ตัวเลขสถิติกำลังสะท้อน “ความล้มเหลว” ของต้นธารกระบวนการยุติธรรม
วิกฤติพนักงานสอบสวนขาดแคลนไม่เลวร้ายเท่าบุคลากร “ขาดจิตสำนึก” ในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยการ “เป่าคดี” ไม่ยอมรับแจ้งความ
พล.ต.ท.กฤษกร พลีธัญญวงศ์ ผู้บัญชาการสํานักงานตรวจสอบภายในถึงมีบันทึกข้อความถึงผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9 เรื่อง การปรับปรุงประสิทธิภาพในสายงานสืบสวนสอบสวน (งานสอบสวน)
อ้างตามหนังสือสำนักงานตำรวจแห่งชาติด่วนที่สุด ที่ 0009.232/ว2123 ลง 20 มิถุนายน 2567 เรื่อง การปรับปรุงประสิทธิภาพในสายงานสืบสวนสอบสวน (งานสอบสวน) ให้ “ยกเลิก” คำสั่งพนักงานสอบสวนไปช่วยราชการในสำนักงานตำรวจแห่งชาติและนอกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
รวมทั้งให้หัวหน้าสถานีตำรวจจัดให้พนักงานสอบสวนทุกรายอยู่ปฏิบัติหน้าที่ในงานสอบสวน และเข้าเวรสอบสวนสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป
พร้อมรายงานสถิติการเข้าเวรสอบสวน และเลขคดีที่รับคำร้องทุกข์ในแต่ละเดือนของพนักงานสอบสวนทุกรายในสังกัดต่อผู้บังคับบัญชาเป็นประจำทุกเดือน
เนื่องจากสำนักงานตรวจสอบภายในมีหน้าที่และอำนาจในการดำเนินการเกี่ยวกับการตรวจสอบภายในหน่วยงานต่างๆ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการเกี่ยวกับการตรวจสอบทางการเงิน การดำเนินงานตามแผนงาน งานโครงการงานด้านต่างๆ ตลอดจนตรวจสอบ และติดตามผลการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ มติคณะรัฐมนตรี ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งที่เกี่ยวข้องของหน่วยงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติเกี่ยวกับการตรวจสอบกรณีที่มีการทุจริตหรือการกระทำที่ส่อไปในทางทุจริต ผิดกฎหมาย หรือกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำที่ส่อไปในทางทุจริตหรือประพฤติมิชอบเกิดขึ้นของหน่วยงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
รวมทั้งมีสิทธิและอำนาจในการเข้าถึงข้อมูล เอกสารและหลักฐานต่างๆ ตลอดจนบุคลากรและทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน
หนังสือสำนักงานตำรวจแห่งชาติดังกล่าวในข้อ 5 มอบหมายให้สำนักงานตรวจสอบภายใน “สุ่มตรวจ” ตามหน้าที่และอำนาจอีกส่วนหนึ่ง หากพบข้อบกพร่องให้ดำเนินการตามหน้าที่ และอำนาจ แล้วรายงานให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติทราบ
ดังนั้นเพื่อเป็นข้อมูลในการกำหนดแผนการตรวจสอบภายในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนในหน่วยงาน ต่างๆ ที่จะลด “ปัจจัยเสี่ยง” การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและคำสั่ง สำนักงานตรวจสอบภายในได้มีหนังสือประสานงานไปยัง ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศกลาง กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ขอทราบข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนในรอบปี 2566
ปรากฏว่า ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศกลาง กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ทำหนังสือ ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 ส่งรายชื่อพนักงานสอบสวนแยกตามหน่วยงานที่ “ไม่มีสถิติการรับคดี” และ “พนักงานสอบสวนที่รับคดีน้อยกว่า 35 คดี” ในรอบปี
เป็นเหตุผลต้องประสานมายังกองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9 ขอให้มอบหมายเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องตรวจสอบ
การไม่ปรากฏข้อมูลการรับคดีของข้าราชการตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่พนักงานสอบสวนและผู้ที่รับคดีน้อยกว่า 35 คดีในรอบปี 2566 ในระบบ CRIMES อยู่ในสังกัดหน่วยงานของท่าน “เกิดจากสาเหตุใด” ให้กรอกเหตุผลของพนักงานสอบสวนทุกรายในสังกัด แล้วจัดส่งให้สำนักงานตรวจสอบภายในก่อนวันที่ 30 สิงหาคม 2567
ทั้งนี้มีรายงานสรุปพนักงานสอบสวนที่ไม่มีสถิติรับคดี และพนักงานสอบสวนที่รับคดีน้อยกว่า 35 คดี ของปี 2566 เป็นตัวเลขพนักงานสอบสวนทั้งสิ้น 5,422 คน
ไม่รับคดีเลย 2,819 คน และรับน้อยกว่า 35 คดี 2,603 คน
ถึงเวลาสมควร “ยกเครื่อง” ครั้งใหญ่หรือไม่ครับ