เลือกกระบวนการตีความ

 

เหมือนโยนเผือกร้อนให้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ตัดสินชะตาเส้นทางชีวิตรับราชการของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ที่ตกเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับกระทำความผิดร่วมกันฟอกเงินบ่อนพนันออนไลน์กลายเป็น “รอยมลทิน” ผิดวินัยร้ายแรง

นายพลฉายา “โจ๊ก หวานเจี๊ยบ” ดิ้นฟัดกัดแหลกเดินเกมร้องขอความเป็นธรรมที่เกิดขึ้นหลายหน่วยงามให้ช่วยต่อลมหายใจเพื่อ “ล้มกระดาน” แลกแต้มคืน

ท้ายสุด นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาทำบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับการให้ข้าราชการตำรวจออกจากราชการไว้ก่อนตอบสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ในประเด็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติออกจากราชการไว้ก่อนเพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณาทางวินัย

ตีความ “กำกวม” ชวนให้ต้องขบคิดเป็นสูตรเลขคณิตหลายตลบเกี่ยวกับข้อบัญญัติของกฎหมาย

คณะกรรมการกฤษฎาให้ความเห็นว่า การสั่งให้ข้าราชการตำรวจรายนี้ออกจากราชการไว้ก่อน หากเป็นการปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะกรรมการสอบสวนที่ตั้งขึ้นย่อมจะทำให้การพิจารณาเหตุแห่งกระทบสิทธิของผู้นั้นและความจำเป็นที่จะต้องสั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการไว้ก่อนชอบด้วยกระบวนการตามกฎหมายและเป็นธรรมแก่ผู้สอบสวน

เช่นเดียวกับการนำความกราบบังคมทูลตามมาตรา 140 วรรคหนึ่งยอมเป็นไปด้วยความชอบธรรม

พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ นักกฎหมายชั้นเยี่ยมยังแทบไปไม่เป็น แสดงความเห็นแบบไม่ฟันธงว่า ปัจจุบัน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ยังมีสถานะเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติอยู่หรือไม่ และยังมีสิทธิร่วมขบวนชิงแคนดิเดตแม่ทัพด้วยหรือเปล่า

มองว่า กระบวนการทางกฎหมายยังไม่สมบูรณ์ ต้องรอกระบวนการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พ้นจากตำแหน่งเสียก่อน

ประตูกำลังแง้มเปิดกว้างอ้าแขนต้อนรับนายพลคนดังเดินกลับคืน “ทุ่งปทุมวัน” อย่างนั้นหรือ

ยังไม่มีใครถามความเห็น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

กระนั้นก็ตาม มีผู้เชี่ยวชาญยกเอาคำสั่งศาลปกครองสูงสุดเมื่อปี 2559 มาเปรียบเทียบความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาประกอบด้วย 2 ส่วน คือ การให้ความเห็นตามที่หน่วยงานของรัฐขอหารือ กับข้อสังเกตเพิ่มเติมที่เสนอแก่หน่วยงานของรัฐ

อ้างมติของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2482 ระบุว่า เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นในทางกฎหมายเป็นประการใดแล้ว โดยปกติให้เป็นไปตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น

เห็นได้ว่า การที่หน่วยงานของรัฐต้องดำนินการให้เป็นไปตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นเฉพาะกรณีเกี่ยวกับความเห็นทางกฎหมายเท่านั้น

ส่วนข้อสังเกตอื่นของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มายังหน่วยงานของรัฐ “มิได้มีผลบังคับ” ให้หน่วยงานต้องปฏิบัติ การดำเนินการตามข้อสังเกตของคณะกรรมการกฤษฎีกาย่อมเป็นไปตามดุลพินิจและนโยบายของแต่ละหน่วยงาน

กลายเป็น “การบ้านข้อใหญ่” ให้นายกรัฐมนตรีต้องคิดหนัก

จะปักหมุกเลือกตีความแบบไหนให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ส่วนรวม

RELATED ARTICLES