ตำรวจCIB เปิดปฏิบัติการ “ปิดเมืองนราฯ ล่า SIM BOX ตัดเครื่องมือ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ชายแดนใต้”

วันที่ 27 ม.ค.67 พล.ต.ท. จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. พร้อมด้วย พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม รอง ผบช.ก. พล.ต.ต.อธิป พงษ์ศิวาภัย ผบก.ปอท. พ.ต.อ.พรศักดิ์ เลารุจิราลัย , พ.ต.อ.เผด็จ งามละม่อม รอง ผบก.ป., พ.ต.อ.พงศ์ปณต ชูแก้ว ผกก.6 บก.ป., พ.ต.ท.อนุสรณ์ ทองไสย รอง ผกก.6บก.ป. ร่วมกันแถลงข่าวตำรวจกองกับกับการ6กองบังคับการปราบปรามเปิดปฏิบัติการ “ปิดเมืองนราฯ ล่า SIM BOX ตัดเครื่องมือ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ชายแดนใต้”ตรวจค้น 3 จุดพื้นที่อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส จับกุมผู้ต้องหา 3 คน ประกอบด้วย นางสาว ซารีนา อายุ 24 ปี, Mr.Kiang Wan อายุ 25 ปีสัญชาติมาเลเซีย และ Me.Kuok Rong อายุ 36 ปี สัญชาติมาเลเซีย พร้อมของกลาง อุปกรณ์ sim box หรือ gsm gateway สำหรับ 32 ซิมการ์ด จำนวน 15 เครื่อง และเครื่องกระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ต หรือ เร้าเตอร์ Wi-Fi จำนวน 3 เครื่อง รวมมูลค่ากว่า 1 ล้าน 5 แสนบาท

พล.ต.ท.จิรภพ เปิดเผยว่า แก๊งคอลเซ็นเตอร์ยังคงระบาดหนักในประเทศไทย สร้างปัญหาส่งผลให้มีประชาชนถูกหลอกลวงอย่างต่อเนื่อง ได้รับความเสียหายกว่า 100 ล้านบาทต่อวัน โดยกลุ่มแก๊งเหล่านี้มักจะตั้งฐานปฏิบัติการอยู่ที่บริเวณชายแดนรอยต่อระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งได้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการหลอกอยู่ตลอดเวลา ตำรวจจึงต้องรู้ให้เท่าทันแผนพฤติกรรมของคนร้ายด้วยเช่นกัน โดยหนึ่งในแผนประทุษกรร ยอดฮิตที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้เป็นประจำคือ การโทรศัพท์หาผู้เสียหายโดยอ้างตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐและข่มขู่ให้เหยื่อหลงเชื่อว่าตนเองกระทำผิดกฏหมาย หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมต่าง ๆ จนผู้เสียหายกลัวและหลงเชื่อยอมโอนเงินให้คนร้าย

พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวต่อว่า ทางตำรวจสอบสวนกลางได้ศึกษารูปแบบการกระทำความผิดมาอย่างต่อเนื่อง จนทราบว่าปัจจุบันกลุ่มคนร้ายได้มีการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ใช้โทรศัพท์หาผู้เสียหาย โดยมีการแยกเครื่อง simbank สำหรับเสียบซิมการ์ดโทรศัพท์ที่เป็นของค่ายโทรศัพท์ในประเทศไทยไว้ที่หนึ่ง ซึ่ง simbank จะตั้งอยู่ในประเทศหรือต่างประเทศก็ได้ และจำเป็นต้องมีเครื่อง simbox ซึ่งเป็นอุปกรณ์แปลงสัญญาณอินเตอร์เน็ตเป็นสัญญาณมือถือ simbox แต่ละเครื่องมีช่องเสียบซิมการ์ดโทรศัพท์ จำนวน 32 ซิม แต่กลุ่มคนร้ายไม่ได้เสียบซิมการ์ดไว้ โดย simbank จะถูกติดตั้งอยู่ในประเทศไทยหรือฝั่งชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยให้ simbank เสียบซิมการ์ด และ simbox ไม่เสียบซิมการ์ด จะเชื่อมต่อผ่านเร้าเตอร์ โดยมี cloud sip server เป็นตัวกลาง

“เมื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรศัพท์จากต่างประเทศมาหลอกลวงผู้เสียหายในประเทศไทย โดยใช้อุปกรณ์ดังกล่าว จะทำให้เห็นว่าเป็นหมายเลขโทรศัพท์ของประเทศไทย เพื่อหลบเลี่ยงมาตรการขึ้นหมายเลขหน้าเบอร์โทร (prefix) ของ กสทช. ทำให้ประชาชนทั่วไปหลงเชื่อได้ง่าย ซึ่งในแต่ละวันคนร้ายจะใช้อุปกรณ์เหล่านี้โทรศัพท์สุ่มหาผู้เสียหายวันละหลายแสนครั้ง โดยปกติอุปกรณ์ดังกล่าวต้องขออนุญาตจาก กสทช. ส่วนใหญ่จะนำมาใช้ในธุรกิจเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย”

พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวต่ออีกว่า ต่อมาตำรวจได้สืบสวนจนทราบว่าในพื้นที่ตำบลสุไหงโกลก อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ชายแดนไทยมาเลเซีย มีการลักลอบติดตั้งอุปกรณ์ simbox เพื่อใช้โทรมาหลอกลวงผู้เสียหายในประเทศไทยหลายราย จนเป็นที่มาในการเปิดปฎิบัติการ “ปิดเมืองนราฯ ล่า simbox ตัดเครื่องมือ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ชายแดนใต้” ในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา สามารถจับกุมคนร้ายดังกล่าว พร้อมของกลางจำนวนมาก

พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวต่ออีกด้วยว่า สอบสวนผู้ต้องหาให้การสารภาพ 2 คน คือ นางสาว ซารีนา และ Mr.Kiang Wan ซึ่งกำลังคบหาดูใจกันได้รับการว่าจ้างจากนายทุนชาวมาเลเซีย ให้ดูแลสถานที่ โดยส่วนใหญ่นายทุนชาวมาเลเซียจะติดต่อคนไทยที่มีความสัมพันธ์กับคนมาเลเซีย ให้หาบ้านเช่าและติดตั้งสัญญาณอินเทอร์เนต จากนั้นฝ่ายเทคนิคจะเข้ามาดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ โดยผู้ต้องหาทั้งสองได้รับค่าจ้างเป็นค่าดูแลอุปกรณ์ 5,000 บาทต่อจุดต่อเดือน ส่วน Mr.Kuok Rong ผู้ต้องหาอีกหลาย ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยอ้างว่าตนเพียงโอนเงินให้นางสาว ซารีนา ตามคำสั่งของนายทุนชาวมาเลเซีย แต่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดแต่อย่างใด

ตำรวจสอบสวนกลางจึงฝากประชาสัมพันธ์ถึงประชาชน หากพบบุคคลต้องสงสัยที่มีพฤติกรรมน่าสงสัย หรือน่าเชื่อว่าได้มีการเช่าสถานที่เพื่อใช้ซุกซ่อนอุปกรณ์ simbox หรือพบเบาะแสข้อมูลของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ สามารถแจ้งตำรวจใกล้บ้าน หรือตำรวจสอบสวนกลาง ให้ไปตรวจสอบ เพื่อดำเนินการกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ให้หมดไป

นอกจากนี้ พล.ต.ท.จิรภพ ยังเปิดเผยอีกว่า ตนเองได้ไปประชุมกับตำรวจนครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน เพราะแก๊งคอลเซ็นเตอร์เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศจีนเช่นกัน ทำให้ทราบว่าสิ่งที่ตำรวจจีนทำแล้วได้ผลคือ การรู้เท่าทันเทคโนโลยี พัฒนาระบบเอไอที่สามารถสกัดโครงข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งตำรวจสอบสวนกลางจะนำวิธีการดังกล่าวมาปรับใช้ในการป้องกันและปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยการสร้างระบบเอไอเป็นภูมิคุ้มกันบล็อคระบบของแก๊งคอลเซ็นเตอร์

“ตำรวจสอบสวนกลางได้ให้ความ สำคัญในการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์มากขึ้น ซึ่งนอกจากการสืบสวนจับกุมแล้ว สิ่งที่ต้องทำคือการตัดแขนตัดขาโครงข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์เกี่ยวกับการอุปกรณ์ต่างๆ ในการก่อเหตุด้วย เพื่อให้ความรวดเร็วในการรับโทรศัพท์หาเหยื่อ ทำให้แต่ละวันสามารถโทรศัพท์หาเหยื่อได้ถึงวันละ หลักหมื่น ถึง หลักแสนราย” ผบช.ก.กล่าวทิ้งท้าย

RELATED ARTICLES