ต้นแบบตำรวจเพื่อชุมชน

มีโอกาสไปสัมผัสกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นในช่วงอากาศหนาวเย็นสบายชวนยะเยือกเล็กน้อย

ตามคำเชิญของ วัสยศ งามขำ ประธานชมรมนักข่าวกองปราบปราม และ พ.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้กำกับการปฏิบัติการพิเศษ กองบังคับการปราบปราม ที่ส่งลูกน้อง ประกอบด้วย พ.ต.ท.ไผท คูสันเทียะ  รองผู้กำกับการปฏิบัติการพิเศษ กองบังคับการปราบปราม พ.ต.ท.ศิววงศ์ ดำรงสัจจ์ศิริ รองผู้กำกับการปฏิบัติการพิเศษ กองบังคับการปราบปราม และ ร.ต.อ.หญิง ธัญญ์ธวัล คดดวง รองสารวัตร กองกำกับการปฏิบัติการพิเศษ กองบังคับการปราบปราม มาร่วมทริปครั้งนี้ด้วย

วัตถุประสงค์หลัก คือการไปดูการทำงานของตำรวจญี่ปุ่น และสื่อของแดนปลาดิบ ด้วยตาตัวเอง

เริ่มต้นด้วย พิพิธภัณฑ์ตำรวจญี่ปุ่น อาคารตึกแถว 4 ชั้นที่รวมเนื้อหาสาระมากมายต่างจากพิพิธภัณฑ์ตำรวจเมืองไทยที่คงไว้แต่ประวัติศาสตร์อันงดงาม แต่ที่กรุงโตเกียวจะมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของตำรวจแต่ละหน่วยให้ศึกษาและจับต้องได้

ชาวญี่ปุ่นถึงสนใจพาลูกหลานเข้าไปดูและศึกษาเป็นการปลูกฝังระเบียบวินัย อีกทั้งให้รู้สึกรักความเป็นตำรวจของประเทศญี่ปุ่น

ประเทศที่พ่ายแพ้ต่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ย่อยยับ แต่พวกเขาสามารถกลับมาพัฒนาชาติให้ก้าวล้ำเหนือกว่าประเทศอื่น

ปลุกคนทั้งชาติให้ตื่นจากโศกนาฏกรรมระเบิดปรมาณูขึ้นมาสู้กับความจริง

ตำรวจญี่ปุ่นถือเป็น “ต้นแบบของตำรวจชุมชนเมือง” ที่หลายประเทศเข้ามาศึกษา โดยเฉพาะป้อมตำรวจ ที่เรียกว่า โคบัง KOBAN กลไกสำคัญในการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ชุมชนเมืองที่ “ครองหัวใจ” ชาวญี่ปุ่นมายาวนาน

เป็นการวางรากฐาน “ตำรวจเพื่อชุมชน” (Community Policing) ที่เก่าแก่และดีที่สุดของโลก

เจ้าหน้าที่ตำรวจชุมชนที่อยู่ในป้อมตำรวจหรือป้อมที่พักตำรวจของญี่ปุ่น จะมีกิจกรรมต่างๆ ที่มากกว่าการเป็นสายตรวจออกตรวจตราป้องกันเหตุเพียงเท่านั้น ยังมีภารกิจอื่นอีกหลายประการ

อาทิ ตรวจตราพื้นที่ เยี่ยมบ้านประชาชนและสถานที่ทำงาน ให้ความช่วยเหลือเด็กพลัดหลง ให้คำแนะนำแก่เยาวชนในท้องถนน บอกเส้นทางแก่ผู้ใช้ถนน การรณรงค์ด้านความปลอดภัยการจราจร การควบคุมฝูงชน และคำปรึกษาแก่ประชาชน

พวกเขามีเพียงจักรยานคู่ใจและกระบองคู่กายระหว่างออกปฏิบัติหน้าที่

ภารกิจการตรวจเยี่ยมบ้านเรือนประชาชนและสถานที่ทำงานอยู่เป็นประจำ นอกจากทำให้รู้ความต้องการจากประชาชนแล้ว ยังมีส่วนช่วยแนะนำการป้องกันอาชญากรรมและอุบัติเหตุพร้อมกันด้วย มีการจัดตั้ง “สภาผู้ประสานงาน” เพื่อทำความเข้าใจความต้องการและความคิดเห็นของประชาชน จัดกิจกรรมเชื่อความสัมพันธ์ระหว่างตำรวจกับประชาชน

เพียงเท่านี้เราก็จะเห็นภาพตำรวจญี่ปุ่นแตกต่างจากตำรวจไทยมากน้อยเพียงใด

ทำไมพวกเขาถึงเข้าไปอยู่ในหัวใจคนญี่ปุ่นทั้งประเทศ

RELATED ARTICLES