ครบรอบวันคล้ายวันสถาปนากองบัญชาการตำรวจนครบาลเป็นปีที่ 102
กองทัพตำรวจเมืองหลวงที่ผ่านร้อนผ่านหนาวของประวัติศาสตร์อันยาวนานเกิน 10 ทศวรรษ
นับแต่การปฏิรูปเป็น “กรมกองตระเวน” แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น “กรมพลตระเวนกระทรวงนครบาล” จนกระทั่ง “กระทรวงนครบาล” ถูกยุบ และกรมพลตระเวนมีการปรับปรุงเป็น “กองบัญชาการตำรวจนครบาล”
สร้างผู้นำถึงปลายยอดสูงสุดขององค์กรพิทักษ์สันติราษฎร์ไปแล้ว 5 นาย ประกอบด้วย พล.ต.อ.หลวงชาติตระกาลโกศล พล.ต.ท.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น พล.ต.ท.ณรงค์ มหานนท์ พล.ต.ท.แสวง ธีระสวัสดิ์ และ พล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา
ย้อนประวัติความเป็นมาจากเว็บไซต์กองบัญชาการตำรวจนครบาล
ปี 2435 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยูหัว ทรงพระกรุณา กิจการตำรวจในสมัยโบราณ โปรดเกล้าให้ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ รับตำแหน่ง เสนาบดีว่าการ กรมมหาดไทย ดูแลตำรวจภูธร และให้ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นเรศวรฤทธิ์ เป็นเสนาบดีว่าการกรมพระนครบาล ดูแลตำรวจนครบาล (ขณะนั้นเรียก พลตระเวน) พระราชภารกิจในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้ พระยาอธิกรณ์ประกาศ (หลุย จาติกวณิช) ดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็น “คนแรก” ของหน่วยเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2465 ถือเป็นวันสถาปนากองบัญชาการตำรวจนครบาลอย่างเป็นทางการ
กระทั่งปี 2475 เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง กองบัญชาการตำรวจนครบาล ถูกยุบลงคงเหลือแต่เพียงกองบังคับการ ก่อนรื้อฟื้นจัดตั้งขึ้นใหม่ ตามพระราชกฤษฎีกา จัดวางระเบียบราชการกรมตำรวจในกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2491
ปี 2504 กองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้มีสถานที่ทำการเป็นที่สะพานผ่านฟ้า จากนั้นเผชิญเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เดือนตุลาคม 2516 ถูกกลุ่มผู้ชุมนุมเผาทำลายเสียหายจนหมดสิ้น ต้องย้ายที่ทำการมาตั้งอยู่รวมกองบังคับการตำรวจดับเพลิงพญาไท
ในที่สุดเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2535 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จมาเปิดอนุสาวรีย์ พระบรมวงค์เธอพระองค์เจ้า กรมพระนเรศวรฤทธิ์ และอาคารที่ทำการใหม่ ของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ภายในวังปารุสกวัน ถนนศรีอยุธยา ดุสิต กรุงเทพมหานคร เป็นที่ตั้งอย่างถาวรในสมัย พล.ต.ท.จำลอง เอี่ยมแจ้งพันธุ์ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาล มาจนถึงปัจจุบัน
อดีตแม่ทัพยุควังปารุสกวันเป็นนายตำรวจมากความรู้ความสามารถเข้ามานั่งคุม “ทัพตำรวจเมืองหลวง” ถัดจาก พล.ต.ท.จำลอง เอี่ยมแจ้งพันธุ์ มี พล.ต.ท.ชัยสิทธิ์ กาญจนกิจ พล.ต.ท.โสภณ วาราชนนท์ พล.ต.ท.ทวี ทิพย์รัตน์ พล.ต.ท.วรรณรัตน์ คชรักษ์ พล.ต.ท.อนันต์ ภิรมย์แก้ว พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ นิลคูหา พล.ต.ท.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ พล.ต.ท.ปานศิริ ประภาวัต พล.ต.ท.วิโรจน์ จันทรังษี พล.ต.ท.อดิศร นนทรีย์ พล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมือง พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา พล.ต.ท.สัณฐาน ชยนนท์ พล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา พล.ต.ท.วินัย ทองสอง พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช พล.ต.ท.สุทธิพงศ์ วงษ์ปิ่น พล.ต.ท. ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา พล.ต.ท.สำราญ นวลมา พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง
ล้วนผ่านเรื่องราวหนักหนาสาหัสกันตามสมัยในตำแหน่งแม่ทัพเมืองหลวง
ก่อนถึงมือ พล.ต.ท.สยาม บุญสม ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลคนที่ 53 ของหน่วย
รับไม้ขับเคลื่อนภารกิจคุ้มครองป้องภัยประชาชนชาวกรุง