อย่าเพิ่งตกใจกับหัวข้อที่ส่อให้คิดว่าเป็นการ “ปล่อยผีโจรผู้ร้าย”
แท้จริงเป็นการ “อัปเดต” ระบบฐานข้อมูลการกระทำความผิดไม่ให้ติดชนักแก่ชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ เนื่องจากบางรายเกิดปัญหาชื่อค้างอยู่ในทะเบียนประวัติอาชญากร เป็นเหตุให้ถูก “ล็อกตัว” หรือส่งผลกระทบระหว่างไปสมัครทำงาน
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ถึงได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นแม่งานร่วมกับ พล.ต.ต.กิตติพันธุ์ จุนทรการ รองผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
แถลงข่าวการเปลี่ยนแปลงระบบทะเบียนประวัติอาชญากรรมเพื่อคุ้มครองผู้บริสุทธิ์ ขับเคลื่อนโครงการ “ลบประวัติ ล้างความผิด คืนชีวิตให้ประชาชน”
ปรับปรุงระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ พุทธศักราช 2566
ด้วยปัจจุบันสังคมให้ความสำคัญต่อการตรวจสอบประวัติของบุคคลมากขึ้น หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชนมีความต้องการบุคคลที่ปราศจากประวัติอาชญากรรมเข้าทำงานในองค์กร/บริษัทของตัวเอง
ทำให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบคุณสมบัติต่าง ๆ ที่ประชาชนต้องแสดงผลการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมประกอบในการสมัครงาน
ปรากฏว่า หลายคนเคยมีประวัติถูกฟ้องคดีอาญา แต่ “ศาลยกฟ้อง” ยังมีประวัติอาชญากรรมอยู่ในฐานข้อมูลของกองทะเบียนประวัติอาชญากร ทำให้อาจ “ถูกตัดสิทธิ์” ไม่ได้รับการพิจารณาเข้าทำงาน
ขาดโอกาสในการกลับไปใช้ชีวิตใหม่เฉกเช่นประชาชนคนอื่น
กองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจได้เร่งศึกษาและแก้ไขระเบียบเพื่อคืนความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติสุขได้ในสังคม
ขณะเดียวกันยังเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้านการทะเบียนประวัติอาชญากรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้อยู่ในระดับมาตรฐานสากล สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน
ล่าสุดสำนักงานตำรวจแห่งชาติประกาศใช้ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ พุทธศักราช 2566 เมื่อ 27 เมษายน 2566 มีผลบังคับใช้แล้ว เมื่อ 27 พฤษภาคม 2566
จากเดิมตามระเบียบการปฏิบัติของตำรวจได้กำหนดให้นำข้อมูลและลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหามาจัดเก็บลงในฐานข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรไว้ก่อน แม้ต่อมาพนักงานอัยการจะมี “คำสั่งไม่ฟ้อง” หรือศาลมี “คำพิพากษายกฟ้อง” ก็ไม่ได้นำรายชื่อของผู้ต้องหา หรือจำเลยนั้นออกจากทะเบียนประวัติอาชญากรโดยอัตโนมัติ
ขณะที่สถานีตำรวจเจ้าของคดีไม่ได้รายงานผลคดีมายังกองทะเบียนประวัติอาชญากรเพื่อคัดชื่อออก ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน
กลายเป็นที่มาของโครงการ “ลบประวัติ ล้างความผิด คืนชีวิตให้ประชาชน”
แก้ไขปรับปรุงการจัดเก็บประวัติบุคคลออกเป็น 3 ทะเบียน ได้แก่
ทะเบียนประวัติผู้ต้องหา คือข้อมูลบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญา แต่ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล หรือฟ้องต่อศาลแต่คดียังไม่ถึงที่สุด ห้ามเปิดเผย เว้นแต่ใช้เพื่องานสืบสวนสอบสวน งานสำนักพระราชวัง งานสมัครเข้ารับราชการ
ทะเบียนประวัติผู้กระทำความผิดที่มิใช่อาชญากร คือ ข้อมูลบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิด โดยศาลลงโทษ จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือรอการลงโทษ หรือมีเพียงโทษปรับ หรือกักขัง รวมถึงกระทำผิดโดยประมาท ห้ามเปิดเผยทั่วไปเว้นแต่ใช้เพื่องานสืบสวนสอบสวน งานขออนุญาตตามที่กฎหมายกำหนด
ทะเบียนประวัติอาชญากร คือ ข้อมูลบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิด โดยศาลลงโทษ จำคุกเกินกว่า 1 เดือนขึ้นไป โดยไม่รอการลงโทษ ยกเว้นการกระทำผิดโดยประมาท
รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์ในการลบ หรือถอนประวัติอาชญากรของบุคคลที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติอาชญากร ให้สอดคล้องกับ “หลักสิทธิมนุษยชน”
เมื่อมีการแบ่งทะเบียนในการจัดเก็บข้อมูลตามระเบียบใหม่จะสามารถลบล้างรายชื่อบุคคลในทะเบียนประวัติอาชญากรได้แล้วกว่า 10,000,000 คน
เหลือเพียง 3,708,359 คนที่คดียังไม่สิ้นสุด
เป็นการคืนสิทธิให้ประชาชนอย่างแท้จริง