น่าจะเป็นโมเดลอย่างที่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ แม่ทัพปทุมวันวาดฝันไว้
ให้ตำรวจทำตัวเป็น “อินฟลูเอนเซอร์” เอง เพื่อเป็นที่พึ่งประชาชน ไม่ใช่ผลักให้ไปหาหน่วยงานอื่น
สุดท้ายก็ย้อนกลับมาหาตำรวจอยู่ดี
น่าสนใจ โครงการ Cyber Booster #สร้างภูมิสู้ภัยไซเบอร์ ที่กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ รายการสถานีประชาชน สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และบริษัท เทลสกอร์ จำกัด จัดมือกันเปิดตัวในรายการสถานีประชาชน สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
ดึงเอาบรรดานายตำรวจตัวตึงบนโลกออนไลน์ มี พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล ผู้ก่อตั้งเพจ สืบสวนนครบาล IDMB ที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามร่วมกิจกรรมด้วย
ตั้งแต่ “สารวัตรแจ๊ะ” พ.ต.ต.ธัญพีรสิษฐ์ จุลพิภพ สารวัตรกองกำกับการสืบสวน 3 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล “ผู้กองวิน” ร.ต.อ.นนทพัทธ์ อินทรศวร รองสารวัตรกองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี “หมวดแพนด้า” ร.ต.ท.หญิง กานต์สินี สิทธิโชติพงศ์ รองสารวัตรฝ่ายสือสิ่งพิมพ์ กองสารนิเทศ ช่วยราชการฝ่ายประสัมพันธ์ กองบัญชาการตำรวจสอบวนกลาง
ผสมผสานทีมกากีนั้งทีวี “สารวัตรเติ้ก” พ.ต.ต.พากฤต กฤตยพงษ์ สารวัตรฝ่ายทะเบียนประวัติอาชญากร 5 กองทะเบียนประวัติอาชญากร “ผู้กองไอซ์” ร.ต.อ.พิชพงศ์ โสมกุล รองสารวัตรฝ่ายอำนวยการ กองบินตำรวจ “ผู้กองแพรว” ร.ต.อ.หญิง พิชญากร สุขทวี รองสารวัตรฝ่ายตำรวจสากลและประสานงานภูมิภาค 2 กองการต่างประเทศ
มี คุณธิดารัตน์ อนันตรกิตติ เป็นผู้ดำเนินรายการสถานีประชาชน สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
โครงการที่ผลิตและเผยแพร่สื่อเตือนภัยเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันสู้ภัยไซเบอร์ มีจุดริเริ่มมาจากสถานการณ์สังคมไทยปัจจุบันที่ต้องเผชิญปัญหาที่มาจากภัยไซเบอร์ การแสวงหาประโยชน์จากกลุ่มมิจฉาชีพที่หลอกลวงประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ เว็บไซต์ปลอมที่แอบอ้างเป็นหน่วยงานราชการ และ การลักลอบใช้ข้อมูลส่วนตัวของผู้เสียหายนำมาข่มขู่ให้เกิดความกลัวและยอมทำตามที่มิจฉาชีพต้องการ
จากปัญหาและผลกระทบดังกล่าว โครงการ Cyber Booster จะเข้ามาสร้างการตระหนักรู้ในภัยไซเบอร์ในช่องทางออนไลน์เพื่อสร้างความเข้าใจและเสริมภูมิคุ้มกันต่อมิจฉาชีพแก่ประชาชน รวมทั้งช่วยประชาสัมพันธ์ช่องทางการช่วยเหลือจากภาครัฐให้ประชาชนทราบผ่านชุดคลิปวิดีโอจำนวน 17 เรื่องที่จัดทำขึ้น
มีนายตำรวจ “เน็ตไอดอลรุ่นใหม่” สวมวิญญาณ “อินฟลูเอนเซอร์” ออกเตือนภัยชาวบ้านไม่ให้ตกเป็นเหยื่อวายร้ายบนโลกออนไลน์
พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผู้บังคับการสืบสวนสอลบสวนตำรวจนครบาลระบุว่า ที่ผ่านมาตำรวจพยายามทำหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่เพื่อสู้กับมิจฉาชีพ แต่ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า มิจฉาชีพเองมีพัฒนาการต่อไปไม่หยุดยั้ง
เปรียบเหมือนตำรวจที่อยู่ในสงครามสู้กับมิจฉาชีพ 5G
“ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านการปราบปรามเป็นไปได้ยากขึ้น เพราะคนร้ายพยายามใช้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องหรือประเทศที่ 3 เข้ามาเป็นผู้ดำเนินการ เช่น กลุ่มคนร้ายประเทศ A ใช้ฐานที่ตั้งประเทศ B โดยมีลูกทีมเป็นคนประเทศ C” พล.ต.ต.ธีรเดชว่า
นายพลนักสืบบอกว่า จุดเริ่มต้นโครงการ Cyber Booster ทำให้เรามีความหวัง ทุกคนในที่นี้และที่กำลังจะร่วมมือกันในอนาคต กำลังสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันร่วมกัน
“คนไทยที่ถูกหลอกส่วนมากจะอายและไม่กล้าออกมาเปิดเผยตัว ในฐานะตำรวจขอให้ผู้ที่เสียหายเดินเข้าหาเจ้าหน้าที่ออกมาเล่าเรื่องที่เกิดขึ้น ออกมาแจ้งความเพื่อเป็นตัวอย่างและภูมิคุ้มกันให้คนอื่นๆ” ผู้การจ๋อเน้นย้ำ
สามารถติดตามข่าวสารของ โครงการ Cyber Booster #สร้างภูมิสู้ภัยไซเบอร์ และช่องทางการเผยแพร่ชุดคลิปวิดีโอ ตามสื่อโซเชียลมีเดีย ดังนี้
Facebook / Tiktok / Youtube กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ รายการสถานีประชาชน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำรวจสอบสวนกลาง CIB สืบนครบาล IDMB Saranitet Police KhakinangTV กากีนั้งทีวี POLICETV Tellscore
ขณะเดียวกันยังสามารถดาวน์โหลดชุดคลิปวิดีโอ โครงการ Cyber Booster #สร้างภูมิสู้ภัยไซเบอร์ ผ่านทางช่องทางหลัก https://www.sonp.or.th/
กู้ภาพตำรวจ “คืนศรัทธา”เป็นที่พึ่งพาประชาชนอย่างแท้จริง