พล.ต.ต.อธิป พงษ์ศิวาภัย ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) พ.ต.อ.วัชรพันธ์ ศิริพากย์, พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ รองผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สั่งการ พ.ต.อ.สุพจน์ พุ่มแหยม ผู้กำกับการ2กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ต.ท.นิธิ ตรีสุวรรณ รองผู้กำกับการ2กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี นำกำลังร่วมกับ เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ด่านเชียงแสน จังหวัดเชียงราย จับกุม นายปกรณ์ จันเจริญกูล อายุ 36 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 1440/2567 ลงวันที่ 4 เม.ย.67 ข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน, มีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบ, ร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันเป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าว โดยประการใดๆ เพื่อให้มีการซื้อ ขาย ให้เช่า หรือให้ยืม บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือความผิดอาญาอื่นใด”
พฤติการณ์ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 30-31 ม.ค.2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.2 บก.ปอท. บกป., บก.ปคบ., บก.รน. และ บก.ทล. สนธิกำลังเข้าตรวจค้นกลุ่มเครือข่ายหลอกลงทุนเทรดหุ้นทองคำ-น้ำมัน ผ่านเว็ปไซต์ชื่อ “AVATRADE” โดยสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ไปก่อนหน้านี้แล้ว จำนวน 7 ราย พร้อมยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด จำนวนหลายรายการ ต่อมาเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมสืบสวนขยายผล ทราบว่า นายปกรณ์ ผู้ต้องหารายนี้ ซึ่งเป็นผู้ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการลำเลียงบัญชีม้าไปยังกลุ่มนายทุนชาวจีน เพื่อใช้เป็นบัญชีม้าในการก่อเหตุหลอกลวงในลักษณะคอลเซ็นเตอร์ จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานขอศาบอนุมัติหมายจับ กระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามจับกุม ตัวนายปกรณ์ ได้ขณะกำลังข้ามแดนไปยังฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน ที่บริเวณจุดผ่านแดนถาวรสามเหลี่ยมทองคำ บ้านสบรวก ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
สอบสวน นายปกรณ์ เบื้องต้นยังปากแข็งให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา แต่ยอมรับว่า ตนเองเคยทำงานขับรถรับส่งชาวจีน จากสนามบินนานาชาติแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ไปส่งที่บริเวณจุดผ่านแดนถาวรสามเหลี่ยมทองคำ (บ้านสบรวก) ประกอบกับตนเองสามารถพูดคุยภาษาจีนได้ จากนั้นมีนายทุนชาวจีน ได้ขอที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ของตนไป โดยบอกว่าจะส่งพัสดุ “ซึ่งภายในเป็นอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ พร้อมซิมการ์ดลงทะเบียน และมีการผูกบัญชีธนาคารไทย, บัญชีคริปโต พร้อมใช้งาน” มาที่บ้านของตนและให้ตนนำพัสดุที่ได้รับไปส่งให้กับเครือข่ายของกลุ่มนายทุนจีน บริเวณจุดผ่านแดนถาวรสามเหลี่ยมทองคำ และตนไม่ทราบว่า ภายในกล่องพัสดุเป็นอะไร โดยได้รับค่าจ้าง ครั้งละ 1,000 บาท ทำมานานกว่า 1 ปี ก่อนนำตัวส่งพนักงานสอบสวน กองกำกับการ2กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ดำการต่อไป