ชุมชนต้นแบบ

 

 

ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจโครงการชุมชนยั่งยืน

พล.ต.ท.นิรันดร  เหลื่อมศรี ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วย นายสมบัติ  ไตรศักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ  พล.ต.ท.นพดล  ศรสำราญ  พล.ต.ต.ชัยวัฒน์  หัดหกล้า ที่ปรึกษากองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด พล.ต.ต.สุขาติ คล้ายจันทร์พงษ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชัยภูมิ พ.ต.อ.พิชิต  มีแสง รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชัยภูมิ นพ.วชิระ  บถพิบูลย์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชัยภูมิ  นางพิมพ์พิศา  ศรีธรรมา ผู้อำนวยการสำนักงานฝีมือแรงงานชัยภูมิ และ นายไกรเลิศ ดาวเรือง ผู้อำนวยการสำนักงาน ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค 3 พร้อมคณะทำงานในโครงการชุมชนบำบัดอย่างยั่งยืนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ลงพื้นที่ตรวจผลการปฏิบัติโครงการชุมชนบำบัดอย่างยั่งยืนในพื้นที่แพร่ระบาดยาเสพติดสูงสุด ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในอำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ

โครงการชุมชนบำบัดอย่างยั่งยืนเป็นการค้นหาผู้เสพยาเสพติดในชุมชน และนำเข้าสู่กลไกการบำบัดด้วยความสมัครใจ มีการบูรณาการกำลังจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ ได้แก่ ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ท้องถิ่น และสาธารณสุข

ในทุกขั้นตอนของการบำบัดจะให้ชุมชนเข้ามีส่วนร่วมรับผิดชอบ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการ “คืนผู้เสพกลับสู่ชุมชน”

อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิทำ  2 โครงการ  ได้แก่ ตำบลละหาน (โครงการระดับตำบล) ดำเนินการตั้งแต่ 18 ธันวาคม 2566 ถึง 31 พฤษภาคม 2567 และพื้นที่ชุมชนหมู่ 3 ตำบลกุดน้ำใส  (โครงการระดับหมู่บ้าน) ดำเนินการตั้งแต่ 10 มิถุนายน 2567 ถึง 10 กันยายน 2567

ผลการดำเนินการของทั้ง 2 โครงการถือเป็นตัวอย่างความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม

ผู้ที่ถือว่ามีบทบาทสำคัญได้แก่ฝ่ายปกครอง คือ  นายเดช  เสนาะคำ นายอำเภอจัตุรัสที่ให้ความสำคัญของโครงการ และเข้ามาบริหารจัดการ สนับสนุนการดำเนินการทุกขั้นตอน  ดำเนินการไปพร้อม พ.ต.อ.อาทิตย์ ฉัตรชัยรัตนเวช ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรจัตุรัส เป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในโครงการ

โดยเฉพาะของตำบลละหานนั้น ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง เพราะได้รับการประเมินผลจากคณะกรรมการของกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดเป็น “ตำบลดีเด่นต้นแบบ” อันดับหนึ่งของประเทศจากจำนวนตำบลที่ร่วมโครงการทั้งหมด 100 ตำบล

สามารถค้นหาผู้เสพเข้าร่วมการบำบัดฟื้นฟูได้รวมทั้งสิ้น 240 ราย และมีผู้เสพที่ผ่านการบำบัดในโครงการ “กลับคืนสู่ชุมชน”  ได้รับใบรับรองจากแพทย์ตามกฎหมายรวมจำนวน 96 ราย ส่วนที่เหลือยังอยู่ระหว่างการประเมินของแพทย์ คาดว่าจะมีผู้ผ่านการบำบัดเพิ่มขึ้นอีก

พล.ต.ท.นิรันดร เหลื่อมศรี ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติยังเปิดเวทีหารือร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกัน “ถอดบทเรียน”ความสำเร็จนำแนวทางปฏิบัติของ อำเภอจัตุรัส ไปเป็นตัวอย่าง “ชุมชนต้นแบบ” ในการขับเคลื่อนโครงการชุมชนบำบัดอย่างยั่งยืนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในอนาคต

พบปัจจัยความสำเร็จสำคัญที่สุด คือ ความร่วมมือกันของหน่วยงานภาคีทั้ง ตำรวจ ฝ่ายปกครอง สาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชน พร้อมทั้งการแสวงหาความร่วมมือเพิ่มเติมจากองค์กรภาคเอกชน เช่น ทุนประกอบอาชีพให้กับผู้ผ่านการบำบัด

นอกจากนั้น ยังมีการดำเนินการ นรูปแบบ “อสม.บัดดี้”  ดูแลผู้บำบัดอย่างใกล้ชิดแบบ 1 ต่อ 1 การจัดกิจกรรมบำบัด ด้านฝึกอาชีพ ได้รับความร่วมมือจากแรงงานจังหวัด จัดกิจกรรมฝึกอาชีพที่ทำให้ผู้บำบัดสามารถนำไปใช้ในการประกอบอาชีพได้จริง  

กิจกรรมบำบัดทางการแพทย์ (CBTx) มีแพทย์ที่ทำการรักษาเข้าร่วมกิจกรรมทุกครั้ง และหนังสือรับรองผู้ผ่านการบำบัด จะต้องออกโดยโรงพยาบาลจัตุรัส และลงนามโดยแพทย์ และจัดประชุมติดตามการปฏิบัติทุกสัปดาห์

นายอำเภอเป็นประธานการประชุมด้วยตัวเองทุกครั้ง

ปัจจัยเหล่านี้ ส่งผลสำเร็จต่อโครงการ สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ชุมชนจนสามารถขยายพื้นที่ดำเนินการได้และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากคนในชุมชน

“เป้าหมายสำคัญที่สุดของโครงการ  คือ ผู้เข้าร่วมบำบัดในโครงการต้องหาย ไม่กลับไปเสพยาเสพติดอีก” พล.ต.ท.นิรันดรให้เหตุผลความสำเร็จของโครงการก็จะส่งผลดีกลับไปยังชุมชนเอง เป็นการช่วยลดปัญหาอาชญากรรม  ลดปัญหาสังคมในชุมชน

ป้องกันไม่ให้เกิด “ผู้เสพหน้าใหม่” ขึ้นในชุมชน ป้องกันเยาวชนไม่ให้เข้าสู่วงจรยานรกได้อีกด้วย

ทำให้ชุมชนสามารถดูแลชุมชน พึ่งพาคนในชุมชนกันเอง

 ถือเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรมอย่างเต็มรูปแบบ

RELATED ARTICLES