต้องให้ “เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์” ทำเอกสารตามความนี้ด้วย
นอกจากนี้ยังตีความให้ต้องทำสำเนาข้อมูลแบ่งเก็บไว้เองและส่วนหนึ่งส่งให้พนักงานสอบสวนจะมีคำถามว่า ใครจะรับผิดชอบในการออกค่าใช้จ่าย ในการทำสำเนา ค่าฮาร์ดดิสก์ ค่าทัมไดร์ฟ การควบคุม รวมถึงระยะเวลาในการจัดเก็บอย่างน้อย 1 ปี หรือจนกว่าคดีจะเสร็จสิ้น
ผู้ถูกจับจะไม่ทราบถึงสิทธิของตนหรือ ในเมื่อมีการแจ้งตั้งแต่วันที่จับแล้ว ระยะเวลาเพียง 90 วันไม่เพียงพอหรือจึงต้องรอให้ผ่านไป 1 ปี แล้วจะมาร้องทุกข์ว่า “โดนละเมิด”
หรือเป็น “เรื่องตลกร้าย” สำหรับผู้ปฏิบัติ เช่น พนักงานสอบสวนยังต้องซื้อคอมพิวเตอร์ทำงานเอง กล้องและฮาร์ดดิสก์ที่สำรองซื้อไปก่อน เพราะกฎหมายบังคับแล้ว
ไม่รู้เมื่อไรจะเบิกคืนได้
หรือเพื่อจะ “ขายความจุข้อมูล” ในการสำรองเก็บข้อมูลโดย “ผู้รับเหมา” ของภาครัฐ ไม่สนองนโยบายรัฐบาล 4.0 ที่ทำให้ทุกอย่างง่ายไวโปร่งใสตรวจสอบได้
เป็น “เรื่องตลก และ…อย่าไปฟังเป็นเรื่องราวว่า มีอะไรข้างใน แค่เพียงฟังให้เพลินก็พอ…”