แม่ทัพชรากับม้าศึก

 

 

กาลครั้งหนึ่ง ณ ดินแดนอันไกลโพ้น

หลังฤดูเก็บเกี่ยวก็จะเข้าสู่ช่วงธรรมเนียมแห่งการจัดสรรทรัพยากรประจำปี

ทางการออกกฎให้ราษฎรนำม้า ลา ควายที่สามารถใช้ประโยชน์ในกองทัพ “ส่งมาประกวดคัดเลือก”  แม่ทัพใหญ่จะจ่ายเป็น “เม็ดเงิน” ด้วยราคาที่เป็นธรรมตามความสมบูรณ์ต้องตาม “ตำราสัตว์” ประจำกองทัพ

ณ ชายขอบแห่งชนบทอันห่างไกล มี “แม่ทัพชราผู้หนึ่ง” ในอดีตเคยเป็น “แม่ทัพคนสำคัญ” หลังปลดเกษียณได้ไปปลูกกระท่อมอาศัยอยู่ริมเขาตำบลชนบทนั้นตามวิถีสมถะ “แม่ทัพชรา” ผู้นี้ครอบครอง “ม้าศึก 1 ม้า” และมันเคยผ่านสมรภูมิสงครามและปราบจราจลในช่วงบ้านเมืองวุ่นวายมาแล้วหลายครา

ม้านี้นั้น “แม่ทัพชรา” ได้จากสหายชาวนานำมามอบให้  

สหายชาวนาเล่าประวัติ “ลูกม้า” ให้ฟังว่า มันมีสายเลือดของ “ม้าป่าจ่าฝูง” ที่มาแอบลักลอบได้เสียกับ “นางม้าเลี้ยง” ของตนจนตกลูกออกมาเป็น “ตัวผู้สีแดงเพลิง” มีลักษณะดีต้องตาม “ตำราม้าศึก” แต่นิสัยขี้ระแวงตามสายเลือดและสัญชาตญาณ “ม้าป่า” ที่แข็งแรง

“เลี้ยงง่าย กินง่าย  แต่สอนยาก เพราะไม่ชอบถูกบังคับ และจะไม่ฟังคำสั่งหรือสยบยอมให้มนุษย์ขึ้นขี่ง่ายๆ”

สหายชาวนาเห็นว่าเพื่อนเป็นแม่ทัพที่มีเมตตาบารมีสูงน่าจะดูแลฝึกฝนลูกม้าตัวนี้ได้ ตัดสินใจนำมามอบให้

ตั้งแต่วันนั้น “แม่ทัพชรา” ได้เลี้ยงดู ฝึกฝนการรับฟังคำสั่ง  เข้าใจธรรมชาติของมันที่ไม่ชอบถูกบังคับ จนกลายเป็น “ม้าศึกคู่บารมี” ตลอดมา ตั้งชื่อให้มันว่า ” ม้ามังกรแดง”  เมื่อได้รับทราบประกาศจากทางการถึงการคัดเลือกบรรดาสัตว์เพื่อนำเข้าประจำการกองทัพ “แม่ทัพชรา” เห็นว่าจะเป็นการดีต่อกองทัพและบ้านเมืองที่จะได้ใช้ประโยชน์จาก “ม้าศึก”ของตนที่อายุกำลังพอดี ไม่หนุ่มไม่แก่เกินไป และน่าจะเป็นโอกาสสร้างอนาคตให้แก่ม้านั้นด้วย

หากได้รับคัดเลือกเข้าประจำการ หรือได้รับเลือกเป็น “ม้าศึก” ประจำตัวแม่ทัพ ย่อมได้รับการเลี้ยงดูแลอย่างดีตามธรรมเนียมกองทัพ 

เขามอบหมายให้คนรับใช้นำ “ม้ามังกรแดง” ส่งเข้าไปประกวดคัดเลือกยังเมืองหลวง  บรรยากาศลานการคัดเลือกสัตว์ประจำปีเต็มไปด้วยฝูงชนหลากหลายสาขาอาชีพ ทั้งชาวนา ชาวไร่ พ่อค้า คหบดี นายทาส ขุนศึก ขุนพล เดินขวักไขว่เต็มลานดินที่เปิดโล่ง

ด้วยเพราะท่านแม่ทัพใหญ่เปิดโอกาสให้ราษฎรสามารถนำสินค้าทางการเกษตร และสิ่งของต่างๆมาขายและแลกเปลี่ยนในงานได้

ในขณะที่ทุกคนเพลิดเพลินกับงานเทศกาลนั้น  พลันเกิดเสียง ตูม  ! ดังสนั่นจากระเบิดควันที่เด็กโข่งจุดเล่นในงาน ทำเอาบรรดาฝูงชนและสัตว์ต่างๆตื่นตระหนกตกใจ แต่ “ม้ามังกรแดง” กลับยืนสงบนิ่งประหนึ่งไม่ได้ยินเสียง ด้วยเคยผ่านศึกสงครามมาก่อน

ต่างจาก “ม้าหนุ่มคู่ใจ” แม่ทัพใหญ่  ขี้เยี่ยวราดเต็มพื้นดิน ออกอาการรุกรี้รุกรนจะวิ่งกระโดดหนีให้ได้ ด้วยเพราะกำเนิดและเติบโตมาจากพ่อค้า “คณะละครสัตว์” มีความสามารถในการห้อและกระโดดตามจังหวะของเครื่องดนตรี 

ส่วน “ม้ามังกรแดง” เคยผ่านพิธีสวนสนามต่อหน้า “องค์ฮ่องเต้” อันถือเป็นเกียรติยศภาคภูมิของแม่ทัพใหญ่มาแล้ว  เมื่อถึงเวลาคัด และประกวดม้า  คนรับใช้ของ “แม่ทัพชรา” จูง “ม้ามังกรแดง” เข้าสู่ลานประกวด

นายทหารผู้ทำหน้าที่ทดสอบม้าเดินเข้าสำรวจตรวจสอบร่างกายม้าที่สูงกำยำสมส่วน พลางคิดในใจว่า ม้านี้ช่างงดงามแข็งแรงมีลักษณะต้องตาม “ตำราม้าศึก” แล้วเริ่มออกคำสั่งกับ “ม้ามังกรแดง” แต่ไม่เป็นผล เพราะน้ำเสียงและแววตาของนายทหารยัง “หยาบกระด้างแข็งกร้าว” ขาดกระแสพลังของความเมตตา ที่สัตว์สามารถรับรู้ได้

“ม้ามังกรแดง” ยืนนิ่งไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ทำให้บรรดาชาวบ้านที่มุงดูอยู่ต่างพากันหัวเราะเยาะนายทหาร เมื่อออกคำสั่งบังคับม้าไม่สำเร็จ นายทหารวิ่งกลับไปรายงานแม่ทัพใหญ่ว่า ม้าตัวนี้ลักษณะเป็น “ม้าดี” แต่ไม่เชื่อฟังคำสั่ง ไม่เหมาะที่จะเข้าประจำการกองทัพ

ก่อนเรียกคนรับใช้มารับม้าคืน พร้อมกับด่าทอไปว่าไม่ทำการฝึกฝนม้าให้พร้อมใช้งานเป็นเหตุทำให้ “นายทหารเสียหน้า” ถูกหยามเกียรติที่ไม่สามารถออกคำสั่งบังคับมันได้

ในที่สุดเมื่อ “ม้ามังกรแดง” เดินทางกลับถึงถิ่นอาศัยของ “แม่ทัพชรา” มันออกวิ่งกระโดดดีใจไปตามท้องทุ่งหญ้าอย่างอิสระเสรี แล้วเหยาะย่างไปหาเจ้าชีวิต คือ “แม่ทัพชรา” พลางยื่นแผงคอไปพันกับคอแม่ทัพคู่ใจ

น้ำตาไหลหลั่งคลอดวงตาทั้งสองของมัน

” ข้าเข้าใจเจ้า ข้าเห็นใจเจ้า ข้าจะดูแลเจ้าเอง “ เจ้าชีวิตพูดปลอบ “ม้ามังกรแดง” พร้อมใช้มือลูบเบาๆไปบนแผงคอ

ด้วยกระแสพลังของความรักและเมตตา

RELATED ARTICLES