ผู้ที่มีอาชีพเป็นตำรวจ จักต้องเป็นตำรวจมืออาชีพ

 

 

อีกความสูญเสียปูชนียบุคคลสำคัญของวงการตำรวจ

ตำนานผู้นำมือปราบคนดัง พล.ต.อ.ณรงค์ มหานนท์ จากไปด้วยโรคชราในวัย 98 ปีที่เรื่องราวไว้มากมายตลอดชีวิตเครื่องแบบผู้พิทักษ์สันติราษฎร์

ฝ่ามรสุมกลเกมการเมืองนั่งเก้าอี้อธิบดีกรมตำรวจตั้งแต่ปี 2525-2530 ยาวนานถึง 5 ปีจบจวนเกษียณอายุราชการ

มือสะอาดไม่มีประวัติด่างพร้อย

เรื่องราวอัตชีวประวัติและเส้นทางชีวิตถือเป็นความภาคภูมิใจที่สุด ถนอมศักดิ์ จิรายุสวัสดิ์ เรียบเรียงบันทึกไว้นพ็อกเก็ตบุ๊ก “ตำรวจน้ำดี” พล.ต.อ.ณรงค์ มหานนท์ ตีพิมพ์ครั้งแรกเดือนธันวาคม 2554

เนื้อหาเข้มข้นน่าอ่าน

นักเรียนนายร้อยทหารบกเบ็นเข็มมาเป็นตำรวจ เริ่มต้นตำแหน่งรองสารวัตรสถานีตำรวจนครบาลบางซื่ออยู่ยาวจนได้เป็นสารวัตรใหญ่  พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจเรียกไปมอบ “แหวนอัศวินฝังเพชร” ตอบแทนการทุ่มเททำงานอย่างหนัก

ต่อมา ขึ้นรองผู้กำกับการนครบาล 3 เป็นผู้กำกับการนครบาล 3 รองผู้บังคับการตำรวจนครบาลพระนครบาลเหนือ ผู้บังคับการตำรวจนครบาลพระนครเหนือ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจนครบาล รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และผู้บัญชาการตำรวจนครบาล

เป็น “ลูกหม้อ” หน่วยตำรวจเมืองหลวงที่ก้าวถึงปลายยอด “เก้าอี้สูงสุด” เช่นเดียวกับ พล.ต.อ.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น มือสืบสวนสอบสอบสวนรุ่นพี่

“ชีวิตตำรวจต้องเสียสละอย่างใหญ่หลวงและเป็นชีวิตที่ต้องเสี่ยงคุกเสี่ยงตะราง ชนิดที่ว่า ขาข้างหนึ่งเข้าไปอยู่ในตะรางแล้ว” เจ้าตัวว่า

แม้จะจับผู้กระทำความผิดตามกฎมาย พอหลุดออกมา ผู้ต้องหาสามารถฟ้องร้องแจ้งข้อหากลับ และดำเนินคดีกับตำรวจได้ตลอดเวลา เป็นการกักขัง หน่วงเหนี่ยวอิสรภาพ

“ดูเหตุผลแล้วขมขื่นใจอย่างบอกไม่ถูก แต่ตำรวจเราทำตามหน้าที่ ทำตามกฎหมายบ้านเมือง ผิดก็ว่ากันไปตามผิด เราต้องมีความเป็นธรรมให้ประชาชนและสังคม” อดีตแม่ทัพคนดังระบายความรู้สึก

เขายังแสดงวิสัยทัศน์ของตำรวจไทยในอนาคตเน้นคำว่า

“ผู้ที่มีอาชีพเป็นตำรวจ จักต้องเป็นตำรวจมืออาชีพ”

ประกอบหลักการสำคัญ คือ การป้องกันอาชญากรรมเป็นพันธกิจพื้นฐานของตำรวจ ต้องได้รับความเคารพนับถือจากประชาชนอย่างเต็มที่ หากประชาชนเคารพกฎหมายก็จะพัฒนาให้เคารพตำรวจด้วย ความร่วมมือของประชาชนจะลดลงหากตำรวจใช้ความรุนแรง

ตำรวจต้องบังคับให้เป็นตามกฎหมายโดยปราศจากอคติ

การใช้กำลังเป็นเพียงวิธีสุดท้ายเท่านั้น

ตำรวจ คือ ประชาชน และประชาชน คือ ตำรวจ แต่ตำรวจยังเป็นตัวแทนของกฎหมาย

พล.ต.อ.ณรงค์ มหานนท์ มีแนวคิด “ผ่าตัดใหญ่” โครงสร้างตำรวจด้วยว่า ต้องแยกการเมืองออกจากการบริหารให้ชัดเจน ทำหน้าที่แค่กำหนดนโยบาย ส่วนการบริหารไปสู่การปฏิบัติต้องมี “คณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ”

เกิดจากผลพวงสถานการณ์ชุมนุมที่คุกรุ่นต่อเนื่องหลายปี ส่งผลให้ตำรวจปฏิบัติงานได้ยากขึ้น ถูกมองว่า ตำรวจเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมือง

“ตำรวจ คือคนกลางที่โดนบีบคั้นทั้งสองด้าน และไม่รู้จะทำอย่างไรดี เวลาเกิดปัญหาก็มักจะโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง ฉะนั้นหลายฝ่ายต้องจับเข่าคุยกัน” พล.ต.อ.ณรงค์ให้เหตุผลต้องรีบแก้ไขในระยะยาว

เอาประชาชนเป็นจุดศูนย์กลาง

ผ่านเกินกว่า 30 ปี ท้ายสุดยังคงวนอยู่ในอ่างใบเดิม

 

RELATED ARTICLES