“ทะเลแสนไกลใครจะเห็น ยากเย็นแค่ไหนใจยังมั่น จะปกป้องผองไทยชั่วนิรันดร์ สิ้นชีวัน ก็ยังห่วง หวงแผ่นดิน” พล.ต.ต.พฤทธิพงศ์ นุชนารถ ผู้บังคับการตำรวจน้ำบอกถึงอุดมการณ์ของหน่วย
ยอมรับว่า ตำรวจน้ำเป็นอาชีพที่อาจมีคนเข้าถึง เข้ามารับรู้ภารกิจของเราน้อย
เพราะการปฏิบัติการทางทะเลไม่มีใครเห็นว่า เราไปอยู่กันอย่างไร กินกันอย่างไร เหนื่อยยากและลำบากแค่ไหนที่ต้องเดินทางไกลห่างจากครอบครัว
สำหรับหน่วยตำรวจรักษาความปลอดภัยในน่านน้ำมีประวัติความเป็นมายาวนาน นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2
ประเทศไทยได้รับความเดือดร้อนจากการลักลอบส่งข้าวอย่างผิดกฎหมาย ทำให้กองทัพเรือไทย ต้องเข้ามาทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม
ก่อนจัดระบบ “กองทัพใหม่” รัฐบาลจัดภารกิจดังกล่าวให้ตำรวจ นำไปสู่การจัดตั้งกองตำรวจน้ำ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2495 สมัย พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นอธิบดีกรมตำรวจ
ภารกิจหลักของหน่วยในปัจจุบัน คือ ปฏิบัติหน้าที่ถวายความปลอดภัยองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ รักษาความสงบเรียบร้อยป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทั่วราชอาณาจักร
ปฏิบัติงานตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายอื่น ทั้งเกี่ยวกับความผิดทางอาญาในเขตน่านน้ำไทย
ร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือ ได้รับมอบหมายภายใต้การนำของผู้บังคับการตำรวจน้ำ
มีโครงสร้างประกอบด้วย ฝ่ายอำนวยการ และ 12 กองกำกับการ 39 สถานีตำรวจน้ำ ด้วยกำลังพลกว่า 1,600 นาย ส่วนใหญ่จบจากศึกษาจากโรงเรียนนายเรือ และโรงเรียนชุมพลทหารเรือที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ เกี่ยวกับวิชาชีพทางเรือ
พวกเขาฝึกอบรมหลักสูตรปฏิบัติการทางเรือ หลักสูตรนักปฏิบัติการใต้น้ำ และหลักสูตรอื่นๆ ให้แก่กำลังพลในสังกัดเป็นประจำทุกปีเพื่อให้มีความพร้อมในการปฏิบัติงานในด้านการรักษาความปลอดภัยทางน้ำ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณความอาญา และกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับความผิดทางอาญ ในเขตน่านน้ำไทย ทางเรือ ทางทะเล และอาณาเขตประเทศไทย
รวมถึงทั้งเขตเศรษฐกิจจำเพาะใน “ทะเลหลวง” ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมบนเรือในน่านน้ำและชายฝั่ง ค้นหาและกู้ภัย อำนวยความสะดวกเจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยอื่นๆ ในการเข้าถึงพื้นที่ทางน้ำ
มีกำลังเรือตรวจการณ์กว่า 200 ลำ ดูแลรับผิดชอบในพื้นที่ทางน้ำ ครอบคลุม แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำโขง อ่าวไทยตอนบน อ่าวไทยตอนล่าง และทะเลอันดามัน อีกทั้งยังมีหน่วยงานตรวจการณ์ ชื่อหน่วยงานกลุ่มงานตรวจการณ์ 110-180 ประกอบด้วยเรือตรวจการณ์ขนาดใหญ่ ทำหน้าที่สนับสนุนในภารกิจตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย
สร้างชุดปฏิบัติการพิเศษทางน้ำ “มัจฉานุ” มาจากชื่อตัวละครในวรรณคดีไทยเรื่องรามเกียรติ์ ปฏิบัติหน้าที่ได้ทั้งใต้น้ำ และบนบก มีความว่องไว ปราดเปรียว แกร่งกล้าสามารถไม่แพ้ “หนุมาน” กลายเป็นที่มาของชื่อชุดปฏิบัติการพิเศษทางน้ำ นามว่า “มัจฉานุ” ตามนโยบายของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
ทีมปฏิบัติการพิเศษของตำรวจน้ำจะทำหน้าที่สนับสนุนภารกิจหลัก และภารกิจพิเศษของหน่วย เช่น ภารกิจค้นหาวัตถุพยานใต้น้ำ เพื่อใช้เป็นพยานวัตถุในการดำเนินคดี รักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ และการเคลื่อนย้ายบุคคลสำคัญทางน้ำ
กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินยังภารกิจค้นหา ช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ เต็มไปด้วยอุปกรณ์เทคโนโลยีและเครื่องมือพิเศษอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรนใช้ในการสำรวจพื้นที่ที่ต้องการสำรวจ
ตลอดจนการปฏิบัติภารกิจทางอากาศ ทำให้ทราบรัศมีพื้นที่ที่จะไปปฏิบัติภารกิจเพิ่มความปลอดภัยแก่ผู้ปฏิบัติงาน อุปกรณ์สื่อสารใต้น้ำ ทำให้ปฏิบัติภารกิจมีขีดความสามารถมากขึ้น
เป็นหน่วยตำรวจ “ปิดทองหลังพระ” ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานครบรอบ 72 ปีในวันที่ 15 พฤษภาคม 2567