กระบวนการยุติธรรมฉบับเรือเกลือ

ระหว่างที่ลูกพี่ “เจ้าของค่าย” กำลังลุ้นผลเรียกร้องสู้ขอความเป็นธรรมจาก “พิษมรสุมกรรม” กระเด็นพ้นรั้วสำนักปทุมวัน

เหล่าบรรดาผู้เกี่ยวข้องต่างเผชิญวิกฤติการกระทำในคราวเดียวกันด้วย

นายศักดิ์เกษม นิไทรโยค ผู้ตรวจการอัยการ ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงความคืบหน้า ตามที่ กองกำกับการ 4 กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 ได้ส่งสำนวนสอบสวนคดีที่ 724/2566

คดีระหว่าง พ.ต.ท.มนต์ชัย บุญเลิศ ผู้กล่าวหา นายณัฐวัตร พิมพ์สวัสดิ์ กับพวกรวม 61 คน ผู้ต้องหา ฐานร่วมกันจัดให้มีการเล่น หรือทำอุบายล่อ ช่วยประกาศโฆษณาหรือชักชวนโดยทางตรงหรือทางอ้อมให้ผู้อื่นเข้าเล่นพนันในการเล่นทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์โดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน อันขัดต่อบทแห่งพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478  สมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันและร่วมกันฟอกเงิน มายังสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 2 เพื่อพิจารณาดำเนินการ

พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 2 มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่ 4 – 7, 15 – 19, 27, 31 – 32, 38 – 39, 44, 49 – 51, 53, 55 และที่ 59 รวม 21 คน และมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่ยังไม่ได้ตัวมา รวม 20 คน คือ ผู้ต้องหาที่ 28, 30, 33 – 36, 40 – 43, 45 – 48, 52, 54, 56 – 58, ที่ 60 ตามข้อกล่าวหา

มีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาที่ 8 – 11 รวม 4 คน (ผู้ต้องหาที่ 9 และ 10 หลบหนี) ฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันและร่วมกันฟอกเงิน

ต่อมา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีความเห็นแย้งคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาที่ 8 – 11 และส่งสำนวนมายังอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาชี้ขาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145/1

อัยการสูงสุดพิจารณาแล้ว มีคำสั่งชี้ขาดให้ฟ้อง ผู้ต้องหาที่ 8 และผู้ต้องหาที่ 11 และชี้ขาดควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่ 9 และผู้ต้องหาที่ 10 ฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันและร่วมกันฟอกเงิน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พุทธศักราช 2542 มาตรา 3, 5, 9, 60 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 5) พุทธศักราช 2558 มาตรา 10 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 ตามความเห็นแย้งของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

พร้อมทั้งแจ้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจัดการให้ได้ตัวผู้ต้องหาที่ 9 และ 10 มาดำเนินคดีภายในอายุความ 15 ปี นับแต่วันกระทำความผิด

สำหรับผู้ต้องหาที่ 1 – 3, ที่ 12 – 14, ที่ 20 – 26 และที่ 61 รวม 14 คน สำนวนอยู่ระหว่างการดำเนินการของ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และผู้ต้องหาที่ 29 และ 37 อีก 2 คน เป็นเยาวชน ส่วนผลความคืบหน้าทางคดีเป็นประการใด สำนักงานอัยการสูงสุดจะแจ้งให้ทราบต่อไป

น่าเสียดายผู้ต้องหาทั้งหมดเป็นพลเรือน กลุ่มแอดมิน บัญชีม้า ไม่มีตำรวจ “ติดร่างแห” สักนายเดียว

เนื่องจากทั้ง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล และลูกทีมในค่ายที่ตกเป็นผู้ต้องหารวม 14 คน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ลากเอาสำนวนไปพิจารณาทำเองทั้งหมด

ปัจจุบันไม่มีความคืบหน้าเหมือน “อืดเป็นเรือเกลือ”

ยังไม่เข้าสู่กระบวนการไต่สวนเลยด้วยซ้ำ

 

RELATED ARTICLES