พล.ต.ต.อธิป พงษ์ศิวาภัย ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) สั่งการ พ.ต.อ.วัชรพันธ์ ศิริพากย์, พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ รองผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ต.อ.สุพจน์ พุ่มแหยม ผู้กำกับการ2กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ต.ท.นิธิ ตรีสุวรรณ รองผู้กำกับการ2กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ต.ต.วชิรเชษฐ์ อัครธีระพงศ์ สารวัตรกองกำกับการ2กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ต.ต.ศุภเดช ธนชัยศิริ สารวัตรสอบสวนกองกำกับการ2กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี นำกำลังจับกุม นายพงษ์ศิริ โพธิ์จักร อายุ 36 ปี ตามหมายจับศาลอาญา ที่ 4053/2566 13 พ.ย. 2566 ฐานความผิด “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันทุจริต หรือ หลอกลวง โดยนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ, มีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ , สมคบฟอกเงิน และ ร่วมกันฟอกเงิน”ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลางปี 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลางได้ตรวจสอบพบ เว็บไซต์แจ้งความออนไลน์ปลอม โดยมีการเลียนแบบเว็บไซต์ แอบอ้างชื่อและใช้ตราสัญญาลักษณ์ของตำรวจสอบสวนกลาง รวมถึงหน่วยงานอื่นๆในสังกัด อีกทั้งยังพบว่ากลุ่มมิจฉาชีพดังกล่าวใช้วิธียิงแอดโฆษณาผ่านเว็บไซต์สืบค้นข้อมูล (Google Ads) ซึ่งเมื่อมีประชาชนค้นหาคำว่า “แจ้งความออนไลน์” เว็บไซต์ปลอมที่คนร้ายสร้างขึ้นจะแสดงขึ้นมาเป็นลำดับแรกๆ จนทำให้มีผู้หลงเชื่อเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเว็บไซต์จริงจำนวนมาก เมื่อมีผู้หลงเชื่อ มิจฉาชีพกลุ่มนี้ ก็จะทำทีสวมรอยเป็นแอดมิน พูดคุยสอบถามข้อมูลเบื้องต้น จากนั้นคนร้ายจะให้ผู้เสียหายติดต่อพูดคุยกับบุคคลซึ่งอ้างตนว่าเป็นทนายความผ่านแอปพลิเคชันไลน์ โดยจะให้คำปรึกษา ชี้แนะ พร้อมทั้งให้ผู้เสียหายส่งหลักฐานเรื่องที่ต้องการแจ้งความไปให้ จากนั้นทนายความปลอมก็จะส่งเรื่องต่อไปยังฝ่าย IT โดยฝ่าย IT ก็จะอ้างตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ และแจ้งกับผู้เสียหายว่า เงินที่ผู้เสียหายถูกโกงไป ได้ถูกนำไปฟอกในแพลตฟอร์มการพนันออนไลน์ต่างประเทศ และอ้างว่า สามารถนำเงินมาคืนผู้เสียหายได้ โดยใช้วิธีการแฮก (Hack) เว็บการพนันดังกล่าว เพื่อหลอกให้ผู้เสียหายโอนเงินให้ แล้วเชิดเงินทั้งหมดหนีไป ที่ผ่านมามีผู้หลงเชื่อตกเป็นเหยื่อมากกว่า 1,000 ราย สูญเงินรวมกว่า 8 ล้านบาท
หลังทราบเรื่องทางตำรวจสอบสวนกลางจึงงเร่งจัดกำลังลงพื้นที่สืบหาเบาะแสมิจฉาชีพกลุ่มนี้จนนำมาสู่การเปิดปฏิบัติการนำกำลังเข้าตรวจค้น 8 จุด ในพื้นที่ กทม., นนทุบรี, สมุทรสาคร, เชียงราย และสุราษฎร์ธานี สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้จำนวน 4 ราย พร้อมทั้งตรวจยึดทรัพย์สินมูลค่ากว่า 50 ล้าน อย่างไรก็ตามแม้จะมีการจับกุมผู้กระทำผิดทั้ง 4 ราย ไปแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังคงสืบสวนขยายผลต่อเนื่องเพื่อล้างบางมิจฉาชีพกลุ่มดังกล่าวให้หมดไป จนกระทั่งสืบทราบว่า นายพงษ์ศิริ ผู้ต้องหารายนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมขบวนการ ทำหน้าที่เปิดบัญชีม้า รวมถึงเป็นแอดมินพูดคุยหลอกลวงผู้เสียหายอยู่ที่ประเทศกัมพูชา ได้เดินกลับเข้ามาในประเทศไทยผ่านทางช่องทางธรรมชาติ อยู่ที่บ้านญาติ ในพื้นที่ จ.ชลบุรี ต่อมาผู้ต้องหาทนแรงกดดันไม่ไหวตัดสินใจจะเดินทางเข้ามามอบตัว
สอบสวน นายพงษ์ศิริ ให้การปฏิเสธ อ้างว่าไม่ได้ตั้งใจหลอกลวงเงินเหยื่อ แต่ยอมรับว่าก่อนหน้านี้ได้หางานทำในฝั่งปอยเปต ประเทศกัมพูชา ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ต่อมาได้พบข้อความประกาศชักชวนทำงานผ่านเฟซบุ๊ก จึงเกิดความสนใจ ทักแชทไปพูดคุยและตกลงจะไปทำงาน โดยมีการนัดหมายว่าจะมีคนมารับบริเวณจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว แต่เมื่อเดินทางไปถึงกลับพบถูกชายชาวกัมพูชา นำตัวไปกักขังแล้วบังคับให้เปิดบัญชีธนาคารเพื่อนำไปใช้รัยโอนเงินที่ได้มาจากการหลอกลวงเหยื่อ รวมถึงบังคับให้ ทำงานเป็นแอดมินชักชวนผู้คนมาร่วมลงทุนธุรกิจต่างๆเพื่อหลอกลวงเงินจากเหยื่อ โดยจะได้ค่าจ้างเดือนละ 18,000 บาท แต่ทำงานได้เพียงแค่ 2 เดือนก็ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ดังกล่าวขายต่อให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์กลุ่มอื่นๆก่อนจะถูกปล่อยลอยแพ จากนั้นจึงไปสมัครขอทำงานกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์อีกกลุ่มหนึ่ง กระทั่งต่อมาเกิดป่วยหนัก จึงตัดสินใจเดินทางกลับไทย ก่อนจะมาถูกจับกุมดังกล่าว แต่ทางเจ้าหน้าที่ไม่ปักใจเชื่อ เบื้องต้นจึงนำตัวส่งพนักงานสอบสวน กก.2 บก.ปอท. ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
รวบแอดมินแก๊งคอลฯ ปลอมเว็บไซต์ตำรวจสอบสวนกลาง ตุ๋นเหยื่อกว่าพันราย
RELATED ARTICLES