บุกทลายโกดังทุนชาวจีน ส่งขายเครื่องสำอางปลอมแบรนด์ยอดฮิต-เครื่องสำอางเถื่อน

ตำรวจ ปคบ. ร่วม อย.ทลายโกดังทุนชาวจีน ส่งขายเครื่องสำอางปลอมแบรนด์ยอดฮิต-เครื่องสำอางเถื่อน

วันที่ 29 ม.ค.67 พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ต.อ.วีระพงษ์ คล้ายทอง ผู้กำกับการ4กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค พร้อมด้วย เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  ร่วมแถลงผลทลายโกดังเครื่องสำอางปลอม และเครื่องสำอางเถื่อน ที่หลอกขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ พร่อมของกลาง 36 รายการ กว่า  14,000 ชิ้น มูลค่า 3.6 ล้านบาท

พล.ต.ต.วิทยา เปิดเผยว่า ก่อนหน้าเจ้าหน้าที่รับร้องเรียนจากเจ้าของผลิตภัณฑ์ “ครีมทำรักแร้ ยี่ห้อ ELA RAE”  เพื่อให้ตรวจสอบผู้จำหน่ายเครื่องสำอางปลอม ผ่านแพลตฟอร์ม Tiktok ชื่อร้าน LUNA-TH หลังมีลูกค้าร้องเรียนว่า เนื้อครีมเปลี่ยนไปจากเดิม จึงเข้าทำการตรวจสอลแหล่งที่มาก็พบเป็นสินค้าปลอมจริง และยังพบอีกว่ายังมีการนำเครื่องสำอางราคาถูกกว่าราคาท้องตลาดส่งขายอีกหลายรายการด้วย

พล.ต.ต.วิทยา กล่าวต่อว่า จากสืบสวนจนทราบโกดังจัดเก็บสินค้าและใช้กระจายสินค้าดังกล่าว ก่อนนำหมายค้นของศาลอาญามีนบุรี เข้าตรวจค้นโกดังแห่งหนึ่งย่านลาดกระบัง โดยพบ น.ส.ชไมพร (สงวนนามสกุล) แสดงตัวเป็นผู้ดูแล  ให้การผลิตภัณฑ์ทั้งหมดเป็นของ Mr. Shanke (สงวนนามสกุล) นายทุนสัญชาติจีน ซึ่งจะคอยสั่งเครื่องสำอางที่กำลังนิยมในสื่อออนไลน์จากประเทศจีน และนำมาฝากไว้ที่โกดังฯ เพื่อรอแพ็คส่งให้ลูกค้าชาวไทย

“นอกจากนี้น.ส.ชไมพร ยังให้การต่ออีกว่า Mr. Shanke จะเปิดร้านค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์มากถึง 9 ร้าน เพื่อใช้โฆษณาสินค้า เมื่อมีผู้สั่งซื้อก็จะส่งออเดอร์-ที่อยู่ในการจัดส่งมาให้น.ส.ชไมพร แพ็คของและส่งให้ลูกค้า ได้ค่าส่งชิ้นละประมาณ 10 บาท ทำมาแล้วประมาณ 2 ปี มียอดส่งสินค้ำสูงถึง 5,000 – 10,000 ชิ้น/วัน” พล.ต.ต.วิทยา กล่าว

 

พล.ต.ต.วิทยา กล่าวอีกว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างติดต่อให้บริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ทั้งหมด มาตรวจสอบและยืนยันของกลาง ก่อนจะนำส่งไปตรวจพิสูจน์กับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข หากพบมีส่วนผสมห้ามใช้ก็จะถูกดำเนินคดีเพิ่มเติมด้วย

ด้าน ภก.วีระชัย กล่าวว่า เจ้าหน้าที่สามารถตรวจยึดเครื่องสำอางที่ผิดกฎหมายได้จำนวนมาก  ของกลางมีทั้งเครื่องสำอางปลอม และเครื่องสาอางที่ไม่มีเลขที่ใบรับจดแจ้ง ไม่แสดงฉลากภาษาไทย ผู้บริโภคควรระมัดระวังเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ทางสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะเครื่องสาอางที่มีราคาถูกจนผิดปกติ หรือโปรโมชั่นลดราคาแบบไม่น่าเป็นไปได้ ก็ให้ระลึกไว้เสมอว่ากำลังเสี่ยงต่อการได้ของปลอม หรือของไม่มีคุณภาพ

สำหรับของกลางกว่า 36 รายการ ที่ตรวจพบเป็นเครื่องสำอางปลอม และต้องสงสัยปลอม จำนวน 16 รายการ และไม่มีเลขที่ใบรับจดแจ้งและไม่แสดงฉลากภาษาไทย จำนวน 20 รายการ อาทิเช่น ครีม ยี่ห้อ ELA RAE ปลอม , ยาสีฟัน Amway Glister ปลอม  ,เจเค เอกซ์แลป EX-A เอ็กซ์เอ บอดีครีม (ต้องสงสัยว่าปลอม) จำนวน 3,200 ชิ้น ,โลชั่น PWB Prink White Bumm (ต้องสงสัยว่าปลอม) จำนวน 1,584 ชิ้น ,เซรั่ม Neo Hair นีโอแฮร์ แฮร์ทรีทเมนต์ (ต้องสงสัยว่าปลอม) จำนวน 80 ชิ้น ,NAKIZ LIVELY BUTT (ต้องสงสัยว่าปลอม) จำนวน 95 ชิ้น ,KOSE Softymo Speedy Cleansing Oil (ต้องสงสัยว่าปลอม) จำนวน 600 ขวด

RELATED ARTICLES