ตำรวจ ปอท.เปิดปฏิบัติการ CIB Anti Online Scam

ตำรวจ ปอท. เปิดปฏิบัติการ“CIB Anti Online Scam”ทลายเครือข่ายแอพเงินกู้เงินออนไลน์ดอกเบี้ยโหด เข็คเส้นทางการเงินพบหมุนเวียนกว่า 500 ล้านบาท

วันที่ 15 พ.ย.66 ที่ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชากาตำรวจสอบสวนกลาง, พร้อมด้วย พล.ต.ต.อธิป พงษ์ศิวาภัย ผู้บังคับการ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกียวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ต.อ.พิเชษฐ์ คำภีรานนท์ ผู้กำกับการ3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกียวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ต.อ.ภาดล จันทร์ดอน ,พ.ต.อ.สัณห์เพ็ชร หนูทอง ผู้กำกับการสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกียวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี, พ.ต.ท.เสริมศักดิ์ น้อยหัวหาด รองกำกับการสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกียวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี, ร่วมแถลงผลปฏิบัติการ “CIB Anti Online Scam” ปราบเครือข่ายหลอกกู้เงินออนไลน์ เข้าตรวจค้นเป้าหมาย 23 จุด ในพื้นที่ 10 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพฯ นนทบุรี ชลบุรี ปทุมธานี นครราชสีมา ปราจีนบุรี อยุธยา สมุทรปราการ ชุมพร และตรัง

สามารถจับกุม ผู้ต้องหาขบวนการดังกล่าวได้จำนวน 13 ราย เป็นผู้ต้องหาระดับสั่งการ 2 ราย คือ น.ส.ยุวธิดา พึ่งพิพัฒน์ อายุ 37 ปี และนายวีรยุทธ พงษ์ภานุวัฒน์ อายุ 37 ปี ตามหมายจับศาลอาญา ข้อหา “ร่วมกันทุจริตหรือหลอกลวงโดยการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ, ร่วมกันประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาต, เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด, ร่วมกันทวงถามหนี้ในลักษณะข่มขู่ใช้ความรุนแรง และ ความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ” ส่วนที่เหลืออีก 11 รายเป็นผู้ต้องหาในกลุ่มบัญชีม้า นอกจากนี้ยังได้ตรวจยึดของกลาง จำพวก สมุดบัญชีธนาคารต่างๆ โทรศัพท์มือถือ โน้ตบุ๊ค, แท็ปเล็ต, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ รวม 52 รายการ

พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวว่า เนื่องจากสืบทราบว่า ผู้ต้องหากลุ่มนี้ มีพฤติกรรมลักลอบปล่อยสินเชื่อหรือเงินกู้นอกระบบผ่านแอพพลิเคชั่นออนไลน์ต่างๆที่จัดทำขึ้นมา ซึ่งผู้ที่สนใจจะกู้เงิน จะต้องลงทะเบียนเปิดใช้งานแอพพลิเคชั่น ยอมให้เข้าถึงข้อมูลส่วนตัวในโทรศัพท์มือถือ ไม่ว่าจะเป็น รายชื่อเบอร์โทรศัพท์, รูปภาพ, กล้อง, ตำแหน่งที่ตั้ง (GPS) และไมโครโฟน รวมถึงต้องกรอกข้อมูลชื่อสกุล, ที่อยู่, ที่มารายได้, ชื่อผู้ติดต่อ, เลขที่บัญชีเงินฝาก, ภาพบัตรประชาชนคู่กับใบหน้า รวมถึงเบอร์โทรศัพท์เพื่อรอรับรหัสยืนยัน (OTP) ให้กับผู้ต้องหากลุ่มนี้ จึงจะสามารถทำเรื่องยื่นขอเงินกู้ได้

พล.ต.ต.อธิป กล่าวว่า เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนการลงทะเบียนยื่นเรื่องกู้เงินแล้วนั้น ลูกหนี้จะได้รับเงินเพียงร้อยละ 55 ของยอดเงินกู้ทั้งหมด แต่จะต้องคืนเงินเต็มจำนวนของยอดกู้ภายในระยะเวลา 6 วัน หากคำนวนเป็นอัตราดอกเบี้ยแล้ว คิดเป็นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อวันหรือ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 225 ต่อเดือน หรืออัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2,737.5 ต่อปี นอกจากนี้ยังมีบางรายมียอดเงินที่ตนเองไม่กู้ ถูกโอนเข้ามาในบัญชีแล้วถูกบังคับให้ต้องชำระยอดเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยในส่วนนี้เพิ่มอีกด้วย

พล.ต.ต.อธิป กล่าวต่ออีกว่า หากลูกหนี้รายใด ไม่สามารถชำระเงินกู้ที่กู้ยืมไว้ได้ จะถูกโทรศัพท์ข่มขู่ ด่าทอด้วยถ้อยคำหยาบคาย หรือมีโทรศัพท์ติดต่อไปยังพ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อนร่วมงาน พร้อมส่งข้อความทาง SMS แนบรูปภาพตัดต่อใบหน้าของผู้เสียหายไปให้ เพื่อทำให้เข้าใจว่าผู้เสียหายเป็นผู้จำหน่ายเสพติด หรือค้าประเวณี สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้เสียหายเป็นอย่างมาก ที่ผ่านมามีผู้ตกเป็นเหยื่อหลายราย ก่อนมีการรวมกลุ่มเข้าร้องขอความช่วยเหลือกับทาง กก.3 บก.ปอท. จนมีการสืบสวนตรวจสอบข้อเท็จจริง

พ.ต.อ.พิเชษฐ์ กล่าวว่า จากการสืบสวนพบว่ามีการทำกันเป็นขบวนการ อีกทั้งยังพบว่า ระบบของแอปฯ เหล่านี้ จะมีการโฆษณาเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ง่าย รวมถึงมีการให้ข้อมูลอันเป็นเท็จเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ มีการกำหนดการผ่อนชำระเงินกู้ในลักษณะที่เป็นการบิดเบือนและอำพราง เพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อ แต่ในความเป็นจริงแล้วจะเป็นการคิดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

“จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินพบว่ามีบัญชีธนาคารที่ถูกใช้ในการโอนเงินกู้ให้ผู้เสียหายจำนวน 6 บัญชี และมีบัญชีธนาคารที่ใช้รับโอนเงินคืนจากผู้เสียหาย จำนวน 6 บัญชี ซึ่งเงินในบัญชีเหล่านี้จะถูกโอนต่อไปยังบัญชีอื่นๆ อีกกว่า 100 บัญชี หลังจากนั้นจะมีการถ่ายโอนเงินไปให้กับผู้รับผลประโยชน์รายใหญ่ จำนวน 2 ราย คือ น.ส.ยุวธิดา กับ นายวีรยุทธ โดยเงินจะถูกหมุนเวียนในบัญชีธนาคารต่างๆ ภายใต้ชื่อเดียวกันกว่า 30 บัญชี และจะมีการโอนเงินไปยังบัญชีต่างๆ ของธนาคารในประเทศไทยกว่า 50 บัญชี โดยใช้ชื่อบัญชีเป็นชาวรัสเซีย, เมียนมา, จีน และไทย เป็นต้น ซึ่งจากการตรวจสอบเส้นทางการเงินของขบวนการหลอกลวงให้กู้เงินออนไลน์ทั้งขบวนการนี้ พบว่ามียอดเงินหมุนเวียนกว่า 500 ล้านบาท จึงรวบรวมพยานหลักฐานขออำนาจศาลออกหมายจับ จนนำมาสู่การเปิดปฏิบัติการเข้าตรวจค้นจับกุมตัวผู้ต้องหาทั้ง 13 รายดังกล่าว” ผกก.3 บก.ปอท. กล่าว

 

พ.ต.อ.สัณห์เพ็ชร กล่าวว่า จากการสอบสวน ผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธ แต่ทางเจ้าหน้าที่ไม่ปักใจเชื่อ เบื้องต้นจะนำตัวผู้ต้องหาทั้งหมด ส่งพนักงานสอบสวน กก.3 บก.ปอท. ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป

พ.ต.อ.ภาดล กล่าวว่า สำหรับแพลตฟอร์มแอพพลิเคชั่นเงินกู้ต่างๆเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นแอพสำเร็จรูป พัฒนาและสร้างขึ้นมาจากประเทศจีนในลักษณะของแอพเถื่อนผิดกฎหมาย นายทุนเหล่านี้จึงมักสั่งซื้อมาเพื่อนำมาเปิดใช้เป็นแพลตฟอร์มของตนเอง

RELATED ARTICLES