การแต่งตั้งโยกย้ายกับนายที่มีใจเป็นธรรม

ถ้ามีวิธีการแต่งตั้งเป็นสัดส่วนชัดเจนมากกว่านี้

สารวัตรหญิงคนหนึ่ง คิดว่า ปัญหาความไม่ชอบธรรมจะไม่เกิดขึ้นอีก

เธอเสนอว่า การขึ้นตำแหน่งควรแบ่งออกสามส่วน คือ อาวุโส  สอบแข่งขัน และระบบอุปถัมถ์

ส่วนการการโยกย้ายให้คำนึงถึง ภูมิลำเนา มาเป็นอันดับแรก ตามด้วย ความรู้ความสามารถ หรือความชำนาญพิเศษในงาน โดยใช้การทดสอบ สุดท้ายเป็น ระบบอุปถัมถ์

เจ้าตัวอยากขอพื้นที่ความเจริญก้าวหน้าให้คนทำงานด้วยความตั้งใจจริง มีฝีมือ มีผลงาน แต่ไม่มีเส้นสาย ไม่มีเงินจ่ายบ้างได้ไหม

เป็นเพียงหนึ่งเสียงเล็กๆ ของ “นายตำรวจหญิงภูธรธรรมดา” ที่ไม่มีนาย ไม่มีเงินถุงเงินถัง มีแค่สมองกับสมองและความมุ่งมั่นในการทำงาน

ที่เธอเชื่อว่า คงไม่มีใครหรือผู้มีอำนาจรับฟัง

จะว่าไปแล้วในสมัยก่อน “ผู้เป็นนาย” ต่างเลือกใช้คนทำงานและพร้อมเสนอเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งตอบแทนเป็นขวัญกำลังใจ

นายที่ไม่เคยหวังได้อะไรจากลูกน้องนอกจากเนื้องานตามหน้าที่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์สร้างความสงบสุขให้แก่ประเทศชาติบ้านเมือง

ย้อนกลับในช่วง พล.ต.อ.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น อธิบดีกรมตำรวจ อีกครั้ง เมื่อตอนเดินทางไปราชการที่เขาบูโด ในเขตติดต่อชายแดนสามจังหวัดภาคใต้ ขณะนั้นมีเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนถูกคนร้ายยิงเสียชีวิต

ด้วยความเป็นผู้นำหน่วย พล.ต.อ.มนต์ชัย ขึ้นเฮลิคอปเตอร์บินด่วนไปดูสถานการณ์ในที่เกิดเหตุทันทีเพื่อให้กำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่เกรงภัยอันตรายในสมรภูมิรบบนเทือกเขาบูโด กระทั่งเห็นการทำงานของ พ.ต.ท.สาโรจน์ จินตวิโรจน์ รองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการในการปิดล้อมติดตามคนร้ายที่ยิงเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต

ทำให้รู้สึกประทับใจในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็งของนายตำรวจท่านนี้เป็นอย่างมาก

เมื่อเดินทางกลับมาถึงกรุงเทพฯ ได้สั่งให้ พ.ต.อ.พิชัย ชำนาญไพร นายเวรมาพบเพื่อประสานฝ่ายกำลังพลแต่งตั้งให้ พ.ต.ท.สาโรจน์ จินตวิโรจน์ ขึ้นเป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา พร้อมให้โยกย้ายผู้กำกับการภูธรจังหวัดยะลาขณะนั้นไปเป็นผู้กำกับการอำนวยการ กองบังคับการตำรวจภูธรภาค 9 ในเวลาเดียวกัน

เป็นการโยกย้ายโดยที่ผู้ถูกโยกย้ายไม่มีการวิ่งเต้น หรือทราบล่วงหน้าแต่อย่างใด

ยุคสมัย พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ นั่งเก้าอี้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เจ้าของฉายา “นายพลไม้บรรทัด” เลือกบอกปัดเด็กเส้นมุ่งเน้นคนทำงาน แบ่งโควต้าให้รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้สิทธิเสนอผู้ที่มีความเหมาะสม

ไม่มีตั๋วฝากนักการเมือง ไม่สน “จดหมายน้อย” จากผู้หลักผู้ใหญ่ในสำนักปทุมวัน

วันประชุมแต่งตั้งโยกย้ายระดับ รองผู้กำกับ-สารวัตร สิทธิขาดอยู่กับแม่ทัพนครบาลที่นั่งเป็นประธานอยู่หัวโต๊ะ ระหว่างนั้น พล.ต.ต.สุรศักดิ์ สุทธารมณ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในฐานะหัวหน้าศูนย์ป้องกันปราบปรามการโจรกรรมรถ กองบัญชาการตำรวจนครบาล มีโควต้าว่าง 1 ตำแหน่ง จึงโทรศัพท์ไปแจ้ง พล.ต.ต.กฤษฎา พันธุ์คงชื่น ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ที่กำลังนำลูกน้องทลายขบวนการปลอมธนบัตรรายใหญ่ย่านฝั่งธนบุรี

โควต้าที่เหลือว่าง พล.ต.ต.กฤษฎา เสนอ ร.ต.อ.พิษณุ พ่วงพร้อม รองสารวัตรหัวหน้าชุดเฝ้าแกะรอยถึงรังขบวนการปลอมแบงก์รายสำคัญขึ้นเป็น “สารวัตร” โดยไม่ต้องวิ่งเต้นเอาใจผู้ใหญ่คนไหน

เพราะผู้เป็นนายเห็นผลงาน

เหล่านี้ คือ ตำนานเอาเนื้องานแลกความดีความชอบ

 

RELATED ARTICLES