สถานีนำร่อง

ยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในเรื่องการควบคุมตัวผู้ต้องหาให้มีมาตรฐานเป็นสากล

พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานเปิดตัวโครงการ “สถานีตำรวจนำร่อง”  พร้อม น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  นายพิทยา จินาวัฒน์  ที่ปรึกษาประจำสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ ที่ปรึกษาประจำสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  Mr. David Thomas Deputy อุปทูตสหราชอาณาจักร ประจำประเทศไทย   Mr.David Lawes ที่ปรึกษากระทรวงมหาดไทย สหราชอาณาจักร   Ms.Leanne Moorhouse ผู้เชี่ยวชาญด้านกล้องติดตัว จาก Devon & Cornwall Police สหราชอาณาจักร   Mr.Seamus Weightman เจ้าหน้าที่หัวหน้าส่วนคุมขัง จาก Northumbria Police สหราชอาณาจักร  พล.ต.ต.พงษ์สยาม มีขันทอง รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว  พล.ต.ต.ชรินทร์ โกพัฒน์ตา รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต.ธนู พวงมณี ผู้บังคับการกองยุทธศาสตร์ สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ พ.ต.อ.ธรา แปงเครื่อง รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 และ พ.ต.อ.ศิริชาติ จันทร์พรมมา ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน

เกิดจากการริเริ่มของ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มอบหมายให้จเรตำรวจแห่งชาติ ดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสหราชอาณาจักร นำแนวทางการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best practice) และบทเรียน (Lesson learned) เกี่ยวกับการควบคุมผู้ต้องหาจากสหราชอาณาจักรมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับกฎหมายและบริบทของประเทศไทย

มุ่งเน้นการคุ้มครองผู้ต้องหาให้ปลอดภัยจากการ “ซ้อมทรมาน” และป้องกันมิให้เกิดการเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัว เพื่อให้การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ปี 2565 และส่งเสริมความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจในเรื่องชีวิต ร่างกาย และวิธีการปฏิบัติ

ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นความมุ่งมั่นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและสหราชอาณาจักร ที่จะพัฒนาการควบคุมตัวผู้ต้องหาให้มีความปลอดภัย โดยแนวทางการปฏิบัติที่พัฒนาขึ้นนั้นต้องสามารถนำมาปฏิบัติได้จริง และเป็นผลดีต่อทั้งผู้ต้องหาและเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติ

ดังนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน และสถานีตำรวจภูธรเมืองจันทบุรี ไปรับการฝึกอบรมจาก กองบัญชาการตำรวจนอร์ทัมเบรีย ณ สหราชอาณาจักร และยังได้เชิญผู้เชี่ยวชาญประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยจากสหราชอาณาจักร มาให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด

นำแนวทางปฏิบัติมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทยให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ ใช้หลัก Change by Design” มาพัฒนาแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการควบคุมตัวผู้ต้องหา เน้นการออกแบบเชิงระบบ

เริ่มจากการปรับปรุงโครงสร้างห้องควบคุมให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย มีกล้องวงจรปิดบันทึกเหตุการณ์ตลอดเวลา และการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกขั้นตอนต้องเกิดขึ้นในพื้นที่ห้องขัง

นอกจากนี้ ยังพัฒนากระบวนการควบคุมตัวผู้ต้องหาให้มีความปลอดภัยและโปร่งใส ประเมินความเสี่ยงต่างๆ รวมถึงสภาพความพร้อมด้านสุขภาพร่างกายและจิตใจของผู้ต้องหาในการถูกควบคุมตัว

จัดทำบันทึกควบคุมตัวโดยละเอียด มีการบันทึกทรัพย์สินส่วนบุคคล และการตรวจสอบการควบคุมตัวโดยผู้บังคับบัญชา

ทุกขั้นตอนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นจะถูกบันทึกลงในบันทึกการควบคุมตัวผู้ต้องหาเพื่อสร้างกระบวนการที่โปร่งใสสามารถตรวจสอบได้

เป้าหมายสูงสุดของโครงการ “สถานีตำรวจนำร่อง” คือ การป้องกันมิให้เกิดการซ้อมทรมานและการเสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัว  

พวกเขาเชื่อว่า จะเป็นประโยชน์อย่างมากในกรณีที่ผู้ต้องหานั้นมีโรคประจำตัวที่อาจส่งผลต่อชีวิต มีอาการบาดเจ็บ หรือมีประวัติการเสพยาเสพติดที่อาจนำไปสู่อาการต้องการเสพยาขั้นรุนแรง

เจ้าหน้าที่ประจำห้องขังสามารถตัดสินใจได้ว่ามีความจำเป็นต้องส่งต่อผู้ต้องหาไปยังโรงพยาบาลหรือไม่

แนวทางปฏิบัตินี้ได้ถูกนำมาปฏิบัติและพิสูจน์ว่าเกิดประสิทธิภาพในการช่วยชีวิตผู้ต้องหาได้จริงในสถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน และ สถานีตำรวจภูธรเมืองจันทบุรี

ก่อนที่จะนำไปใช้ในทุกสถานีตำรวจทั่วประเทศ

 

 

RELATED ARTICLES