คลังสมบัติแห่งหลักฐาน

 

ทำลายภาพลักษณ์องค์กรสีกากีย่อยยับ

กลุ่มเยาวชนก่อเหตุหลายคดีในท้องที่สถานีตำรวจภูธรอรัญญประเทศ จังหวัดสระแก้ว โดยเฉพาะรุมฆ่านางบัวผัน หรือป้ากบ ตันสุ หญิงเร่รอนแล้วนำศพไปทิ้งที่สระน้ำที่โรงเรียนศรีอรัญโญทัย อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว

ยัดข้อหานายปัญญา หรือลุงเปี้ยก คงแสนคำ สามีผู้ตายเป็น “แพะ” รับสารภาพฆ่าเมียตัวเอง

ว่ากันว่ามีการเอาถุงดำคลุมหัวถอดเสื้อทรมานบังคับให้ยอมรับก่อนส่งดำเนินคดีฝากขังต่อศาลจังหวัดสระแก้วในข้อหา “ฆ่าผู้อื่น”

ภายหลังมึการจับกุมตัวกลุ่มผู้ต้องหาเป็นเยาวชนจำนวน 5 คน ปรากฏภาพในคลิปจากกล้องวงจรปิดว่าเป็น “กลุ่มคนร้ายตัวจริง

พ่นพิษเด้ง พ.ต.อ.พิเชษฐ์ ศรีจันทร์ตรา  ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอรัญประเทศ พร้อม พ.ต.ท.พิชิต วัฒโน รองผู้กำกับการสืบสวน สถานีตำรวจภูธรอรัญประเทศ เข้ากรุสังเวยผลงานชุ่ยแล้ว “แหกตา” ผู้เป็นนาย

พล.ต.ท.สมประสงค์ เย็นท้วม ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 มองว่า การกระทำของฝ่ายสืบสวนอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานปี 2565 และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากสื่อมวลชนและประชาชนในสังคม

ดังนั้นเพื่อเป็นการเพิ่มความรู้ความเข้าใจให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติงานทั้งฝ่ายสืบสวน สอบสวน ป้องกันมิให้มีการปฏิบัติหน้าที่อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย

เจ้าตัวจัดให้มีการอบรม “เพิ่มพูนประสิทธิภาพงานสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 2”  เชิญวิทยากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และมากด้วยประสบการณ์ด้านการสืบสวนสอบสวน และด้านกฎหมายมาให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน และพนักงานสอบสวนในสังกัด 428 นาย

ได้ พล.ต.ต.ปรีชา ธิมามนตรี อดีตรองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตำนานนักสืบระดับอาจารย์ พร้อมด้วย พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ลูกศิษย์ฝีมือดี และนายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด

ขณะเดียวกัน พล.ต.ท.สมประสงค์ เย็นท้วม ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 ยังร่วมเป็นวิทยากรบรรยายหัวข้อการตรวจสถานที่เกิดเหตุและการจินตนาการพฤติกรรมของคนร้าย

เน้นย้ำ สถานที่เกิดเหตุ คือ หัวใจของการสืบสวนและสอบสวนเนื่องจากอาชญากรมักจะทิ้งร่องรอยหลักฐานไว้ในสถานที่เกิดเหตุเสมอ

“สถานที่เกิดเหตุเสมือนหนึ่งเป็นคลังสมบัติแห่งหลักฐาน” พล.ต.ท.สมประสงค์ว่าตามทฤษฎีของเอดมัน โลคาร์ด ที่กล่าวไว้ว่า “การสัมผัสทุกครั้งย่อมทิ้งร่องรอย”

ความหมายของพยานหลักฐาน ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 ขยายความว่า หมายถึง สิ่งใดๆ ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้น ใช้บอกได้ว่า ใครเป็นผู้กระทำความผิด และสามารถเชื่อมโยงผู้กระทำความผิดเข้ากับอาชญากรรมที่เกิดขึ้นได้

แต่ความหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 266 ระบุไว้ว่า พยานหลักฐาน  คือ พยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือ พยานบุคคล ตลอดจนหลักฐานอื่นๆ ซึ่งใช้เป็นเครื่องพิสูจน์การกระทำผิดได้

พล.ต.ท.สมประสงค์ยังจำแนกความหมายของพนักงานสอบสวน คือ เจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายให้มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวน ตาม กฎหมายประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(6) ขณะที่การสืบสวน หมายถึงการแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานซึ่งพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจปฏิบัติไปตามอำนาจและหน้าที่ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนเพื่อที่จะทราบละเอียดแห่งความผิดตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาวิอาญา มาตรา 2 (10)

เมื่อบวกกับการสอบสวนที่หมายความถึงการรวบรวมพยานหลักฐานและการดำเนินการทั้งหลายอื่นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ พนักงานสอบสวนได้ทำไปเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหา เพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความผิดและเพื่อจะเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษ ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (11)

ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 ได้เน้นย้ำการตรวจสถานที่เกิดเหตุเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวน แต่ควรร่วมกับฝ่ายสืบสวน เพื่อดูร่องรอย และจินตนาการการกระทำของคนร้ายนำไปสู่การตั้งประเด็น  ตั้งสมมติฐาน และต้องบอกสิ่งที่ต้องการเพื่อให้กองพิสูจน์หลักฐานหาหลักฐานจากที่เกิดเหตุมาสนับสนุน

“เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน ต้องทำหน้าที่เก็บพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุ เพื่อพิสูจน์ว่าพยานหลักฐานสอดคล้องกับสมมติฐานหรือไม่”

พนักงานสอบสวน และฝ่ายสืบสวน ต้องจินตนาการ ตั้งสมมติฐานพฤติกรรมของคนร้ายเป็นตัวนำ

มีเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานเป็นคนตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานสนับสนุนสมมติฐาน “ทว่าข้อผิดพลาดทุกวันนี้ เพราะพนักงานสอบสวน นักสืบ ชอบคิดว่า หน้าที่ตรวจที่เกิดเหตุเป็นของพิสูจน์หลักฐาน และปล่อยให้เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานตรวจที่เกิดเหตุโดยลำพัง” พล.ต.ท.สมประสงค์บอก

เจ้าตัวสรุปกระบวนการทำงาน คือ พนักงานสอบสวน พนักงานสืบสวน  ต้องร่วมกับพิสูจน์หลักฐานในการตรวจที่เกิดเหตุ เอาข้อมูลที่ได้จากการสืบสวน และการสอบสวน มาวิเคราะห์กับสภาพที่เกิดเหตุแล้วตั้งสมมติฐาน กำหนดประเด็นให้พิสูจน์หลักฐานตรวจสถานที่เกิดเหตุเพื่อหาพยานหลักฐานใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาตรวจและเก็บพยานหลักฐานจากที่เกิดเหตุ

เขายังยกหลักการและทฤษฎีที่สำคัญในการป้องกันอาชญากรรมไปบรรยายไม่ให้ซ้ำรอยเหตุการณ์โรงพักอรัญประเทศเป็น “สระแก้วโมเดล”

ว่าด้วย ทฤษฎีหน้าต่างแตก คือ ทฤษฎีทางอาชญาวิทยาของการสร้างมาตรฐาน และที่ผลของการก่อกวนและความวุ่นวายในตัวเมืองส่งผลต่อการเพิ่มของอาชญากรรม และพฤติกรรมต่อต้านสังคม

 ป้องกันแก้ไขอาชญากรรมเล็กเสียโดยเร็ว หากปล่อยทิ้งไว้จะเป็นเหตุใหญ่และรุนแรงมากขึ้น

ด้าน ทฤษฎีการลอกเลียนแบบ Garbriel Trade Gabriel Tarde นักอาชญาวิทยาและสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส เชื่อว่า อาชญากรรมเกิดขึ้นเพราะการเลียนแบบพฤติกรรมผู้อื่น ตลอดจนสื่อมวลชนมีบทบาทในการถ่ายทอด แนวคิดค่านิยม แบบแผน การดำเนินชีวิตให้แก่บุคคลในสังคม

“หากสื่อมวลชนมีการถ่ายทอดสิ่งที่มีความไม่เหมาะสมแก่ เด็กและเยาวชน อาจทำให้เด็กและเยาวชนเกิดการเลียนแบบ อันอาจนำไปสู่การกระทำผิด”

ทิ้งท้ายเป็นคำถามที่นักสืบต้องจินตนาการและหาคำตอบ

Who ใครเป็นผู้เสียหาย ผู้ก่อเหตุ ผู้เกี่ยวข้อง What เกิดอะไรขึ้น Where  เหตุเกิดที่ไหน (ที่เกิดเหตุ และสถานที่เกี่ยวข้อง) When เหตุเกิดเมื่อไร (เวลาที่เกิดเหตุ) Why ทำไมจึงเกิดเหตุ (มูลเหตุจูงใจ) How เหตุนี้เกิดอย่างไร

ติดอาวุธทางปัญหาให้ทีมสืบสวนสอบสวนชายฝั่งภาคตะวันออก

ไม่ให้ทำงานออกลงทะเลพาเป๋เสียหายอีก

 

 

 

 

 

RELATED ARTICLES