“โชกโชนมาตั้งแต่จบมาใหม่ ๆ ถูกยิง 1 ครั้ง โดนระเบิด 2 ครั้ง”

ดีตนักรบเดนตายอีกคนในสมรภูมิชายแดนด้ามขวานไทย

พล.ต.ท.ธานี ทวิชศรี ผู้มากประสบการณ์ยามสถานการณ์เดือดจับปืนปะทะกลุ่มก่อการร้ายตั้งแต่วัยหนุ่มติดยศร้อยตำรวจตรีไปจนถึงนายพลตำรวจ

เกิดกรุงเทพฯ ลูกชาย พ.ต.อ.วิวัฒน์ และศุลักษณ์ ทวิชศรี ตอนเด็กระหกระเหินตามผู้พ่อไปหลายที่เปลี่ยนโรงเรียนหลายแห่งถึงมาลงเอยจบมัธยมปลายโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ก่อนเดินเข้ารั้วนายร้อยตำรวจเป็น “พราน 24” รุ่นเดียวกับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส พล.ต.ท.ปัญญา เทียนศาสตร์ พล.ต.ท.บุญชอบ คงน้อย พล.ต.ท.ถาวรศักดิ์ เทพชาตรี

“ผมอยู่ทั้งภาคใต้ ภาคกลาง และภาคเหนือ เรียกได้ว่า ย้ายมากที่สุดในประเทศไทย ย้ายมา 31 ครั้ง แต่ย้ายไปไหนไม่สนใจ ช่างมัน ก็ขนครอบครัวไปด้วยหมด”อดีตนายพลนักรบเท้าความ เขาเลือกเดินตามรอยบิดา แม้จะได้รับเสียงคัดค้านจากผู้ให้กำเนิดที่อยากเห็นลูกชายเป็นทหารมากกว่าตำรวจ เนื่องจากรู้รสชาติขององค์กรพิทักษ์สันติราษฎร์เป็นอย่างดี แต่เจ้าหนุ่มธานีกลับฝืนความตั้งใจกลายเป็นตำรวจเหมือนพ่อ

บรรจุครั้งแรกเป็นผู้หมวดนครบาลอยู่สุขสบายเดือนเดียว เกิดสถานการณ์ความรุนแรงเกี่ยวกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์เลยถูกจับลงไปประจำสถานีตำรวจภูธรกิ่งอำเภอเคียนซา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ใช้เวลาเดินทางครึ่งวันกว่าพอไปถึงโรงพักถูกเผาเกลี้ยงหมดแล้วต้องขุดหลุมอยู่กัน พล.ต.ท.ธานีเล่าว่า สนุก ไม่กลัวอะไร ปะทะ คือปะทะ ลุยเป็นลุย ไปฝึกอบรมลูกเสือชาวบ้าน สลับกับการลาดตระเวนแถบพื้นที่สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ พังงา ชุมพร ระนอง รบกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ละแวกนั้น 3 ปี ชายแดน 3 จังหวัดภาคใต้มีปัญหาเลยถูกส่งไปช่วย

ตอนนั้น เขาเป็นผู้บังคับหมวดรถลาดตระเวนหุ้มเกราะ กองบังคับการตำรวจภูธรเขต 8 รับผิดชอบพื้นที่ภาคใต้ตอนบน วันแรกลงโรงพักรือเสาะ นราธิวาส เปิดฉากด้วยเสียงปืนลั่นสนั่นทุ่งปะทะขบวนการโจรก่อการร้ายเคียงข้างสุนทร ซ้ายขวัญ ที่เพิ่งเป็นผู้กองรือเสาะได้ 2 วัน “ผมเป็นชุดหุ้มเกราะชุดแรกของประเทศไทย เอารถยนต์หุ้มเกราะพร้อมกำลัง 13 นาย เรียกกันว่า 13 เดนตายไปปฏิบัติหน้าที่ ผู้หมวด คัดเอาคนเกเรที่สุด คือ ผม ส่วนลูกน้องก็โรงพักไหนไม่เอา ก็เอาชั้นยอดเหล่านี้มาให้ ประกอบกำลังกัน 13 คน คิดเครื่องแบบของเราเอง มีผ้าผูกคอสีแดง มีถุงมือหนัง ภารกิจคือการลาดตระเวนคุ้มครองตามเส้นทาง ผมสมัครใจลงไปอยู่แล้ว อยากลุย ชอบประเภทบู๊ล้างผลาญ”

 “โชกโชนมาตั้งแต่จบมาใหม่ ๆ ถูกยิง 1 ครั้ง โดนระเบิด 2 ครั้ง อยู่นราธิวาส 1 เดือนก็โยกข้ามไปยะลาอีกเดือนก็ไปปัตตานี พอเดือนที่ 4 ก็กลับมานราธิวาส วนเวียนแบบนี้ สามารถนำกำลังยึดค่ายเปาะสู ที่เทือกเขาบูโด ได้เรียนรู้การทำงานจากท่านสุนทร ซ้ายขวัญ ท่านบุญเพ็ญ บำเพ็ญบุญ  โดยเฉพาะท่านสุนทรที่กินนอนอยู่ด้วยกันจะบอกเสมอว่า การจะออกไปซุ่ม เวลาเข้าไปต้องพรางตัว ต้องอดทน ให้กำลังใจกัน ผมถือเป็นแนวการทำงานมาตลอดว่า เมื่อเราอยู่กับลูกน้อง เราต้องซื้อใจเขา ร่วมเป็นร่วมตายกัน” พล.ต.ท.ธานีบอก

หัวหน้าหมวดหุ้มเกราะคนแรกว่า การปะทะกันแต่ละครั้ง ตอบไม่ได้ว่า ผู้ก่อการร้ายถูกกระสุนเราไปกี่ศพ เป็นเรื่องธรรมดาเหมือนสาดน้ำเข้าหากัน รู้แค่ว่า ชุด 13 เดนตาย ไม่มีใครตาย แต่บางคนต้องตัดขา เพราะโดนระเบิด รถคันเดียวโดนระเบิดถึง 7 ลูก ผู้ก่อการร้ายซุ่มเล่นงาน เราเดินลาดตระเวนแล้วไม่เห็น มันฝังไว้นาน 2 ปี พวกโจรรุ่นใหม่สมัยปัจจุบันเพิ่งมาหัดทำ ที่ซุ่มวางระเบิดรองผู้กำกับรือเสาะวันก่อน มันฝังไว้ 2 เดือน “เพราะฉะนั้น เวลานายลงไปชอบมาด่าว่า พวกมึงอยู่กันยังไงวะปล่อยให้เป็นแบบนี้ ผมอยากจะบอกว่า ทำไมมึงไม่ลองมาอยู่บ้างล่ะ บางคนก็รู้ แต่ก็ไปด่าอย่างนั้นอีก ไปจิกหัวด่า เก่งอยู่คนเดียว มันไม่ใช่”

“ผมอยู่ที่นั่น ผมมักอาสาไปเองเวลามีข่าวพวกโจรจะลงมาจากเขา มีอยู่ครั้งตอนซุ่มดักยิง จังหวะผมปลดเซฟลั่นไกจะยิงแกนนำโจรระดับหัวหน้า เป็นจังหวะเดียวกับที่มันเดินตกหลุม  ทำให้กระสุนพลาดเป้าเฉียดหัวมันแล้ววิ่งหนีหายไป วันหนึ่งมันมามอบตัวก็ชี้หน้าผมบอกว่า ‘วันนั้นหมวดยิงผม’ แต่รอดตายคราบนั้น ทำให้เดี๋ยวนี้ไอ้นี่เป็นกำนันแล้ว เป็นกำนันเดนตายที่หันกลับมาเป็นแนวร่วมปราบโจรด้วย” นักรบแดนใต้ทวนความทรงจำ

เสี่ยงตายอยู่ในหุ้มเกราะปีเดียว ขยับขึ้นเป็นสารวัตรกองบังคับการตำรวจภูธรเขต 8 ทั้งที่เป็นหมวดได้แค่ 4 ปีครึ่ง ก่อนย้ายเป็นผู้บังคับกองร้อยหน่วยปฏิบัติการพิเศษ กองบัญชาการตำรวจภูธร 4 รับผิดชอบ 14 จังหวัดภาคใต้ เปิดโอกาสให้เดินสำรวจเขาทุกลูกในภาคใต้ ทำงานได้ทุกอำเภอ จากนั้นไปเข้าโรงเรียนฝ่ายอำนวยการ เป็นโรงเรียนเสนาธิการตำรวจรุ่นแรก จบมาเป็นสารวัตรการข่าว แล้วขยับขึ้นเป็นสารวัตรใหญ่ สถานีตำรวจภูธรอำเภอสะบ้าย้อย สงขลา

พล.ต.ท.ธานีเล่าว่า เป็นอำเภอเดียวในประเทศไทยที่มีครบ 3 อย่าง มีทั้งผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ โจรจีนคอมมิวนิสต์ และขบวนการโจรก่อการร้าย เรียกได้ว่าเป็นแหล่งซ่องสุมชุมโจร โชคดีที่ทำงานข่าวรู้จักกับพวกนักศึกษาเก่าฝากเราไว้กับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ และโจรจีนคอมมิวนิสต์ ช่วยกันอัดขบวนการโจรก่อการร้ายไม่ให้ล้ำแดนเข้ามาบี้จุดหลุดจากสะบ้าย้อยไปเลย มีกำลังทหารของท่านพัลลภ ปิ่นมณี มาช่วยอีกแรง

ทำผลงานไว้ดีย้ายเป็นสารวัตรใหญ่โรงพักเมืองสงขลา แต่เหมือนเอาคนป่ามาอยู่เมือง  ทำอะไรไม่ถูก กระทั่งโดนย้ายลงอำเภอกะปง จังหวัดพังงา ที่โรงพักเพิ่งถูกเผาเขากลับอยู่ได้สบาย ผ่านไป 4 เดือนขึ้นเป็นรองผู้กำกับตำรวจภูธรจังหวัดสุราษฎร์ธานี พล.ต.ท.เสมอ ดามาพงศ์ ย้ายเป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธร 4 เกิดข้อแย้งกับผู้บัญชาการคนเก่าเรื่องจะเอา “เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์”ไปลงสารวัตรใหญ่โรงพักเมืองภูเก็ต “เพื่อนผมอยู่ที่นั่น ผมเลยรับอาสาขอไปอยู่ฝ่ายอำนวยการ ให้เพื่อนที่เป็นสารวัตรใหญ่ภูเก็ตมาเป็นรองผู้กำกับแทน เพื่อเปิดทางให้เพรียวพันธ์ลง เพราะท่านเสมอกับพ่อผมสนิทกันมาก  อีกอย่างผมเห็นว่า พี่น้องกันทั้งนั้น ไม่อยากให้ทะเลาะกัน”

ผลการเสียสละครั้งนั้น พล.ต.ท.ธานี ได้เป็นหัวหน้าชุดรักษาความปลอดภัยผู้บัญชาการตำรวจภูธร 4 ควบรักษาการตำแหน่งนายเวร ก่อนตามนายเข้ากรุงเป็นรองผู้กำกับการนโยบายและแผน แล้วเป็นรองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครศรีธรรมราช เด้งโด่งนั่งรองผู้กำกับการส่งกำลังบำรุง ตำรวจภูธร 3 ลำปาง รองผู้กำกับกำลังพล กองบัญชาการตำรวจภูธร 3 ถึงขึ้นผู้กำกับสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรเขต 12  ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา ปราบโจรใต้อีกครั้ง

ปี 2534 เป็นรองผู้บังคับการหัวหน้าตำรวจภูธรจังหวัดนครศรีธรรมราช รองผู้บังคับการหัวหน้าตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี เป็นรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสุพรรณบุรี ติดยศ “นายพล” ตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกาญจนบุรี โยกเป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดน่าน จังหวัดชัยนาท กองบังคับการอำนวยการตำรวจภูธรภาค 9 และผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดตรัง ถึงเขยิบเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 และผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณอายุ

การโยกย้ายแต่ละครั้ง อดีตนายพลคนดังว่า ไม่คิดมาก เพราะไปโดยไม่ต้องวิ่ง เราชอบเดินทาง ทำให้ได้พวกเยอะ ได้ประสบการณ์มากมาย ไม่เหมือนตำรวจสมัยนี้ย้ายหน่อยก็บ่นไม่ไหว กลัวครอบครัวลำบาก แล้วทำไมไม่เอาครอบครัวไปด้วย ตนย้าย ตนเอาครอบครัวไปด้วยหมด ขนกันอุตลุด ลูกเมียก็สนุก จะย้ายไปไหนก็ช่าง เราคิดในแง่บวก ย้ายโดยไม่ต้องวิ่งเต้น

สำหรับประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมา โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พล.ต.ท.ธานีมองว่า ตอนนั้นกับตอนนี้ต่างกันเยอะ พอโตขึ้นมาได้ศึกษาอะไรมากมาย กระทั่งรู้ว่า ตรงนั้นเป็นธรรมชาติของเขา มันเป็นปัญหาที่เกิดมาเป็นเวลานานมากแล้ว พล.ต.ต.พิงพันธุ์ เนตรรังสี พ่อตาก็เคยปะทะที่ดุซงญอ นราธิวาส สมัยเป็นผู้หมวดเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2491 ผ่านไป 56 ปี เราก็ปะทะที่มัสยิดกรือเซะ ปัตตานี วันที่ 28 เมษายน 2547 เหมือนกัน เหตุการณ์เวียนกลับมาคล้ายจะเหมือนเดิมเลย

อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 แสดงความเห็นว่า พวกนี้มียุทธวิธีคล้ายนักรบโบราณ ไม่ต่างจากกบฏดุซงญอ ลุ่มหลงในไสยศาสตร์ คิดว่า กินว่านศักดิ์สิทธิ์แล้วจะหนังเหนียวหายตัวได้ เป็นลัทธิซูฟีย์ที่หายไปนาน ซึมอยู่กับพวกด้อยการศึกษา พวกยากจน อยู่ตอนบนของมาเลเซีย มีการเชื่อมต่อกัน วันดีคืนเลวมันก็โผล่มาฟันพระ ฟันทหาร ฟันตำรวจ เราก็งงว่ามันมาจากไหน พอเกิดขึ้นเราเริ่มรู้ เคยรายงานไปข้างบนกลับไม่เชื่อ ไปเชื่อคนข้างตัว หาว่าอยู่กันยังไงแก้ปัญหาไม่ได้ มันไม่ใช่ปัญหาที่จะแก้ได้ง่าย

   “สมัยเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการ ผมกลายเป็นตำรวจคนเดียวในโลกที่เป็นรองแม่ทัพ เพราะนับจากเหตุการณ์ปล้นปืน แม่ทัพภาค 4 ประกาศกฎอัยการศึกษาตั้งกองทัพภาค 4 ส่วนหน้า แล้วแต่ตั้ง ผมเป็นรองแม่ทัพภาค 4 ส่วนหน้าฝ่ายตำรวจ กอดคอรบร่วมกับทหาร แม้ตอนนั้นยอมรับว่า ฝุ่นยังไม่จางเรื่องระหว่างทหารกับตำรวจ ผู้ก่อการร้ายยิงตำรวจ ก็มีการปล่อยข่าวว่า ทหารทำ ตอนหลังพอมันไปล่อนาวิกโยธิน ก็ออกข่าวว่า ทหารบกทำ เป็นแผนให้พวกเราทะเลาะกันเอง”

 การแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ อดีตนายพลผู้เจนจัดในพื้นที่ให้แง่คิดว่า ทุกฝ่ายต้องมองเป็นปัญหาของชาติ ไม่ใช่คนที่ลงไปแก้ปัญหามาแข่งดีแข่งเด่นกัน พอทางนี้เป็นรัฐบาลอีกฝ่ายก็คอยกระแนะกระแหน เอาการเมืองมาเล่นมากไป ทั้งที่เป็นปัญหาทับซ้อนกันระหว่างชนชาติ ระหว่างศาสนา ระหว่างเชื้อชาติ ถ้าจะว่ากันตามความจริง คนปักษ์ใต้ที่อยู่แถบนั้นส่วนใหญ่เป็นมาลายู แต่มีมาลายูพุทธ กับมาลายูมุสลิม แต่ดันไปเรียกพวกเขาว่า ไทยพุทธ กับไทยมุสลิม เดิมมีคนไทยเชื้อสายจีน คนไทยเชื้อสายลาว ทำไมไม่เรียกคนไทยเชื้อสายมาลายู ก็เคยบอกนายกฯ ทักษิณ ถ้าไม่ใช้คำนี้อีกหน่อยมันจะยุ่ง เพราะเอาศาสนาเข้ามาเป็นตัวแยก แยกตรงเชื้อชาติพอ อย่าไปแยกเรื่องศาสนา

“ทักษิณมีความคิดเห็นของเขาเอง เขามองว่า คนที่อยู่ในพื้นที่สร้างสถานการณ์เพื่อผลประโยชน์ คำนี้ ผมเคยบอกน้อง ๆ ทั้งทหารและตำรวจว่า พวกเอ็งทำงานอยู่ตรงนี้ระวังไว้อย่าง วันหนึ่งต้องเปื้อน เดี๋ยวมันก็โยนโคลนใส่ แล้วก็เปื้อนกันหมดทุกคน แม้กระทั่ง พล.อ.สิริชัย ธัญญสิริ คนเก่ง คนดี ศึกษาได้เร็วมาก เข้าไปใกล้ปัญหาที่สุด ไม่วายถูกใส่ร้ายว่า งาบงบประมาณ ถ้าพูดกันตรงนี้ นักการเมืองทำยิ่งกว่าทหารตำรวจอีก”อดีตตำรวจเดนตายให้ทรรศนะ

เขาเชื่อว่า การแก้ปัญหาจริง ๆ ต้องเจราเหมือนที่กำลังทำทุกวันนี้ถูกแล้ว ไม่ใช่พอแก้ปัญหาไม่ได้ ก็ไปโยนใส่เรื่องยาเสพติด โยนใส่เรื่องของเถื่อนอะไรต่าง ๆ ก็ต้องถามว่า สมัยรัชกาลที่1 มีหรือไม่ยาเสพติด แต่ก็มีปัญหานี้ สมัยรัชกาลที่ 5 ก็ไม่มีของหนีภาษี แต่ก็มีปัญหานี้ ปี 2491 ก็ไม่มี เพราะฉะนั้น นั่นไม่ใช่รากของปัญหา รากของปัญหา คือ ความไม่เข้าใจกัน ในหลวงท่านทรงมีพระราชดำรัสว่า เข้าถึง เข้าใจ พัฒนา ก็ไปเปลี่ยนเป็น เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ที่ท่านทรงตรัสถูกแล้วว่า ต้องเข้าไปให้ถึงก่อนแล้วทำความเข้าใจด้วยกันเพื่อพัฒนา ไม่ใช่เข้าใจก่อน มันก็เข้าใจของมันเอง ตีความกันเอง

นายพลวัยเกษียณบอกว่า ภาคใต้เป็นมหากาพย์ที่น่าศึกษา เป็นปัญหาที่ฝ่ายเราสร้างกันเอง คนที่ไปจากข้างบนมักจะไปเหยียบ หรือดูถูกคนในพื้นที่ไม่ว่า ตำรวจหรือทหาร ตรงนี้เป็นสิ่งที่น่าเกลียดมาก ทหารในแม่ทัพภาค 4 ไม่ค่อยได้โตในสายงาน แทนจะสนับสนุนลูกหม้อเพราะเขารู้ปัญหามากกว่า ดันไปยกใครก็มารู้มา เหมือนตำรวจ ไปเหยียบหัวเขา ไปเอาสิทธิทวีคูณ บางคนตัวไม่อยู่มีแต่ชื่อไปเบิกเบี้ยเลี้ยง พวกที่อยู่ในตึก 6 ชั้น กิน 3 มื้อ มีคนอยู่ยามให้ กับข้าวไม่ได้ออกไปซื้อ ไม่ต้องไปเสี่ยงชีวิตอะไรจะเสี่ยงแค่ตอนเข้าออก แต่พวกที่อยู่ในพื้นที่ทุกวินาที ตายได้ตลอด แล้วยังไปขี่เขา ลงไปก็ด่าเขาว่า อยู่กันยังไงปล่อยให้เหตุการณ์เกิด ทำไมไม่ลองลงไปสัมผัสเองดูบ้าง

 เจ้าตัวฝากถึงตำรวจรุ่นน้องที่จะปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยว่า อยากให้อดทน และต้องศึกษาประวัติศาสตร์รอบด้าน เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นมา สิ่งที่กำลังเป็นอยู่แล้ววิเคราะห์ความเป็นไปในอนาคตที่จะอยู่ในมือของคนรุ่นใหม่ ปัญหาพวกนี้แก้ได้ หากต้องใช้เวลา ที่สำคัญคุยกันดีกว่ายิงกัน เพราะเคยใช้วิธีนั้นแล้วไมได้ผล ยิงกันฆ่ากันมาเป็นร้อยปีแล้วไม่หมด ปัญหาทับซ้อน เชื้อชาติ ศาสนา ชายขอบของประเทศ ต้องเข้าใจพื้นที่ว่ามีความเป็นมาอย่างไร

“ฝ่ายรัฐต้องคุยกันให้ตกผลึก อย่าไปสนใจใครจะเตะตัดขา ช่างแม่ง ถึงจะเปลี่ยนรัฐบาล เกมนี้ต้องเดินต่อ มันน่าจะเป็นวิถีที่ดีที่สุดแล้ว ทำความเข้าใจให้ได้ว่าอะไร คืออะไร ที่สำคัญ ต้องหัดเอาใจเขามาใส่ใจเรา ไม่ใช่มองแต่เราด้านเดียว ปัญหาที่เกิดมาต่อเนื่องก็เพราะรัฐบาลเข้าไปถึงจะแก้ตรงนั้นตรงนี้ แต่ไม่ได้ฟังความเห็นเขาเลยว่า เขาจะเอาหรือเปล่า”อดีตนายพลมากเรื่องราวปลายด้ามขวานไขความกระจ่าง

        ธานี ทวิชศรี !!!

 

RELATED ARTICLES