ชีวิตตำรวจเจ็บปวดทุกครั้งเมื่อถึงฤดูกาลแต่งตั้งย้าย
บรรยากาศทำลายขวัญตัวเองและครอบครัวยังคงมีให้เห็นเป็นส่วนใหญ่ตามวิถี “เกมเก้าอี้ดนตรี” ที่ตำแหน่งมีน้อย แต่ผู้เข้าแข่งขันประชันความโดดเด่นมีเยอะ
หลายคนถึงกระเด็นกระดอนไม่เป็นท่า
มีบางคนผิดหวังซ้ำซากเผชิญทางเดินลำบาก
ปีที่แล้วถูกเสนอเลื่อนเป็น “ผู้กำกับการ” ก่อน“ดีใจเก้อ” เพราะเจออิทธิพลของคนมี “เส้นสาย”คว่ำกระดาน “เปลี่ยนคำสั่ง” หน้าตาเฉย
เจ้าตัวยอมวางเฉยไม่อยาก “ร้องแรกแหกกระเชอ” เนื่องจากมองว่า ทะเลาะกับผู้บังคับบัญชาไปคงไม่มีประโยชน์ ท้ายสุดเขาเชื่อว่า ก็แก้ไขอะไรไม่ได้
กลับมานอน “เลียแผล” ทำใจ หวังไว้ปีนี้จะได้รับ “ความชอบธรรม” คืน
ทว่าความหวังที่จะได้รับการเยียวยากลายเป็นความเย็นชาจากผู้มีอำนาจ
จอมปลอมสิ้นดี
พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ กรรมการข้าราชการตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิออกมาให้คำแนะนำสำหรับข้าราชการตำรวจที่เห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้ง
เขานั่งอ่านไปหัวเราะไปกับโชคลาภวาสนาพาเล่นตลก
แต่ขำไม่ออก
นายพลชื่อดังระบุเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 มีการประกาศคำสั่งแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับ รองผู้บังคับการ-สารวัตร ทั่วประเทศ ประจำปี 2567 คำสั่งมีผลใช้บังคับพร้อมกัน วันที่ 3 มีนาคม 2568
เป็นอันสิ้นสุดกระบวนการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรในระดับบริหารประจำปี 2567
ส่วนสาเหตุที่ล่าช้ากว่ากำหนด ไม่เสร็จสิ้นในปี 2567 เนื่องจากกฎคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ 2567 เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2567
“ผมได้รับโทรศัพท์สอบถามจากน้องๆข้าราชการตำรวจหลายรายว่า ถ้าเห็นว่า การแต่งตั้งไม่เป็นธรรม ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ควรจะทำอย่างไร” พล.ต.อ.เอกว่า
ยกตัวอย่างเป็นผู้มีผลงานปฏิบัติหน้าที่ได้รับรางวัลต่างๆ ผู้บังคับบัญชาต้นสังกัดเสนอชื่อเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น แต่ในชั้นกองบัญชาการพิจารณาแต่งตั้งผู้อยู่ในลำดับอาวุโสที่น้อยกว่าได้เลื่อนตำแหน่ง หรือถูกโยกย้ายสับเปลี่ยนหมุนเวียนโดยไม่มีเหตุอันสมควร
พล.ต.อ.เอกให้คำแนะนำไปว่า หากข้าราชการตำรวจเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งจะมีสิทธิร้องทุกข์ต่อ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่งแต่งตั้ง
คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ จะพิจารณาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน และคำวินิจฉัยของ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ ถือเป็นที่สุด
หากผู้ร้องทุกข์ไม่พอใจผลการพิจารณาของ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ ก็มีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งผลการพิจารณาของ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ
ทั้งนี้พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติมาตรา 87 วางแนวทางไว้ว่า
ในกรณีที่ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ หรือศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยหรือพิพากษาว่าผู้บังคับบัญชาไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดในเรื่องการแต่งตั้ง ให้ถือว่าผู้บังคับบัญชากระทำผิดวินัย
ให้ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจพิจารณาลงโทษภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีคำวินิจฉัย หรือคำพิพากษา ไม่ต้องสอบสวนอีก แล้วรายงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ
หากคณะกรรมการข้าราชการตำรวจมีมติว่า การไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เป็นการจงใจเพื่อช่วยเหลือหรือให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใดให้ถือว่าผู้บังคับบัญชาผู้นั้นกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงและให้ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจดำเนินการลงโทษโดยไม่ต้องสอบสวน
“ผมหวังว่าผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการแต่งตั้ง จะได้ปฎิบัติตามกฎเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดในเรื่องการแต่งตั้งโดยเคร่งครัด เป็นไปตามระบบคุณธรรม สนับสนุนส่งเสริมตำรวจที่ดีให้เจริญก้าวหน้า เพื่อบริการรับใช้ประชาชนต่อไป”
อย่างไรก็ตาม หากท่านใด เห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้ง เขาอยินดีให้คำแนะนำและให้คำปรึกษาในการดำเนินการให้เป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมายอและกฎต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
เชื่อไหมครับว่า ผู้ผิดหวังนั่งหัวเราะทั้งน้ำตา