อย่าเชื่อเพราะคิด หรือจินตนาการเอาเอง

 

มีข้อคิดเห็นจากผู้ใช้นามปากกา “บุคคลนิรนาม” ฝากมา

ว่าด้วยผลกระทบหากปล่อยให้มีการ “แก้ฟ้อง” คดีดังตามที่กล่าวอ้างมา

เนื่องจากศาลจังหวัดนนทบุรีได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดสำหรับจำเลยบางคนว่าได้กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว หากปล่อยให้มีการแก้ฟ้องตามที่อ้างมานั้น

โจทก์ต้องแก้ฟ้องบรรยายถึงข้อเท็จจริงใหม่

ถึงพฤติการณ์ว่าใครเป็นผู้ลงมือฆ่าและใครเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอันหมายถึงจำเลยทุกคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งรายละเอียดวิธีการและเครื่องมือที่ใช้ในการฆ่า ตลอดจนวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุจะทำให้เกิดความสับสนสำหรับจำเลยที่ศาลจังหวัดนนทบุรีมีคำพิพากษาถึงที่สุดไปก่อนแล้วว่า

กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายนั้นว่า จำเลยเหล่านั้นจะกลายเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดในข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาไปด้วย  เป็นเรื่องที่ “ย้อนแย้ง” และขัดต่อหลักเหตุผลตามธรรมชาติ

เพราะจะทำให้ศาลต้องไปวินิจฉัยถึงการกระทำของจำเลยที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิดโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายไปก่อนแล้วนั้นขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง  อันขัดต่อหลักสากลที่ว่าบุคคลไม่ควรถูกดำเนินคดีหลายครั้งจากการกระทำของตนเพียงครั้งเดียว (ne bis in idem )

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าการพิสูจน์ข้อเท็จจริงในคดีอาญาในศาลนั้นจะต้องถูกพิสูจน์ด้วยพยานหลักฐาน(evidence) และต้องเป็นพยานหลักฐานน่าจะพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของจำเลยและต้องถูกนำเข้าสู่สำนวนโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น

การพิสูจน์โดยเพียงการตั้งสมมติฐานจากการคาดเดาหรือจินตนาการหรือ อาศัย “ไสยศาสตร์” ล้วนแล้วเป็น “สิ่งที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ” เพราะมีความเป็นอัตตวิสัย(subjective)ขึ้นอยู่กับความคิดของแต่ละบุคคล ยากที่จะรับฟังเป็นยุติไปในทางใดทางหนึ่งได้    

ในทางกฎหมายพยานหลักฐานสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ พยานบุคคล(witness) พยานวัตถุ(material evidence)และพยานเอกสาร(documentary evidence) ในส่วนของพยานบุคคล(witness )แบ่งเป็น2 ประเภทใหญ่ๆ คือ (1) พยานบุคคลอยู่ในเหตุการณ์ ยังแบ่งเป็น2 ประเภท คือ  (1.1) พยานบุคคลอยู่ในเหตุการณ์และได้ประสบพบเหตุมาด้วยประสาทสัมผัสของตนเองโดยตรง หรือที่เรียกว่าประจักษ์พยาน (eye witness) เช่น ตาได้เห็นเหตุการณ์การฆาตกรรมด้วยตนเอง หรือหูได้ยินเสียงคนกล่าวถ้อยคำหมิ่นประมาทด้วยตนเอง และ (1.2) พยานบุคคลอยู่ในเหตุการณ์แต่ไม่ได้ประสบพบเหตุด้วยประสาทสัมผัสของตนเองโดยตรงเรียกว่าพยานบุคคลพฤติเหตุแวดล้อมกรณี(circumstance witness)

มีทั้งประเภทที่เป็นพยานบุคคลพฤติเหตุแวดล้อมกรณีในเวลาก่อน ขณะ หรือหลังเหตุการณ์   เช่น พยานบุคคลซึ่งเห็นคนร้ายถืออาวุธมีดเข้าไปในสถานที่เกิดเหตุที่มีการฆ่ากันตายโดยใช้อาวุธมีดในช่วงเวลาที่เกิดเหตุไม่นาน หรือ พยานบุคคลที่ได้ยินเสียงคนร้องอยู่ในห้องว่าอย่าฆ่าฉันเลย  หรือพยานบุคคลเห็นคนร้ายถืออาวุธมีดออกจากที่เกิดเหตุในช่วงเวลาเกิดเหตุที่มีการฆ่ากันตายโดยใช้อาวุธมีดไม่นาน

(2) พยานบุคคลซึ่งไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ ยังแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

(2.1) พยานบุคคลไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์แต่ได้รับการถ่ายทอดเหตุการณ์จากพยานบุคคลอยู่ในเหตุการณ์ หรือที่เรียกว่าพยานบอกเล่า(hearsay) พยานบอกเล่ามีหลายประเภท ทั้งประเภทที่รับการถ่ายทอดเหตุการณ์จากพยานบุคคลที่ได้ประสบพบเหตุมาด้วยประสาทสัมผัสของตนเองโดยตรง หรือที่เรียกว่าประจักษ์พยาน (eye witness) เช่น นายแดงเห็นเหตุการณ์ขณะที่นายขาวใช้อาวุธมีดแทงนายฟ้า ต่อมานายแดงมาเล่าเหตุการณ์ให้นายเหลืองฟัง

ถือว่านายเหลืองเป็นพยานบอกเล่าที่ได้รับการถ่ายทอดเหตุการณ์จากประจักษ์พยาน หรือประเภทที่ได้รับการถ่ายทอดเหตุการณ์จากพยานบุคคลอยู่ในเหตุการณ์แต่ไม่ได้ประสบพบเหตุมาด้วยประสาทสัมผัสของตนเองโดยตรงหรือที่เรียกว่าพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณี(circumstances witness) เช่น  นายแดงเห็นเหตุการณ์ขณะที่นายขาวเดินถืออาวุธมีดเข้าไปในห้องที่เกิดเหตุการใช้อาวุธมีดแทงนายฟ้า

ต่อมานายแดงมาเล่าเหตุการณ์ให้นายเหลืองฟัง ถือว่านายเหลืองเป็นพยานบอกเล่าที่ได้รับการถ่ายทอดเหตุการณ์จากพยานเหตุแวดล้อมกรณี หรือพยานบอกเล่าประเภทที่ได้รับการถ่ายทอดเหตุการณ์จากพยานบอกเล่าอีกทอดหนึ่ง  เช่น  นายแดงเห็นเหตุการณ์ขณะที่นายขาวใช้อาวุธมีดแทงนายฟ้า  และนายแดงมาเล่าเหตุการณ์ให้นายเหลืองฟัง

นายเหลืองไปเล่าเหตุการณ์ที่ได้รับการบอกเล่าจากนายแดงต่อให้นายเขียวฟังอีกทอดหนึ่ง ถือว่านายเขียวเป็นพยานบอกเล่าที่ได้รับการถ่ายทอดเหตุการณ์จากพยานบอกเล่าอีกทอดหนึ่ง

(2.2) พยานไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์และไม่ได้รับการถ่ายทอดเหตุการณ์จากพยานบุคคลอยู่ในเหตุการณ์ หรือที่เรียกว่าพยานผู้เชี่ยวชาญ (expert) หมายถึง พยานบุคคลที่มาให้ความเห็น(opinion)หรือตั้งสมมติฐานในปัญหาข้อเท็จจริงได้อาศัยองค์ความรู้ และประสบการณ์ที่ตนมีอยู่มาสนับสนุนความเห็นหรือสมมติฐานนั้นเท่านั้น

ในบรรดาพยานบุคคล(witness)ทั้งหมดต้องถือว่าประจักษ์พยาน(eye witnesses)มีน้ำหนักความน่าเชื่อถือในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงดีที่สุดเป็นไปตามหลักพยานโดยตรง 

แต่ในส่วนพยานผู้เชี่ยวชาญ(expert) เป็นพยานบุคคลที่มาให้ความเห็น(opinion)หรือตั้งสมมติฐานในปัญหาข้อเท็จจริงโดยอาศัยองค์ความรู้ และประสบการณ์ที่ตนมีอยู่มาสนับสนุนความเห็น หรือสมมติฐานเท่านั้น

ส่วนความเป็นจริงที่เกิดขึ้นอาจไม่เป็นไปตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญก็ได้ เป็นไปตาม “กฎไตรลักษณ์” ของพระพุทธศาสนาที่ว่าสิ่งทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน  (อนิจจัง )

ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญไม่อาจรับฟังเป็นข้อยุติได้เสมอไป 

ด้วยเหตุนี้ศาลฎีกาวางแนวบรรทัดฐานว่าความเห็นของผู้เชี่ยวชาญไม่ผูกมัดให้ศาลจำต้องเชื่อตาม  (ฎีกาที่ 8958/2550) ดังนั้น ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญไม่ใช่พยานหลักฐานหลัก(main evidence)ที่จะนำมาใช้พิสูจน์ข้อเท็จจริงได้โดยตรง แต่เป็นเพียงพยานประกอบ(subordinate  evidence)ที่นำมาใช้ในการชั่งน้ำหนักประกอบพยานหลักฐานอื่น เช่น พยานบุคคล หรือพยานวัตถุ หรือพยานเอกสารอื่นเท่านั้น

พยานผู้เชี่ยวชาญมีน้ำหนักให้รับฟังได้น้อย  เมื่อพิจารณาโดยถ่องแท้เราจะพบว่าในคดีหมิ่นประมาทของศาลอาญา มีประเด็นต้องพิจารณาว่าพยานฝ่ายจำเลยที่อ้างว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มาเบิกความนั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นจริงหรือไม่ เพียงใด และที่มาเบิกความให้ความเห็นต่อศาลเป็นเพียงการพิจารณาภาพถ่ายของบาดแผลหรือภาพถ่ายของศพเท่านั้น

ไม่ได้เป็นผู้เข้าไปตรวจและชันสูตรศพด้วยตนเอง มีลักษณะเป็นการให้ความเห็นเกิดจากการวิเคราะห์บาดแผลใน “มิติด้านเดียว”  ต่างกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่เข้าไปตรวจและชันสูตรศพด้วยตนเองเพราะเป็นการวิเคราะห์บาดแผลในหลายมิติทั้งในแง่สี ความกว้าง ความยาว ความลึก ตลอดจนลักษณะทางกายภาพของเนื้อเยื่อของบาดแผล

คำเบิกความดังกล่าวมีลักษณะเป็นพยานบอกเล่า(hearsay)ประเภทหนึ่งด้วย (พยานบอกเล่า (hearsay)  หมายถึง พยานหลักฐานที่ไม่ได้สัมผัสกับเหตุการณ์โดยตรง  เช่นพยานบุคคลที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์แต่ได้รับการบอกเล่าจากพยานบุคคลซึ่งอยู่ในเหตุการณ์  หรือพยานเอกสารที่เป็นเพียงสำเนาซึ่งถ่ายภาพหรือถ่ายเอกสารจากต้นฉบับเอกสาร  เป็นต้น )

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 / 3 ได้บัญญัติวางเป็นหลักการทั่วไปว่า พยานบอกเล่าไม่สามารถรับฟัง(inadmissibility)เข้าสู่สำนวนเพื่อทำการวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยาน เว้นแต่ ตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มาและข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้นน่าเชื่อจะพิสูจน์ความจริงได้

ดังนั้น แม้หากคำเบิกความของผู้เชี่ยวชาญดังกล่าว อาจจะเข้าข้อยกเว้นที่สามารถรับเข้าสู่สำนวนได้ก็ตาม แต่การชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงในประเภพพยานบอกเล่านั้น(weighting of hearsay) นั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 / 1 ได้บัญญัติวางเป็นหลักการว่า ให้ศาลต้องกระทำด้วยความระมัดระวังระมัดระวัง และไม่ควรเชื่อพยานบอกเล่านั้นโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลย เว้นแต่จะมีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดี หรือมีพยานหลักฐานประกอบอื่นมาสนับสนุน

เมื่อคำเบิกความของผู้เชี่ยวชาญเป็นเพียงพยานบอกเล่าดังกล่าวโดยหลักยอมไม่อาจรับฟังเข้าสู่สำนวนคดีได้ แต่แม้เห็นว่าคำเบิกความของผู้เชี่ยวชาญเป็นพยานบอกเล่านั้น ตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มานั้นน่าจะพิสูจน์ความจริงได้ก็ตาม

การชั่งน้ำหนักคำเบิกความของผู้เชี่ยวชาญเป็นพยานบอกเล่าดังกล่าว ศาลก็ต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง และไม่ควรเชื่อคำเบิกความของผู้เชี่ยวชาญเป็นพยานบอกเล่านั้นโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลย

ด้วยเหตุนี้หากพิจารณาคำพิพากษาในคดีหมิ่นประมาทของศาลอาญาโดยละเอียดแล้วจะพบว่าในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของพยานผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวศาลอาญามิได้วินิจฉัยชี้ขาดยืนยันโดยชัดแจ้งถึงขนาดเชื่อตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่ฝ่ายจำเลยนำสืบแต่อย่างใด

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเกี่ยวกับผู้ที่เข้าไปเก็บศพน้องแตงโมบางรายให้สัมภาษณ์ต่อสื่อสาธารณะว่า ในขณะที่พบศพน้องแตงโม ได้เห็นตาข้างหนึ่งบวมปิดมีรอยช้ำเลือดช้ำหนอง และตาอีกข้างหนึ่ง ไม่บวมแต่รอยเด่นขึ้นมา  ลิ้นจุกปาก ท้องไม่บวมมากไม่เหมือนคนจมน้ำ  บาดแผลที่บริเวณโคนขาขวามีความรู้สึกว่าไม่ได้เกิดจากใบพัดเรือ แต่น่าจะเกิดจากการถูกของมีคมอย่างอื่นกรีดลงไปและตั้งข้อสมมุติฐานว่า ตายบนบกแล้วไปทิ้งลงในแม่น้ำเจ้าพระยา 

ความเห็นหรือข้อสมมติฐานของบุคคลดังกล่าวก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนิติวิทยาศาสตร์อันจะมีน้ำหนักให้รับฟังได้แต่อย่างใด    เพราะการจะพิสูจน์ว่าบุคคลใดกระทำความผิดอาญาหรือเป็นผู้บริสุทธิ์จะต้องพิสูจน์ด้วยพยานหลักฐานที่อยู่ในสำนวนเท่านั้น จะอาศัยความเห็นหรือการคาดเดา หรือการจินตนาการมาบอกว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำความผิดหรือเป็นผู้บริสุทธิ์ไม่ได้ เพราะความเห็นหรือจินตนาการของบุคคลแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน

ในประเด็นที่ผู้ให้ข้อมู ลหรือวิพากษ์วิจารณ์ออกสื่อสาธารณะว่า บาดแผลใหญ่ที่ขาข้างขาวของน้องแตงโมไม่ได้เกิดจากการถูกใบพัดของเรือ แต่ถูกของมีคมอย่างอื่น อันเป็นการตั้งสมมติฐานการเสียชีวิตของน้องแตงโมว่าเป็นการฆาตกรรมเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาในประมวลกฎหมายอาญานั้น

ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตว่า ในคดีการฆาตกรรม มีประเด็นข้อเท็จจริงที่จะต้องพิจารณาอยู่หลายประเด็น ได้แก่ ประการแรกน้องแตงโมเสียชีวิตจากสาเหตุอะไร ประการที่สองสาเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตมาจากวิธีการอย่างไรและใช้สิ่งใดเป็นเครื่องมือ ประการที่สามใครเป็นผู้กระทำให้เกิดสาเหตุเช่นนั้น และมีใครเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องบ้าง  ประการที่สี่การกระทำนั้นเกิดในเวลาก่อนน้องแตงโมขึ้นเรือ หรือในเวลาขณะน้องแตงโมอยู่บนเรือ

ประการสุดท้ายการกระทำนั้นเกิดในสถานที่ก่อนน้องแตงโมขึ้นเรือ หรือขณะน้องแตงโมอยู่บนเรือ ประเด็นต่างๆเหล่านี้ผู้ให้ข้อมูลหรือวิพากษ์วิจารณ์ก็ไม่ได้แสดงพยานหลักฐานทั้งพยานบุคคล พยานวัตถุหรือพยานเอกสาร เพื่อพิสูจน์ในประเด็นข้อเท็จจริงต่างๆที่ผู้เขียนตั้งเป็นข้อสังเกตแต่อย่างใดเลย

การกล่าวอ้างว่าการเสียชีวิตของน้องแตงโมเกิดจากการฆาตกรรมมีลักษณะเป็นการคาดเดาหรือจินตนาการในทางอัตตวิสัยโดยปราศจากพยานหลักฐานรองรับ                               

ขณะเดียวกันยังมีผู้ให้ข้อมูลหรือวิพากษ์วิจารณ์ออกสื่อสาธารณะ โดยที่บุคคลดังกล่าวไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ครั้งก่อน ขณะ และหลังเกิดเหตุแต่อย่างไร แต่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์เสมือนตนเองอยู่ในเหตุการณ์

นำความเห็นของแพทย์ยังไม่แน่ชัดว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านนิติเวชหรือไม่และมิได้เป็นผู้เข้าไปตรวจชันสูตรพลิกศพด้วยตนเองมาสนับสนุนข้อสมมุติฐานหรือความเห็นว่าการเสียชีวิตของน้องแตงโมเกิดจากการฆาตกรรม

ย่อมทำให้สังคมโดยรวมเกิดความสับสน  เพราะความเห็นของแพทย์ดังกล่าวก็เป็นพยานบอกเล่า ดังที่ได้กล่าวมาก่อนแล้วเป็นการขัดต่อหลักการ “ลามสูตร” ของพระพุทธเจ้าที่ว่า

อย่าเชื่อเพราะเล่าสืบกันมา  และอย่าเชื่อเพราะคิด หรือจินตนาการเอาเอง

RELATED ARTICLES