เดินทางไปรอรับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถึงบันไดเครื่องบิน บริเวณท่าอากาศยาน 2 กองบิน 6 ดอนเมือง หลังจากเดินทางกลับจากภารกิจร่วมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกที่กรุงลิมา ประเทศเปรู
พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ถือโอกาสรายงานถึงการเตรียมประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 เวลา 14.30 น.
วาระสำคัญในการพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติถึงผู้บัญชาการประจำปี 2567
ระบุเป็นครั้งแรกที่ต้องใช้พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่เป็นหลักเกณฑ์การพิจารณาแต่งตั้ง
โจทย์การบ้านครั้งสำคัญของ “นายหญิง” ที่ต้องนั่งหัวโต๊ะเป็นผู้กำกับการแสดงตัวจริง ส่วนต้องเล่นไปตามบทผู้อำนวยการสร้างที่อยู่ฉากหลังหรือไม่
นายด่าน “อรหันต์สีกากี”จะเป็นคำตอบ
กระนั้นก็ตาม พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ เจ้าสำนักปทุมวัน นัดประชุมบอร์ดกลั่นกรองพิจาณาบัญชีในบ่ายวันนี้ (19 พฤศจิกายน 2567) ท่ามกลางกระแสข่าวมากมายและหลากหลายเกี่ยวกับอำนาจทางการเมืองแทรงแซง
ค่าย “ผู้กอง” จองยึดหัวหาดเก้าอี้ “แม่ทัพหลัก” แบ่งเค้กขั้วของ “นายใหญ่”
แต่น่าสนใจตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล แทนที่ พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ที่มีคิวต้องเลื่อนขึ้นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจนครบาล
พล.ต.ท.สันติ ชัยนิรามัย จเรตำรวจ นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 48 เต็งหาม “นอนมา” ตั้งแต่ต้นด้วยฝีไม้ลายมือเข้าตาผู้ใหญ่ แม้เคยอยู่ข้างกาย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ไม้เบื่อไม้เมากับคนเสื้อแดง
ก่อนเกิดแรงกระเพื่อมเล็กน้อย “ช่วงทิ้งโค้ง” เมื่อปรากฏชื่อ พล.ต.ท.นัยวัฒน์ ผะเดิมชิต ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 40 กลับมาเป็น “แคนดิเดตสอดแทรก” แม้จะเหลือเวลาคุมทัพไม่ถึงปีต้องเลื่อนขึ้นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
เหตุเพราะเจ้าตัวเคยดำรงตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจนครบาล 4 ดูแลพื้นที่บ้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มี พล.ต.ต.ชัยฤทธิ์ อนุฤทธิ์ ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล 4 นายตำรวจคนดังเป็นเพื่อนร่วมรุ่นช่วยผลักดัน
ขณะที่ พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 46 ลูกหม้อนครบาล มือทำงานครบเครื่องบู๊และบุ๋น ประสานได้ทุกทิศถูกเบียดกระเด็นหลุดออกจากกระดาน เพราะ “ตัวอ่อน”
จากตัวเลขเทียบประสบการณ์บนเส้นการทำงานในกองบัญชาการตำรวจนครบาลน่าสนใจ แต่คงไม่มีผู้ใหญ่เอาไปพิจารณา
ระดับผู้บัญชาการ มี พล.ต.ท.เสนิต สำราญสำรวจกิจ ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ จำนวน 29 ปี พล.ต.ท.วัฒนา ยี่จีน ผู้บัญชาการศึกษา จำนวน 22 ปี พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ จำนวน 8 ปี พล.ต.ท.สันติ ชัยนิรามัย จเรตำรวจ จำนวน 8 ปี พล.ต.ท.กฤตธาพล ยี่สาคร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 จำนวน 5 ปี พล.ต.ท.นิธิธร จินตกานนท์ ผู้บัญชาการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จำนวน 3 ปี พล.ต.ท.นัยวัฒน์ ผะเดิมชิต ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค จำนวน 2 ปี พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง ผู้บัญชาการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จำนวน 1 ปี พล.ต.ท.กฤษกร พลีธัญญวงศ์ ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจสอบภายใน จำนวน 1 ปี
ส่วนข้อมูลระดับรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลที่มีประสบการณ์ในหน่วยเรียงตามลำดับอาวุโส มี พล.ต.ต.ทินกร รังมาตย์ จำนวน 6 ปี พล.ต.ต.วสันต์ เตชะอัครเกษม จำนวน 3 ปี พล.ต.ต.สมควร พึ่งทรัพย์ จำนวน 20 ปี พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ จำนวน 30 ปี
ว่ากันว่ามีแนวคิดในการพิจารณาแต่งตั้งครั้งนี้จะ “ชักบันไดหนี” กลุ่มอาวุโสไม่ถึง 3 ปีออกจากเกมเก้าอี้ดนตรีเพื่อสกัด “ตั๋วฝาก” ที่ล้นเต็มหน้าตัก
ไม่คำนึงถึงหลักกฎหมายตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ มาตรา 76 ในการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรที่มิใช่ตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะผู้บังคับบัญชาต้องแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในกลุ่มสายงานที่ผู้นั้นมีความรู้ ความชำนาญ หรือความถนัด และมุ่งหมายให้ผู้นั้นได้มีโอกาสปฏิบัติหน้าที่ด้านต่าง ๆ อย่างหลากหลาย
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการข้าราชการกำหนดในการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ระดับสารวัตรขึ้นไปในกลุ่มสายงานใด ให้พิจารณาโดยคำนึงถึงอาวุโส ความรู้ความสามารถ ทักษะ ความสมัครใจ และความจำเป็นของทางราชการประกอบกัน และต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในหมวดนี้
มาตรา 77 การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งให้แต่งตั้งตามหลักเกณฑ์
(4) ตำแหน่งผู้บัญชาการและจเรตำรวจจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากข้าราชการตำรวจยศ พล.ต.ต. หรือ พล.ต.ท.และเคยดำรงตำแหน่งระดับรองผู้บัญชาการ หรือ รองจเรตำรวจมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปี
หากคิด “ชักบันไดหนีใคร” ระวังสุ่มเสี่ยงข้อกฎหมาย
ตายน้ำตื้นยกเข่ง