ตำรวจทางหลวง เปิดปฏิบัติการ “โจรกรรม-ฟอกขาวรถ” พบเงินหมุนเวียนกว่า 40 ล้านบาท

ตำรวจทางหลวง เปิดปฏิบัติการ “โจรกรรม-ฟอกขาวรถ” ตระเวนเช่ารถแล้วเชิดหนี ก่อนปลอมเอกสารเจ้าของรถ ยื่นแจ้งเปลี่ยนทะเบียนให้กลายเป็นรถถูกกฎหมาย พบเงินหมุนเวียนกว่า 40 ล้านบาท

พล.ต.ต.คงกฤช เลิศสิทธิกุล ผบก.ทล. พร้อมด้วย พ.ต.อ.บุญลือ ผดุงถิ่น รอง.ผบก.ป. ช่วยราชการ รอง ผบก.ทล. พ.ต.อ.ภคพล สุชล ผกก.2 บก.ทล. พ.ต.ท.กฤตย์ ธีรเวศย์สุวรรณ สวญ.ส.ทล.2 กก.2 บก.ทล. พ.ต.ท.ทศพล กิตติลาภ สวญ.ส.ทล.3 กก.2 บก.ทล. พ.ต.ต.โจ เสาร์ประโคน สว.ส.ทล.6 กก.2 บก.ทล. ร่วมกันแถลงผลทลายขบวนการฟอกขาวรถยนต์ที่ได้มาจากการขโมยรถเช่า ด้วยการปลอมแปลงเอกสารราชการ ตบตาเจ้าหน้าที่เพื่อขอเปลี่ยนเลขทะเบียน เปลี่ยนจากรถที่ผิดกฎหมายให้กลายเป็นรถถูกกฎหมาย ก่อนจะประกาศขายผ่านโซเชียลมิเดีย

หลังสามารถจับกุม นายธราเทพ อายุ 32 ปี และ น.ส.ภัทราดา อายุ 32 ปี หัวหน้าขบวนการ พร้อมลูกสมุนในเครือข่ายอีก 6 ราย ที่ทำหน้าที่โจรกรรมรถ ,ปลอมเอกสารรถ รวมถึงคนโพสต์ประกาศขายรถตามสื่อสังคมออนไลน์ และ กลุ่มคนที่ทำหน้าที่รับ-ส่งรถที่ได้มาจากการโจรกรรม โดยทั้งหมดถูกดำเนินคดีในข้อหา “ร่วมกันยักยอก หรือ รับของโจร,ร่วมปลอมแปลงเอกสารราชการ,แจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน และ แจ้งให้เจ้าพนักงานจเข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสาร”

พล.ต.ต.คงกฤช กล่าวว่า คดีนี้คนร้ายทำกันเป็นขบวนการโดยแบ่งหน้าที่กันทำมีผู้ต้องหาจำนวนมาก ตำรวจได้ออกหมายจับไว้ 9 หมาย เจ้าหน้าที่ได้ใช้เวลาสืบสวนเป็นระยะเวลา 2 เดือนจนสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 8 คน อีก 1 คนยังหลบหนี

พ.ต.ท.ทศพล กล่าวว่า คดีนี้ตำรวจทางหลวงมีการจับกุมป้ายทะเบียนปลอมอย่างเข้มงวด ทำให้คนร้ายต้องมีการฟอกขาวในการเปลี่ยนแปลงป้ายทะเบียนจากรถที่ผิดกฎหมายให้กลายเป็นรถถูกกฎหมาย โดยเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567 ได้มีกลุ่มคนร้ายที่ทำหน้าที่ขโมยรถเช่า ทำทีติดต่อขอเช่ารถจากบริษัทของ น.ส.เอ (นามสมมติ) ผู้เสียหาย ตั้งอยู่ใน จ.ฉะเชิงเทรา แต่เมื่อถึงกำหนดคืนรถ ผู้เสียหายไม่สามารถติดต่อกลุ่มคนร้ายได้ และพบว่าสัญญานจีพีเอสถูกตัดไป จึงเชื่อว่ารถถูกขโมยอย่างแน่นอน จากนั้นได้เดินทางเข้าแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน สภ.แสนภูดาษ เพื่อให้ดำเนินคดีกับกลุ่มคนร้ายที่ก่อเหตุขโมยรถ

ต่อมา วันที่ 7 มกราคม 2568 น.ส.เอ ผู้เสียหาย ได้ตรวจสอบข้อมูลรถยนต์ผ่านแอปพลิเคชั่น “ทางรัฐ” พบว่า รถคันดังกล่าวได้มีการแจ้งเปลี่ยนทะเบียนรถ จากหมายเลขทะเบียน กบ 2812 ฉะเชิงเทรา ไปเป็น หมายเลขทะเบียน กอ 5657 นครปฐม ผู้เสียหายจึงได้โทรประสานขอความช่วยเหลือมายังตำรวจทางหลวงผ่านสายด่วน 1193 เพื่อขอให้ช่วยติดตามรถคันดังกล่าว จากการประสานความร่วมมือจากกรมการขนส่งทางบกทำให้ทราบว่าเอกสารทั้งหมดที่กลุ่มคนร้ายใช้ยื่นเพื่อขอเปลี่ยนเลขทะเบียนรถเป็นเอกสารปลอมทั้งสิ้น

จากนั้นวันที่ 8 มกราคม 2568 ตำรวจทางหลวงได้ตรวจพบว่ารถยนต์คันดังกล่าว ภายหลังจาก เปลี่ยนป้ายทะเบียนได้ออกจาก จ.นครปฐม มุ่งหน้าขึ้นเหนือ จึงได้ประสานสกัดรถยนต์คันดังกล่าวได้ที่ จ.ตาก จากการตรวจสอบ พบนายบี เป็นผู้ขับขี่ รับว่ารถคันดังกล่าวนายบีได้เห็นการประกาศขายผ่านโซเชียลมิเดีย โดยเป็นการขายพร้อมเล่มคู่มือจดทะเบียน จึงเชื่อว่าเป็นรถที่ถูกต้องตามกฎหมาย จึงได้ติดต่อขอซื้อมาในราคา 300,000 บาท และได้เดินทางไปรับรถยนต์คันดังกล่าวมาจากปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งจาก จ.สุพรรณบุรี ก่อนที่จะถูกสกัดโดยตำรวจทางหลวง จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวงได้นำรถยนต์ที่ถูกโจรกรรมและเชิญตัวนายบีเดินทางกลับมาที่สถานีตำรวจทางหลวงนครปฐม เพื่อสืบสวนข้อเท็จจริงขยายผลเพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

จากการสืบสวนทำให้ทราบว่าขบวนการฟอกขาวรถยนต์ที่ได้มาจากการขโมยรถเช่ากลุ่มนี้มีการแบ่งหน้าที่ กันทำอย่างชัดเจน ได้แก่ กลุ่ม Master Mind ทำหน้าที่สั่งการและเป็นนายทุน, กลุ่มที่ทำหน้าที่ขโมยรถเช่า, กลุ่มที่ทำหน้าที่ปลอมแปลงเอกสารเพื่อใช้ยื่นขอทะเบียนใหม่พร้อมกับเล่มคู่มือจดทะเบียน การฟอกขาวรถยนต์ที่ถูกขโมยมา, ส่วนที่ทำหน้าโพสต์ขายรถยนต์ที่ฟอกขาวเรียบร้อยแล้วในโซเชียลมิเดีย และส่วนที่ทำหน้าที่เป็นนักบิน รับส่ง-รถที่ได้มาจากการโจรกรรม

ต่อมาวันที่ 17 มีนาคม 2568 เจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวง กก.2 บก.ทล. ร่วมกับพนักงานสอบสวน สภ.แสนภูดาษ ได้รสืบสวนและรวมรวบพยานหลักฐาน ยื่นคำร้องขอหมายจับผู้ต้องหาทั้ง 9 ราย ต่อศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา และในวันที่ 18 มีนาคม 2568 กำลังตำรวจทางหลวง กก.2 บก.ทล. กว่า 30 นาย เข้าตรวจค้นจับกุมผู้ต้องหาทั้งหมด ผู้ต้องหาส่วนใหญ่ให้การรับสารภาพ โดยให้การว่าในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมากลุ่มคนร้ายได้ทำการฟอกขาวรถยนต์ที่ ได้มาจากการขโมยโดยเฉลี่ยเดือนละประมาณ 4 คัน พบเงินหมุนเวียนกว่า 40 ล้านบาท จากนั้นได้นำตัวผู้ต้องหา ทั้งหมดส่งพนักงานสอบสวน สภ.แสนภูดาษ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

พ.ต.อ.บุญลือ กล่าวว่า ผู้ต้องหาให้การว่าทำมาแล้วประมาณ 1 ปี โดยใช้วิธีการเดียวกัน ตำรวจเชื่อว่ามีรถที่ถูกฟอกมาแล้วไม่ต่ำกว่า 50 คัน ทั้งนี้ตำรวจจะประสานกับกรมการขนส่งทางบกให้คัดกรองรถที่มีความเสี่ยงออกมา จากนั้นจะดำเนินการตรวจสอบทางทะเบียนและผู้ครอบครองเพื่อดำเนินการต่อไป ฝากไปถึงผู้ซื้อรถจะสังเกตได้อย่างไรว่าจะถูกหลอกขายรถยนต์หรือไม่ให้สังเกตได้จากเล่มทะเบียนรถที่มีการระบุว่า ออกแทนเล่มสูญหาย ซึ่งรถที่ได้มาจากวิธีการไม่ถูกต้องจะไม่มีเล่มทะเบียนจริง ฉะนั้น ควรตรวจสอบให้ลึกลงไปว่าทำไมถึงไม่มีเล่มทะเบียนจริง และให้ตรวจเช็คที่หน้า 18 โดยรถยนต์ที่ถูกขโมยมาส่วนใหญ่จะมีการขอเปลี่ยนย้ายจังหวัด

พ.ต.อ.บุญลือ กล่าวว่า มิจฉาชีพมีลักษณะการทำงานและรูปแบบที่ซับซ้อนขึ้น ผู้ประกอบการให้เช่า รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ ตลอดจนประชาชนผู้ครอบครองรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ต้องใช้ความระมัดระวัง ในการทำสัญญาเช่าหรือขาย ต้องทำการตรวจสอบบัตรประจำตัวประชาชนและความถูกต้องของคู่สัญญาให้ถี่ถ้วน ประกอบกับการสอบถามลักษณะและเงื่อนไขการใช้งานรถยนต์หรือรถจักรยายนต์ว่าใช้ในเขตพื้นที่ใดบ้างตาม ระยะเวลาและเงื่อนไขที่เหมาะสม ทั้งผู้ให้เช่าและผู้เช่า และขอย้ำเตือนบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีลักษณะเป็นการ เอาเปรียบและกระทำความผิดในการเช่า ซื้อ หรือจำนำรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ผิดกฎหมาย การโอนย้ายหรือ ขอทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์โดยใช้เอกสารปลอม หรือแก้ไขหมายเลขเครื่องยนต์ ซึ่งมีโทษสูงสุดถึง 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท

RELATED ARTICLES