ความคาดหวังกับแม่ทัพคนใหม่

 

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “ความคาดหวังต่อการทำงานของ ผบ.ตร.คนใหม่”

ทันทีที่ได้ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ขึ้นนั่งเก้าอี้ “ผู้นำสูงสุด” ของหน่วย

กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,244 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 8-11 ตุลาคม 2567

กลุ่มตัวอย่างมองว่า ปัญหาขององค์กรตำรวจ ณ วันนี้ คือ การมีความขัดแย้งภายในองค์กร ร้อยละ 65.84 ยังแก้ปัญหายาเสพติดและแก๊งคอลเซ็นเตอร์ไม่ได้ ร้อยละ 64.39 บริการประชาชนยังไม่ดีพอ ร้อยละ62.78

สิ่งที่อยากให้ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เร่งดำเนินการ คือ การปฏิรูปองค์กรตำรวจให้โปร่งใส ร้อยละ 76.49 ปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์และมิจฉาชีพออนไลน์อย่างจริงจัง ร้อยละ 71.58 สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน เป็นตำรวจที่พึ่งได้ ร้อยละ 60.71

โดยรวมค่อนข้างคาดหวังกับผู้นำคนใหม่ ร้อยละ 45.90 ไม่ค่อยคาดหวัง ร้อยละ 20.66  ไม่คาดหวัง ร้อยละ 7.80

สิ่งที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนมากขึ้น คือ ต้องยกระดับมาตรฐานการทำงานของตำรวจให้ดีขึ้น ร้อยละ 73.70 แก้ปัญหาและช่วยเหลือประชาชนอย่างรวดเร็ว ร้อยละ 69.86  สร้างผลงานให้เห็นเป็นรูปธรรม ร้อยละ 69.06

สุดท้ายสิ่งที่อยากบอกเป็นพิเศษกับ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ คือ ทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ทำเพื่อประชาชน ร้อยละ 43.13  เร่งจัดการแก๊งคอลเซ็นเตอร์และพวกค้ายาเสพติดร้อยละ 32.77  รักษากฎหมายอย่างเคร่งครัด มีความยุติธรรม ร้อยละ 24.31

น.ส.พรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพลกล่าวว่า จากผลการสำรวจชี้ว่าความขัดแย้งภายในองค์กรตำรวจเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพและความเชื่อมั่นในระบบยุติธรรม ประชาชนอยากเห็นการปฏิรูปองค์กรตำรวจ ยกระดับมาตรฐานการทำงาน สร้างผลงานที่จับต้องได้และเร่งจัดการปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์โดยด่วน

มีความหวังว่า พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่จะมีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูความเชื่อมั่นและเร่งทำงานช่วยเหลือประชาชน

ส่วน ว่าที่ ร.อ.ศักดา ศรีทิพย์ อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรกฎหมายมหาชน และบริหารงานยุติธรรม โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิตอธิบายว่า ประชาชนเห็นปัญหาใหญ่สุดขององค์กรตำรวจ คือ ปัญหาความขัดแย้งภายในจากการแย่งชิงเก้าอี้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

“ใช้ระบบอุปถัมภ์ วิ่งเต้นให้ได้ตำแหน่ง นำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชัน เกิดภาพลบในวงการตำรวจ” เจ้าตัวว่า

นอกจากนี้ประชาชนยังเห็นว่า การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในการแก้ปัญหายาเสพติด แก๊งคอลเซ็นเตอร์และการบริการประชาชน ยังไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดปัญหาสังคม

ปกติแล้วเวลาประชาชนเดือดร้อนมักจะนึกถึงตำรวจ

อาจารย์มหาวิทยาลัยสวนดุสิตย้ำว่า เพราะตำรวจเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมาย แต่เมื่อไปแจ้งความแล้วมักจะไม่คืบหน้า ทำให้รู้สึกว่าพึ่งพาตำรวจไม่ได้ ความศรัทธาที่มีจึงลดน้อยถอยลงไปมาก “ทำให้เมื่อมีผู้บัญชาการตำรวจคนใหม่ต้องการเห็นการทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ทำเพื่อประชาชน ปฏิรูปองค์กรตำรวจให้มีความโปร่งใส”

มีมาตรฐานที่ดีในการทำงานเพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ

RELATED ARTICLES