หลายคนผิดหวัง หลายคนบอบช้ำจากการแต่งตั้งโยกย้ายที่ไร้ความเป็นธรรม
กลายเป็นตัวกำหนดวัฒนธรรมองค์กรที่เปลี่ยนไปตาม “ค่านิยมใหม่”จนแทบไม่เหลือไฟที่จะมุ่งมั่นตั้งใจทำงาน
ชอบในบทความของนายตำรวจหนุ่มนักเขียนท่านหนึ่งอยากนำมาถ่ายทอดสรุปสาระให้อ่านกันกับคำถามที่โดนใจว่า
วัฒนธรรมและระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ของระบบราชการนั้น ส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ที่ตั้งใจทำงานจริงๆ ได้เติบโตมากน้อยแค่ไหน
เขาบอกว่า ทุกวันนี้ ข้าราชการไทยจำนวนมาก รู้สึกหมดไฟในการทำงาน เพราะมองแทบไม่เห็นความก้าวหน้าของตัวเอง
ที่สำคัญคือ ท้อกับระบบที่เปิดช่องให้ผู้ใหญ่ในหน่วยงาน มักแต่งตั้ง หรือเลือกคนใกล้ชิดของตัวเองเป็นหลัก แต่ไม่ได้วัดที่ผลงานกันจริงๆ
“คนดีที่ตั้งใจทำงาน ถอยกันหมด เพราะทำดีแทบเป็นแทบตาย แต่ก็ได้ตำแหน่งที่ไม่สูงขึ้นอยู่ดี สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนในระบบราชการมักถูกแต่งตั้งตามความอาวุโส และความสนิทสนม ไม่ได้ดูผลงานเป็นหลัก” เป็นมุมมองสะท้อนจากตัวเขา
เขายังตั้งคำถามว่า คุณเคยริเริ่มโครงการ เคยต่อสู้เพื่อผลประโยชน์สาธารณะแค่ไหน
ถ้าระบบนี้มันดี มันก็จะช่วยคนไม่ให้ถูกรังแก และได้เติบโตตามผลงานของตัวเอง ไม่เกิดความรู้สึกท้อถอย แต่เราไม่มีระบบที่ว่านี้ คือ ถ้าใครประสบความสำเร็จก็สมควรได้รับรางวัล เช่น ได้รับตำแหน่งใหม่ที่ดีขึ้น เพื่อให้คนได้เติบโตบนพื้นฐานของฝีมือและระบบความสามารถ
ไม่ใช่ระบบอุปถัมภ์เพื่อพี่น้อง หรือเพื่อนพ้อง
ฉะนั้นคำว่า “เช้าชามเย็นชาม” จึงไม่ใช่นัยยะของ “ความขี้เกียจ” แต่หมายถึงทำงานตามหน้าที่ไปเรื่อยๆ ระบบราชการมีคำพูดกันว่า “เรื่องไม่เป็นเรื่องก็อย่าทำเรื่องให้ผู้ใหญ่เขาเดือดร้อน ก็ทำตามหน้าที่ไป” หรือไม่ก็ประโยคทำนองว่า “เรื่องเหล่านี้มันเป็นเรื่องนโยบายระดับบน ถ้าระดับบนไม่เสนอมา ก็ก้มหน้าทำงานของตัวเองไป”
ระบบราชการ คือ ทำงานตาม เปิดแฟ้มเดิม ทำตามสิ่งที่มีอยู่แล้ว
“ผู้บังคับบัญชาระดับสูงก็ไม่เคยลงมาฟังข้าราชการระดับล่างว่าคิดอะไร เพราะอ่านตามหนังสืออย่างเดียว ระบบราชการที่แบ่งลำดับชั้นแนวดิ่ง ทุกคนเห็นแต่ตัวหนังสืออย่างเดียว แล้วก็เอาประสบการณ์ตัวเองไปเป็นข้อจำกัดว่า ทำไม่ได้“
ระบบไม่ได้เอื้อให้ข้าราชการระดับล่างได้ใช้ความรู้ และความถนัดของตัวเองอย่างเต็มที่ คนที่จบการศึกษาปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก คนกลุ่มนี้เก่ง แต่เมื่อเข้ามาอยู่ในระบบแล้วก็อยู่ไม่ไหว ไม่ก้าวหน้า
บางคนหนีไปทำงานส่วนตัวไปเลย “เพราะระบบมันแย่”
เขาให้เหตุผลว่า การบริหารในหน่วยงานต้องคำนึงถึงคนรุ่นใหม่ด้วย เราจะออกแบบพื้นที่ของการประนีประนอมกันอย่างไร เป็นประเด็นที่ท้าทายมากๆ เพราะถ้าระบบทำไม่ดี เขาก็ไม่อยู่นะ “ลาออกเลย”
เพราะความมั่นคงในอาชีพไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวของคนรุ่นใหม่แล้ว พวกเขาสามารถเปลี่ยนงานเร็วมากขึ้น
สุดท้ายเจ้าตัวหวังว่า ระบบราชการไทยจะยังมีศักยภาพในการปรับตัวเพื่อตอบโจทย์โลกที่เปลี่ยนไป โดยความท้าทายอันยิ่งใหญ่คือ เราจะดีไซน์ระบบและปรับวัฒนธรรมที่ฝังลึกลงไปในเนื้อของสังคมมาเนิ่นนานกันอย่างไร
ขณะเดียวกัน ก็ไม่อยากให้คนรุ่นใหม่ “ถอดใจ” ไปกับระบบราชการเสียทีเดียว
เพราะมันยังเป็นงานที่มีเสน่ห์และมีคุณค่าอยู่