ผ่านมาแล้ว 14 ปี สันติสุขในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงรอคอยความหวัง
หลังจากเหตุการณ์ป้นปืนค่ายกองพันทหารพัฒนาที่ 4 อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส อุบัติขึ้นเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547
ชุดชนวนความรุนแรงดินแดนด้ามขวานประเทศมาถึงทุกวันนี้
สูญเสียงบประมาณและกำลังพลรวมถึงผู้บริสุทธิ์ไปจำนวนไม่น้อย
ข้อมูลสถิติที่ “สำนักข่าวอิศรา” รวบรวมไว้ระบุว่า นับตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 ถึงวันที่ 28 ธันวาคม 2560 พบความรุนแรงทุกประเภทเกิดขึ้นแล้วทั้งสิ้น 15,164 เหตุการณ์ แยกเป็น การก่อความไม่สงบ หรือคดีความมั่นคง 9,823 เหตุการณ์ อาชญากรรมทั่วไป หรือความขัดแย้งส่วนตัว 3,982 เหตุการณ์ และยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด 1,359 เหตุการณ์
แยกเฉพาะความรุนแรงที่เกิดจากการก่อความไม่สงบเป็นคดีความมั่นคง
ประกอบด้วย โจมตีฐานที่ตั้งของเจ้าหน้าที่ 41 เหตุการณ์ ซุ่มโจมตี 191 เหตุการณ์ ยิงด้วยอาวุธปืน 4,235 เหตุการณ์ ระเบิด 3,439 เหตุการณ์ วางเพลิง (เผาโรงเรียน / ส่วนราชการ / บ้านเรือน / ตู้โทรศัพท์ ) 1,505 เหตุการณ์ ฆ่าด้วยวิธีทารุณ (ตัดคอ / เผา) 92 เหตุการณ์ ประสงค์ต่ออาวุธ 176 เหตุการณ์ ชุมนุมประท้วง 65 เหตุการณ์ ทำร้าย 48 เหตุการณ์ และอื่นๆ 31 เหตุการณ์
ไม่นับรวม “เหตุก่อกวน” เช่น ยิงรบกวน, ขว้างระเบิดเพลิง, เผายางรถยนต์, โปรยตะปูเรือใบ, ตัดต้นไม้ขวางถนน หรือถอดนอตรางรถไฟ มีถึง 3,542 เหตุการณ์
ทั้งนี้จากเหตุคดีความมั่นคงทั้งหมดมียอดผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 3,949 คน บาดเจ็บ 10,501 คน
จำแนกตามสถานะบุคคล มี ตำรวจ เสียชีวิต 384 นาย บาดเจ็บ 1,574 นาย ทหาร เสียชีวิต 570 นาย บาดเจ็บ 2,701 นาย ครู เสียชีวิต 109 คน บาดเจ็บ 130 คน พนักงานการรถไฟ เสียชีวิต 5 คน บาดเจ็บ 42 คน ผู้นำท้องถิ่น เสียชีวิต 239 คน บาดเจ็บ 167 คน ผู้นำศาสนา เสียชีวิต 21 คน บาดเจ็บ 24 คน ประชาชน เสียชีวิต 2,557 คน บาดเจ็บ 5,856 คน คนร้าย เสียชีวิต 64 คน บาดเจ็บ 7 คน
“สำนักข่าวอิศรา” สะท้อนให้เห็นด้วยว่า กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงมากที่สุด คือ ประชาชนทั่วไป รองลงมาคือ ทหาร ตำรวจ ผู้นำท้องถิ่น และ ครู
ส่วนงบประมาณที่ใช้ในแต่ละปีเพื่อแก้ไขความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ละลายไปแล้วกว่า 3 แสนล้านบาท
เริ่มตั้งแต่ ปี 2547 – 13,450 ล้านบาท ปี 2548 – 13,674 ล้านบาท ปี 2549 – 14,207 ล้านบาท ปี 2550 – 17,526 ล้านบาท ปี 2551 – 22,988 ล้านบาท ปี 2552 – 27,547 ล้านบาท ปี 2553 – 16,507 ล้านบาท ปี 2554 – 19,102 ล้านบาท ปี 2555 – 16,277 ล้านบาท ปี 2556 – 21,124 ล้านบาท ปี 2557 – 25,921 ล้านบาท ปี 2558 – 25,744.3 ล้านบาท ปี 2559 – 30,886.6 ล้านบาท ปี 2560 – 12,692 ล้านบาท (เฉพาะงบแผนงานบูรณาการฯ)
ล่าสุด ปี 2561 ตั้งไว้ 13,255.7 ล้านบาท (เฉพาะงบแผนงานบูรณาการฯ)
รวมทั้งสิ้น 290,901.6 ล้านบาท
ขณะที่ตำรวจ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กลับสู่สถานะเดิมที่ต้องไปเกาะแบ่งงบกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ภายหลังฉากอวสาน ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้
กลายเป็นยิ่งกว่า “ลูกเมียน้อย” คอยหาเศษเงินและขวัญกำลังใจทำงานเอง
โดยที่ยังไม่มีใครรู้ว่าต้องผลาญงบประมาณ และชีวิตกำลังพลอีกเท่าไหร่
ไฟใต้ถึงมอดดับลง