พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาตินัดประชุมบอร์ดกลั่นกรองในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 เพื่อเตรียมส่งบัญชีเข้าที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ
ตามกำหนดที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปนั่งหัวโต๊ะพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายระดับรองผู้บัญชการถึงผู้บัญชาการประจำปีในวันรุ่งขึ้น
ท่ามกลางบรรยากาศร้อนระอุฝุ่นตลบอบอวล
อาวุโส ความรู้ความสามารถ หลักเกณฑ์การพิจารณาหาใช่สาระสำคัญเท่ากับ “ตั๋วฝาก”จากผู้กุมอำนาจตัวจริง
รู้กันทั่วทั้งสำนักปทุมวันใครใหญ่สุดกว่า “นายหญิง” ผู้อยู่เบื้องหลังคัดสรรขุนพลคุมทัพสำคัญแบบไร้กฎเกณฑ์เป็น “กฎเหล็ก” ขวาง
ทำให้บัญชีระดับผู้บัญชาการที่ว่าง 14 ตำแหน่ง ถูกตัดโควตาอาวุโส 50 เปอร์เซ็นต์บวกตำแหน่งเฉพาะทางอีกตำแหน่ง
เหลือเก้าอี้ว่างให้ประชันแรงผลักดันของผู้หลักผู้ใหญ่แค่ 6 ตำแหน่ง
แก่งแย่งชิงดีชิงเด่นเพื่อก้าวไปสู่ “เก้าอี้ทำเลทอง” ไม่จำเป็นต้องหันมามองหน้าพี่น้องผองเพื่อน
มีเพียง พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ กรรมการข้าราชการตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิออกมาส่งสัญญาณเตือนการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจอาจก่อให้เกิดปัญหาทางกฎหมายอย่างมีนัยสำคัญ
เนื่องจากการจัดส่งเอกสารประกอบการประชุม ฝ่ายเลขานุการส่งเพียงหนังสือเชิญประชุมที่ระบุว่า มีวาระการแต่งตั้ง พร้อมเอกสารที่มีเฉพาะชื่อและประวัติรับราชการเท่านั้น
ไม่ได้จัดส่งบัญชีแต่งตั้งและเหตุผลการพิจารณาของคณะกรรมการแต่งตั้งระดับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ด้วยการอ้างเหตุผล “เป็นความลับ” และขออนุมัติต่อประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจเพื่อนำเสนอในที่ประชุมเพื่อพิจารณา
พล.ต.อ.เอกมองว่า มีปัญหาความชอบด้วยกฎหมายหลายประการโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติปี 2565 มาตรา 60 และมาตรา 82 ที่กำหนดหลักเกณฑ์การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจไว้อย่างชัดเจน
ต้องพิจารณาจากความรู้ความสามารถ ประวัติการรับราชการ ผลการประเมินการปฏิบัติงาน ความประพฤติ ประสบการณ์ในการปฏิบัติงาน รวมถึงผลการประเมินความพึงพอใจของประชาชน
นอกจากนี้ ยังขัดต่อกฎคณะกรรมการข้าราชการตำรวจว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจปี 2567 ที่มุ่งเน้นให้การพิจารณาแต่งตั้งต้องยึดถือระบบคุณธรรมและความโปร่งใสในการบริหารงานบุคคลเป็นสำคัญ
ประเด็นที่น่าห่วงกังวลอีกประการหนึ่งคือ การดำเนินการดังกล่าวยังขัดต่อหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีและหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญ
ทั้งในแง่ของหลักความโปร่งใสในการตัดสินใจ หลักการมีส่วนร่วมในการพิจารณา และหลักความรับผิดชอบและตรวจสอบได้
สอดคล้องกับแนวคำพิพากษาศาลปกครองที่ พล.ต.อ.เอกยืนยันวางหลักไว้ว่า การพิจารณาแต่งตั้งจำเป็นต้องมีระยะเวลาที่เพียงพอในการศึกษาข้อมูล และต้องมีข้อมูลประกอบการพิจารณาที่ครบถ้วน
การนำเสนอเพียงบัญชีรายชื่อในที่ประชุมโดยไม่มีข้อมูลประกอบการพิจารณาที่เพียงพอ อาจส่งผลให้การใช้ดุลพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมายและอาจถูกเพิกถอนในภายหลังได้
เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและสอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล เจ้าตัวมีข้อเสนอว่า ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการข้าราชการตำรวจควรจัดส่งเอกสารประกอบการพิจารณาล่วงหน้าพอสมควร
เอกสารดังกล่าวควรประกอบด้วย บัญชีรายชื่อผู้ได้รับการเสนอแต่งตั้ง ประวัติการรับราชการโดยละเอียด เหตุผลและข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณา ความเห็นของคณะกรรมการแต่งตั้งระดับสำนักงานตำรวจแห่งชาติตลอดจนผลการประเมินการปฏิบัติงานและความพึงพอใจของประชาชน
พล.ต.อ.เอกย้ำควรมีการกำหนดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในการเปิดเผยข้อมูลประกอบการพิจารณา คำนึงถึงหลักความโปร่งใสและการรักษาความลับของทางราชการอย่างสมดุล
เนื่องจากการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจมีผลกระทบโดยตรงต่อประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายและความสงบเรียบร้อยของสังคม
การปรับปรุงกระบวนการพิจารณาให้สอดคล้องกับหลักกฎหมายและหลักธรรมาภิบาลเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนและองค์กรตำรวจ
เขามีหนังสือลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 เรียนเลขานุการคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ขอให้ส่งบัญชีการแต่งตั้งและผลการพิจารณาขอคณะกรรมการแต่งตั้งระดับสำนักงานตำรวจแห่งชาติตลอดจนเอกสารที่เกี่ยวข้องให้คณะกรรมการข้าราชการตำรวจได้พิจารณาก่อนการประชุมพอสมควร
ถึงกระนั้นก็ตามแน่นอนที่สุดหากข้อมูลรั่วไหลอาจกระเทือน “คนฝากตั๋ว”
เพราะเมื่อเปิดตัว “ผู้เข้าแข่งขัน” เหมือนเกมเดิมพัน “ซื้อใจ” คณะกรรมการข้าราชการตำรวจไว้ล่วงหน้า