โรงพยาบาลกรุงเทพร่วมกับกองบังคับการตำรวจจราจร และจส.100 จัดกิจกรรม “การอบรมการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและการช่วยคลอดฉุกเฉิน ประจำปี 2567” ให้แก่ ตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริ กองกำกับการ 6 กองบังคับการตำรวจจราจร และอาสาสมัครภาคประชาชนจำนวน 200 คน เพื่อให้บริการประชาชนในด้านนำผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บ รวมทั้งหญิงตั้งครรภ์ใกล้คลอดนำส่งโรงพยาบาล รวมทั้งการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (CPR) กับผู้ประสบเหตุต่างๆ พร้อมสาธิตการใช้เครื่อง AED ในระหว่างวันที่ 20-21 พฤษภาคม 2567 มี พ.ต.อ.จิรกฤต จารุนภัทร์ รองผู้บังคับการตำรวจจราจรนำทีมเข้าร่วมกิจกรรม
นพ.วีรวิชญ์ พรวัฒนไกรเลิศ สูตินรีแพทย์ ศูนย์สุขภาพสตรีกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพระบุว่า การอบรมจะเริ่มตั้งแต่การปูพื้นฐานในการประเมินสถานการณ์ของผู้ตั้งครรภ์ว่าอยู่ในช่วงเวลาใกล้คลอดเพียงใด ส่วน ขั้นตอนสำคัญในการช่วยคลอดคือ การประคองศีรษะและลำตัวทารกไม่ให้ตกกระแทกพื้น ดูดเมือกจากปากและจมูกทารกป้องกันการสำลัก เช็ดตัวและให้ความอบอุ่นกับทารก สำหรับสายสะดือหากไม่มีอุปกรณ์ที่ปลอดเชื้อไม่ควรตัดสายสะดือ สามารถนำทารกไปตัดสายสะดือที่โรงพยาบาล ทั้ง ๆ ที่รกยังติดกับสายสะดือ
ด้าน นพสิทธิ์ ธนะธีระพงศ์ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ศูนย์อุบัติเหตุกรุงเทพกล่าวถึงขั้นตอนการกู้ชีพว่า ทุกคนสามารถทำได้ด้วยการกดหน้าอกจำนวน 100-120 ครั้งต่อนาที และการใช้เครื่อง AED ภายในช่วงไม่กี่นาทีแรกหลังเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นนั้น จะช่วยให้โอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยมีมากขึ้น 2-3 เท่า การส่งเสริมการเรียนรู้และฝึกทักษะ CPR ให้กับตำรวจจราจร ผู้พบเห็นเหตุการณ์ หรือประชาชนทั่วไป เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นอย่างมีประสิทธิภาพได้มากขึ้น
ขณะที่ พ.ต.อ.จิรกฤต จารุณภัทร์ รองผู้บังคับการตำรวจจราจรได้แสดงความขอบคุณทีมแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ ที่มาถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ในการทำคลอดฉุกเฉิน และการกู้ชีพผู้บาดเจ็บ เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร โครงการพระราชดำริจะได้นำทักษะดังกล่าวไปใช้เพื่อการปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนบนท้องถนนและในสถานที่ต่างๆ ตามที่ปฏิบัติมาต่อเนื่อง